สารพันปัญหา ปฏิรูป ‘สายรถเมล์’ ไทย

สำหรับผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ…ไม่ว่าเป็นคนกรุงแต่กำเนิด คนต่างจังหวัดมาเรียน มาทำงาน สร้างอาชีพ มาสร้างครอบครัว คงน้อยมากที่จะมีใครไม่เคยใช้บริการ ‘รถเมล์’ ระบบขนส่งมวลชนสุดคลาสสิกอยู่คู่คนกรุงมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าทั้ง ขสมก. หรือ รถร่วมบริการ ต่างก็นำพาผู้คนจำนวนมากเดินทางไปสู่จุดหมายทั่วทุกมุมเมือง

วันหนึ่งรถเมล์ที่คนกรุงใช้บริการกันมาเกือบครึ่งชีวิตของแต่ละคน เกิดการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าถ้าความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับคุณภาพของรถที่ดีขึ้น น่าใช้ ปลอดภัย แอร์เย็นสบาย รวมถึงการให้บริการอย่างเป็นมิตร สิ่งนี้อาจสร้างความสุข และรอยยิ้มตลอดการเดินทางในเมืองได้ไม่น้อย ซึ่งประเด็นพวกนี้เราก็ได้เห็นรถเมล์ยุคนี้กำลังค่อย ๆ พัฒนาไปสู่จุดนั้น

แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลง กลับนำไปสู่ความสับสน ก็คงไม่แปลกที่ระบบขนส่งดั้งเดิมของคนกรุง จะถูกตั้งคำถาม ?

ถ้าวันนี้ ‘เลขสายรถเมล์’ ที่เราคุ้นเคย จดจำกันได้แม่น เปลี่ยนมาเป็นตัวเลข หรือ ผสมตัวอักษรแบบนี้… 1-22E, 1-80E, 3-55, 4-71, 2-38, 2-46, 3-8, 3-15 คุณคิดว่าชีวิตการเดินทางในเมืองใหญ่ จะง่ายขึ้น หรือ โกลาหล ยุ่งยากกว่าเดิม ?

นั่นเป็นตัวเลขสายรถเมล์ แค่บางส่วน บางเส้นทางที่หยิบมาเป็นตัวอย่าง กับความพยายามของ กรมการขนส่งทางบก ที่หวังปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ ทั้งการกำหนดเส้นทางใหม่ ปรับปรุงบางเส้นทาง พร้อมทั้งกำหนดเลขสายขึ้นมาใหม่ เพื่อจุดประสงค์การแบ่งโซนให้ชัดเจนขึ้น “ผู้โดยสารจะได้รู้ว่ารถเมล์แต่ละสาย มีต้นทางอยู่ในพื้นที่ใด ถนนสายใด”

‘เลขสายรถเมล์’ เจ้าปัญหา…เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนอีก

ความหวังดีกับการปฏิรูปสายรถเมล์ที่รัฐคาดหวัง มาพร้อมเสียงวิจารณ์อย่างหนัก จนกลายเป็นปัญหาที่ประชาชน คนใช้บริการ ต้องเผชิญตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ (2 ก.พ. 67) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้ากระทรวงคมนาคม สั่งปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์อีกครั้ง โดยให้ นำขีดกลาง (-) ออก และต่อท้ายด้วยวงเล็บเลขสายเดิม เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เช่น

  • สายเดิม 510 มีการปฏิรูปเป็น 1-19 จากนั้นเปลี่ยนเป็น 119 (510 เดิม)

  • สายเดิม 522 มีการปฏิรูปเป็น 1-22E จากนั้นเปลี่ยนเป็น 122E (522 เดิม)

การเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ ย้อนกลับไปในวันที่ 5 ม.ค. 67 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เปลี่ยนเลขสาย และเส้นทางรถเมล์ใหม่ จำนวน 36 สาย เพื่อให้เป็นไปตามเส้นทางปฏิรูป ตามคำสั่งของกรมการขนส่งทางบก มาแล้วเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการ ก่อเกิดความสับสน เพราะประชาชนไม่ได้ทราบการประชาสัมพันธ์มาก่อน แม้ กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ออกมาขอโทษประชาชนต่อกรณีที่ทำให้เกิดความสับสนกับหมายเลขรถเมล์ แต่ก็ยังยืนยันว่า จำเป็นต้องทำตามแผนปฏิรูปรถเมล์ ซึ่ง ขสมก. ได้ใบอนุญาตประกอบการเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก 107 เส้นทาง ดังนั้นหลังจากนี้จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ

ตามมาด้วยการออกแถลงการณ์จาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ในวันเดียวกัน (5 ม.ค. 67) เรียกร้องให้ยกเลิก การแจ้งเลขสายรถเมล์แบบใหม่ และจะมีมติส่งหนังสือถึง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกเลิกการเปลี่ยนสายรถเมล์แบบใหม่ต่อไป

แต่ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่เห็น…การยกเลิกเปลี่ยนสายรถเมล์ใหม่ยังทำไม่สำเร็จ

เปลี่ยนเลขสายรถเมล์ เพื่อประโยชน์ต่อทุกคน ?

