“ดับไฟป่า งานเสี่ยงขนาดนี้ ทำไมถึงทำ ?”
คำถามที่อยู่ในใจ หลังเห็นอาสา เจ้าหน้าที่ “ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ” เผชิญเพลิง
ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความมั่นคง หรือการเติมเต็มชีวิต… ไม่ว่าเหตุผลของการรับงานนี้จะอยู่บนเงื่อนไขใด The Active เคยร่วมติดตามภารกิจ “การดับไฟป่า” จึงรู้ว่างานนี้เป็นภารกิจใหญ่
ก่อนจะถึงฤดูกาลหมอกควันภาคเหนือในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และพวกเขาเหล่านี้จะต้องกลับเข้าป่าและเสี่ยงอีกครั้ง The Active นำเบื้องหลังการปฏิบัติภารกิจของเหยี่ยวไฟบางส่วนมาเปิดเผยที่นี่ กับโจทย์ใหญ่ที่ชวนสงสัย ว่าหนทางที่เรากำลังเดินไป ถูกทางหรือไม่
องศาในฤดูร้อน ทำให้ป่าไม้แถบภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณเริ่มผลัดใบ ใบไม้แห้งเกลื่อนทั่วผืนป่า คือ เชื้อเพลิงอย่างดี และที่นี่คือจุดเริ่มต้นแหล่งใหญ่ของปัญหาหมอกควันภาคเหนือ
ไฟป่า คือ ไฟที่ไม่มีการควบคุม และส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ คือ ด่านหน้า ที่ต้องเข้าดับไฟให้เร็วที่สุด ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ภายใต้สังกัดกรมป่าไม้
ต้นปี 2563 The Active ร่วมติดตามภารกิจเหยี่ยวไฟ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่ติดอันดับต้น ๆ ของการเกิดไฟป่า
ทุกวัน… ข้อมูลจากฐานปฏิบัติการจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลแจ้งพิกัดความร้อนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จะคอยส่งสัญญาณบอกพิกัดความร้อนให้แต่ละหน่วยเข้าพื้นที่ดับไฟให้เร็วที่สุด
พิกัดความร้อนจะสามารถระบุได้คร่าว ๆ ว่ามีไฟป่าเกิดขึ้นที่ไหน แต่การหาต้นเพลิง เหยี่ยวไฟต้องเดินเท้าต่อ
เหยี่ยวไฟต้องพกพาอุปกรณ์ในการดับไฟให้พร้อม มีไม้กวาด เครื่องเป่าลม และอาหารง่ายๆ ห่อด้วยถุงพลาสติก เมื่อทุกอย่างถูกยัดใส่กระเป๋า พวกเขาก็มุ่งหน้าเดินขึ้นเขา
ฝีเท้าที่ดูเหมือนจะเร่งรีบ แต่กลับไม่สามารถทำเวลาได้มากนัก เพราะเขาไม่มีทางเดิน และเส้นทางไม่ใช่แบบเดียวกับที่นักท่องเที่ยวเดินป่านิยมไป ในช่วงวันหยุดพักร้อน บางจุดสูงชัน บางจุดเดินเทียบริมผา ทุกก้าว หากพลาด อาจถึงชีวิต แต่ละปีมีเจ้าหน้าที่อาสาดับไฟป่า บาดเจ็บ เสียชีวิตจากการลื่นพลัดตกเขาอยู่บ่อย ๆ
ผ่านไปค่อนวัน เดินขึ้นลงเขามาแล้ว 3 ลูก เราและเหยี่ยวไฟยังเข้าไม่ถึงเพลิง แต่บรรยากาศรอบ ๆ ป่า อบอวลไปด้วยควันไฟ เราสวมหน้ากาก N95 แต่บางจุด แม้ควันจะหนาแน่นโอบล้อมตัวเรา ก็ต้องจำใจปลดหน้ากาก ยอมสูดหมอกควันเข้าเต็มปอด เพราะทนหายใจภายใต้หน้ากากต่อไปไม่ไหว