แรกเริ่มเดิมที เลขสายรถเมล์ไม่ได้มีหลักเกณฑ์การตั้งใด ๆ ซึ่งผู้ใช้บริการก็สามารถจำเลขรถเมล์ได้เป็นปกติ แม้ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ในการช่วยจำก็ตาม

จนกระทั่งมีแนวคิดการปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ ตามแผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งศึกษาโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งแต่ปี 2560 และผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชน จนได้ข้อสรุปออกมา โดยใช้หลักการแบ่งตามการเดินรถเมล์ของจุดต้น ตามทิศของกรุงเทพฯ ซึ่งคือ เลขแรกเป็นเลขโซน คั่นด้วยขีด (-) และเลขหลังเป็นเลขสาย แบ่งพื้นที่ของกรุงเทพฯ ออกเป็น 4 โซน ได้แก่

  • โซนที่ 1 ทิศเหนือ (กรุงเทพฯ โซนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนพหลโยธิน) ตั้งแต่ 1-1 ถึง 1-80E (รวม 80 สาย)

  • โซนที่ 2 ทิศตะวันตก (กรุงเทพฯ ชั้นในและโซนตะวันตกเฉียงเหนือ) ตั้งแต่ 2-1 ถึง 2-55 (รวม 55 สาย)

  • โซนที่ 3 ทิศตะวันออก (กรุงเทพฯ โซนตะวันออกเฉียงใต้ ถนนสุขุมวิท) ตั้งแต่ 3-1 ถึง 3-55 (รวม 55 สาย)

  • โซนที่ 4 ทิศใต้ (กรุงเทพฯ โซนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ถนนเพชรเกษม) ตั้งแต่ 4-1 ถึง 4-71 (รวม 71 สาย)
การแบ่งเลขสายรถเมล์ออกเป็น 4 โซนตามกรมการขนส่งทางบก
(ที่มา กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News)

นอกจากนี้ยังมี

  • สาย 5 เส้นทางวงกลมอื่น ๆ ตั้งแต่ 5-1 ถึง 5-3 (รวม 3 สาย)

  • สาย A เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่ A1 ถึง A4 (รวม 4 สาย)

  • สาย S เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ S1 ถึง S8 (รวม 8 สาย)

รวมทั้งหมด 276 เส้นทาง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงเลขสายรถเมล์ครั้งแรกช่วงเดือน มิถุนายน 2565 จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ว่า การปฏิรูปสายรถเมล์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบว่า รถเมล์แต่ละสายมีต้นทางอยู่ในพื้นที่ใด ถนนสายใด ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยใช้รถเมล์หรือนักท่องเที่ยวก็ตาม นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ ขสมก. และรถเอกชน ใส่เลขสายเดิมควบคู่กับเลขสายใหม่กำกับไว้หน้ารถอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ประชาชนเกิดความคุ้นเคย

แต่จนแล้วจนรอด กระบวนการเปลี่ยนเลขสายรถเมล์นี้ ก็ปรับแค่การตัดขีดกลาง (-) ออก ตามที่ รมว.คมนาคม สั่งการ

สับสน – จำเยอะ – เลขซ้ำ – การแบ่งโซนยังมีปัญหา

แน่นอนว่าการเปลี่ยนสายรถเมล์ไม่ได้นำมาสู่แค่ความมึนงงของผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการจดจำตัวเลขสายใหม่ ซึ่งพบปัญหา ‘เลขสายใหม่’ ซ้ำกับ ‘เลขสายเก่า’ ด้วย

โดยพบว่า วิธีการปฏิรูปเลขรถเมล์ แบบมีขีดกลาง (-) จะทำให้ผู้ใช้งานต้องจำเลขสายรถเมล์ใหม่ทั้งหมด 276 สาย ในขณะที่วิธีปฏิรูปเลขรถเมล์ แบบตัดขีดกลาง (-) ออก นอกจากจะต้องจำเลขใหม่แล้ว ยังส่งผลให้มีเลขซ้ำกับเลขสายที่มีอยู่แล้วด้วย เช่น

  • สาย 29 (บางเขน-วิภาวดี-หัวลำโพง) ปฏิรูปเป็น 1-1 จากนั้นเปลี่ยนเป็น 11 ซึ่งซ้ำกับเลขสาย 11 เดิม (สวนหลวง ร.9-สนามกีฬาแห่งชาติ)

  • สาย 11 (สวนหลวง ร.9-สนามกีฬาแห่งชาติ) ปฏิรูปเป็น 3-3 จากนั้นเปลี่ยนเป็น 33 ซึ่งซ้ำกับเลขสาย 33 เดิม (ปทุมธานี-เทเวศน์)

มีเพียงสาย 38 เท่านั้นที่ไม่เปลี่ยนไป เพราะปฏิรูปเป็น 3-8 จากนั้นเปลี่ยนเป็น 38 ซึ่งบังเอิญได้เป็นเลขเดิมอย่างพอดิบพอดี

ดังนั้น วิธีการปฏิรูปเลขสายรถเมล์ใหม่ล่าสุด จะมีเลขสายซ้ำเดิม ทั้งหมด 118 สาย (The Active สรุปข้อมูล)

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการแบ่งเลขโซน โดยผู้ใช้งาน X (เดิม Twitter) ชื่อ BKK BUS Photographer (@bkk_bus) ชี้ให้เห็นว่า การแบ่งโซนพื้นที่รถเมล์ยังมีปัญหา เช่น

  • บางสายมีจุดเริ่มต้น และสิ้นสุดที่เดียวกัน แต่มีเลขโซนคนละเลข เช่น สาย 52 (เลขใหม่ 1-6 หรือ 16 อยู่โซนที่ 1) และสาย 104 (เลขใหม่ 2-16 หรือ 216 อยู่โซนที่ 2) เป็นเส้นทางปากเกร็ด-หมอชิต 2 เหมือนกัน แต่มีเลขโซนอยู่คนละโซน

  • บางสายวิ่งไม่ใกล้เคียงกัน แต่มีเลขโซนเดียวกัน เช่น สาย 73ก (เลขใหม่ 2-46 หรือ 246 อยู่โซนที่ 2) สวนสยาม-สนามกีฬาแห่งชาติ และสาย 2-36 (เลขใหม่ 236 อยู่โซนที่ 2) ไทรน้อย-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กลับอยู่โซนที่ 2 เหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่เส้นทางการวิ่งไม่ได้ใกล้กันเลย

ปฏิรูปสายรถเมล์ ในมุมคนใช้บริการ

มารุต จันทน์โรจน์ หนึ่งในผู้ดูแลเพจ Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ โพสต์ข้อความใน Facebook กล่าวถึงปัญหาการปฏิรูปเลขสายรถเมล์ในปัจจุบัน ว่า อ่านชื่อสายยาก ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้งานจำได้ รวมไปถึงการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน เขามองว่ามีความหยาบ และไม่ได้อิงตามพื้นที่ จึงอาจสรุปได้ว่า “ล้มเหลวในการใช้เลขรูปแบบนี้อย่างแน่นอน”

ถ้าการเปลี่ยนแปลงมันควบคู่กับการทำให้คนเดือดร้อนในการใช้งานน้อยที่สุด เราจะได้ไปโฟกัสกับเรื่องเส้นทางที่สร้างโอกาสหรืออาจจะทิ้งใครให้เดือดร้อนบ้าง จะได้ไปโฟกัสแก้ตรงนั้นไป ไม่ใช่ถูกเลขสายประหลาด ๆ กลบไปเสียหมด

มารุต จันทน์โรจน์

นอกจากการชี้ให้เห็นปัญหา มารุต ยังเสนอวิธีการปฏิรูปเลขสายรถเมล์ ทั้งหมด 4 วิธี ประกอบด้วย

1. ใช้เลขสายแบบเดิม ถ้าเป็นเส้นทางใหม่ ให้รันต่อจากเลขเดิมหรือแทรกเลขที่ขาด

  • ตัวอย่าง : สาย 2 กับ 2E / สาย 7 กับ 7A
  • ข้อดี : ผู้โดยสารคุ้นเคยกับเลขเดิมมากที่สุด
  • ข้อเสีย : อาจสับสนระหว่างรถข้างล่าง-รถทางด่วน รถทางหลัก-รถทางเสริม ที่เป็นการใช้เลขเดียวกันแต่เติมอักษรท้าย เช่น 2 กับ 2E

2. ใช้เลขสายเก่าในบางสาย ถ้าเลขซ้ำให้ใช้เลขใหม่ ลำดับเลขสายจากเลขแรกถึงเลขสุดท้าย

  • ตัวอย่าง : สาย 7 และ 41 (เปลี่ยนชื่อจากเดิม 7ก เพื่อลดความสับสน)
  • ข้อดี : เลขสายไม่ซ้ำกันและส่วนมากยังเป็นเลขสายเดิม ช่วยลดการสับสน เช่น 7 กับ 41
  • ข้อเสีย : ผู้โดยสารอาจจะต้องจำเลขสายที่เปลี่ยนมากขึ้น

3. รวมข้อดีของวิธีที่ 1 และ 2 ใช้เลขเก่าได้แต่ต้องไม่ซ้ำ ถ้าซ้ำให้ใช้เลขใหม่

  • ข้อดี : ผู้โดยสารจำเลขสายใหม่น้อยกว่าวิธี 2 (เพราะสัดส่วนเลขสายเก่ามีมากกว่าวิธี 2) และเลขสายไม่ซ้ำกัน ลดการสับสน
  • ข้อเสีย : ผู้โดยสารอาจจะต้องจำเลขสายที่เปลี่ยนมากขึ้น (มากกว่าวิธีที่ 1 แต่น้อยกว่าวิธีที่ 2)

4. กรณีแบ่งตามโซน มีการทำโซนอย่างละเอียด และใช้เลข 2 หลักหน้าบอกโซน (ซึ่งละเอียดกว่าการแบ่ง 4 โซนตามวิธี ขสมก. ปัจจุบัน)

  • ตัวอย่าง : รถที่มีต้นทางอยู่อู่บรมฯ ที่จะเข้าถนนเพชรเกษมหรือมาจากช่วงกลางของถนนเพชรเกษม ใช้เลขสาย 60X
  • ข้อดี : การอ่านโซนเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสารรถเมล์หน้าใหม่
  • ข้อเสีย : ผู้โดยสารต้องจำเลขสายใหม่ทั้งหมด และบางตัวเลขจะซ้ำกับเลขเก่าที่เคยมีอยู่แล้ว กระทบในช่วงเปลี่ยนผ่าน

The Active จึง สรุปจากวิธีที่มารุต เสนอ พบว่า

  • วิธีที่ 1 (ใช้เลขสายแบบเดิม) จะมีเลขใหม่ที่ต้องจำเพิ่ม 118 สาย

  • วิธีที่ 2 (เลขซ้ำให้ใช้เลขใหม่) จะมีเลขใหม่ที่ต้องจำเพิ่ม 145 สาย

  • วิธีที่ 3 (รวมข้อดีของวิธีที่ 1 และ 2) จะมีเลขใหม่ที่ต้องจำเพิ่ม 125 สาย

  • วิธีที่ 4 (แบ่งตามโซน) จะมีเลขสายใหม่ที่ต้องจำเพิ่ม 276 สาย

โดยสรุปวิธีที่ทำให้คนจำเลขใหม่เรียงตามลำดับจากน้อยไปมาได้ ดังนี้

  • วิธีที่ 1 – ใช้เลขสายเดิม (จำใหม่ 118 สาย หรือ 42.75%)

  • วิธีที่ 3 – รวมข้อดีของวิธีที่ 1 และ 2 (จำใหม่ 125 สาย หรือ 45.29%)

  • วิธีที่ 2 – เลขซ้ำให้ใช้เลขใหม่ (จำใหม่ 145 สาย หรือ 52.54%)

  • วิธีปฏิรูปปัจจุบัน (จำใหม่ 270 สาย หรือ 97.83%)

  • วิธีที่ 4 – แบ่งตามโซน และวิธีปฏิรูปปัจจุบัน (จำใหม่ 276 สาย หรือ 100%)

ไม่ว่าจะใช้วิธีปฏิรูปเลขสายแบบไหน ประชาชนก็จะต้องจดจำสายรถเมล์เพิ่มเติมอยู่ดี ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องจำเพิ่มมากหรือน้อย สิ่งนี้นำมาสู่การตั้งคำถามว่า…เราจำเป็นต้องปฏิรูปเลขสายรถเมล์จริงหรือไม่ ?

แล้วถ้าต้องปฏิรูปกันจริง ๆ จะใช้วิธีการใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ? รวมไปถึง วิธีการในแบบปัจจุบันที่แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซนนั้น เพียงพอแล้วหรือยัง ? ที่จะบรรลุตามตามวัตถุประสงค์ “ผู้โดยสารรู้ว่ารถเมล์แต่ละสายมีต้นทางอยู่ในพื้นที่ใด ถนนสายใด”


สรุปข้อมูลข้อเสนอวิธีการปฏิรูปสายรถเมล์โดย มารุต จันทร์โรจน์ และ ข้อมูลเลขสายรถเมล์ซ้ำ : LINK

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่