ขณะที่เหยี่ยวไฟทุกคน ไม่มีใครใช้หน้ากากประเภทนี้ มีเพียงผ้าเช็ดหน้าผืนบาง ๆ หรือผ้าบัฟ (ผ้าเอนกประสงค์) ปิดหน้าปิดตามิดชิด พวกเขารู้ดีว่า ผ้าชนิดนี้บางเกินไปที่จะปกป้องพวกเขาจากหมอกควัน
ช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันนั้น เราเข้าถึงเพลิง แต่กว่าจะมาถึงก็ลุกลามเป็นวงกว้างแล้ว ไฟป่าในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นไฟผิวดิน ยอดไฟไม่สูง ไม่รุนแรงเหมือนไฟเรือนยอด หรือไฟแบบเดียวกับที่ไหม้ป่าแอมะซอน พวกเขาเผชิญหน้าตามแบบที่เคยได้ฝึกมา แยกใบไม้ออกจากกันให้เร็วที่สุด เครื่องเป่าลมและไม้กวาดทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่เครื่องเป่าลมจะเร็วกว่า เครื่องเป่าลม 1 เครื่อง เทียบเท่ากำลังคน 3 คน
การเผชิญเพลิงบนเขาที่สูงชัน หากเจอกับกระแสลมแรง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เจ้าหน้าที่บางคน ถูกไฟล้อมเนื่องจากกระแสลมตีกลับ การตัดสินใจวิ่งฝ่าไฟ คือ หนทางเดียวเพื่อเอาชีวิตรอด และแน่นอนพวกเขาได้รับบาดเจ็บ
อาสาดับไฟป่าบางคน ไม่มีโอกาสรอดชีวิตกลับมา เฉพาะต้นปี 2563 มีอาสาดับไฟป่าเสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 12 คน
- อ่านเพิ่ม ไฟป่าเหนือ คร่า 3 ชีวิต
เหยี่ยวไฟ เป็นเพียงพนักงานสัญญาจ้างปีต่อปี ไม่มีสวัสดิการ ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท เพิ่งได้รับประกันภัยกลุ่ม จากเงินบริจาคของภาคประชาชน เอกชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ แต่เป็นการคุ้มครองเพียงระยะสั้นหนึ่งปีเท่านั้น
ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรืออาสาดับไฟป่า จะได้รับการดูแลด้านสวัสดิการดีขึ้น ทุ่มเทสรรพกำลัง ทรัพยากรให้มีความพร้อมมากแค่ไหน การดับไฟก็ยังเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ตราบใดที่ต้นเหตุ “ต้นเพลิง” ไม่ได้รับการแก้ไข
การจัดการเชื้อเพลิง จึงเป็นวิถีทาง ที่คนในพื้นที่ทุกภาคส่วนระดมช่วยกันอย่างเต็มที่ ในเวลานี้ ชาวบ้านปิดป่า ทำแนวกันไฟ ใบไม้หรือเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่สะดวกแก่การขนย้าย นำมาอัดแท่งขายให้โรงงานสร้างรายได้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังสนับสนุนเครื่องมืออัดแท่งใบไม้ และมอบเป็นนโยบายหลักลดการเผาในปีนี้ ส่วนพื้นที่สูงชัน ที่จำเป็นต้องใช้ไฟ ก็อนุโลมตามบริบทของพื้นที่ รวมถึงมีนวัตกรรม เทคโนโลยีอื่น ๆ จากหลายหน่วยงานร่วมบริหารพื้นที่ จัดการเชื้อเพลิงตามสภาพอากาศ
ทั้งหมดนี้ คือ วิธีการแแก้ปัญหาในปีนี้ เน้นสอดรับวิถีชีวิตและบริบทของพื้นที่ รับฟังเสียงจากทุกฝ่าย และทุกภาคส่วนไม่เคยหยุดคิด หยุดทำ เดินสู่เป้าหมายหนึ่งเดียว คืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับทุกคน