ยุคสมัยที่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกนำโดย คนรุ่นใหม่ ทั้ง นิสิต นักศึกษา หรือแม้แต่การนำโดย “กลุ่มนักเรียน”
เมื่อมีการนัดหมายชุมนุมใหญ่ ของกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในวันที่ 19 ก.ย. นี้ นัยหนึ่ง คือ วันครบรอบ 14 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่หลายคนมองว่า เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรรัฐประหารในครั้งถัดมา คือ การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557
พวกเขาใช้ชื่อกิจกรรมว่า “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร”
มีการคาดการณ์ว่า มวลชนกลุ่มหลักที่จะเข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน นักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองรุ่นพี่ กลุ่มคนที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลและเห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มแนวร่วมฯ กลุ่มคนเสื้อแดงในอดีต รวมถึงกลุ่มผู้ปกครองที่เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูกหลาน
และมีการประเมินว่า “กลุ่มนักเรียน” จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าการชุมนุมครั้งก่อน ๆ หากดูจากการชุมนุมของ “ม็อบนักเรียนเลว” หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่มีการดีเบตกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา
คุณครูยุคนี้ต้องทำอย่างไร?
ไหน ๆ ก็ไม่สามารถห้ามนักเรียนไปร่วมชุมนุมได้ ในฐานะ “คุณครู” ในกระบวนการเรียนรู้ของศตวรรษที่ 21
กลุ่ม “ครูขอสอน” เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประชาธิปไตยทั้งในและนอกห้องเรียน ครูกลุ่มเล็ก ๆ จึงมอบการบ้านให้นักเรียน และครูบางส่วนก็พร้อมจะร่วมการชุมนุมด้วย เพื่อร่วมสังเกตการณ์ คอยให้คำแนะนำ และดูแลความปลอดภัยให้กับเด็ก ๆ
ครูขอสอน คือใคร?
พวกเขา คือ กลุ่มครูที่อยากเห็นการศึกษาไทยพัฒนา โดยชวนให้สังคมลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบการศึกษา เพื่อสร้างการศึกษาในแบบที่ควรจะเป็น
พวกเขา เน้นการเรียนรู้ มากกว่าการสอนสั่ง ด้วยหลักคิดตั้งต้น 3 ข้อ
- รวบรวมปัญหาและข้อมูล ด้วยการเก็บรวบรวมจากเพื่อนครู นักเรียน ผู้ปกครอง และคนทั่วไป เพื่อนำมาวิเคราะห์และหาทางออก
- พื้นที่ระดมความคิดหาทางออก โดยเป็นพื้นที่ให้คนที่อยากเปลี่ยนแปลงการศึกษามาคิดหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน
- สร้างเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อร่วมกันส่งเสียง สะท้อนปัญหา สู่การคิดเสนอทางออก
“เราจะไม่หยุดเคลื่อนไหวจนกว่าครูจะได้ทำหน้าที่สอนและพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง”
เมื่อครูชวนนักเรียนเรียนรู้ผ่านการไปม็อบ
ครูขอสอน เริ่มต้นจากวงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ข้อ
- ประสบการณ์รูปธรรม (Concrete Experience) เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติกิจกรรม
- การสะท้อนประสบการณ์จากกิจกรรม และอภิปราย (Reflective Observation and Discussion) หรือ Reflect เป็นขั้นที่นักเรียนแสดงความคิดเห็น และความรู้สึกของตนเองจากประสบการณ์ในการปฏิบัติกิจกรรมและแลกเปลี่ยนกับเพื่อน
- การสรุปความคิดรวบยอด หลักการ องค์ความรู้ (Abstract Conceptualization) เป็นขั้นที่ผู้เรียนร่วมกันสรุปข้อมูล ความคิดเห็น ที่ได้จากการสะท้อนความคิดเห็น และอภิปรายในขั้นที่ 2 ในขั้นนี้ ครูอาจใช้คำถามกระตุ้นผู้เรียนให้ช่วยกันสรุปข้อคิดเห็น
- การทดลอง/ประยุกต์ใช้ความรู้ (Active Experimentation / application) ในขั้นนี้ ผู้เรียนจะต้องนำความคิดรวบยอด องค์ความรู้ หรือข้อสรุปที่ได้จากขั้นตอนที่ 3 ไปทดลอง ประยุกต์ใช้
สำหรับประเด็นการเรียนรู้ที่มอบเป็นโจทย์ให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่ก็ตาม แต่สามารถติดตามบทบาทเหล่านี้ได้ ผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง
- เรียนรู้บทบาทของการเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen)
- เรียนรู้การแสดงออกถึงสิทธิทางการเมือง และการอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่าง
- เรียนรู้วิธีการ และศิลปะในการนำเสนอประเด็นเรียกร้องต่าง ๆ ด้วยสันติวิธี
- เรียนรู้ประเด็นที่นำเสนอจากการปราศรัย
- เรียนรู้วิธีการพูดปราศรัยของแกนนำ
- เรียนรู้วิธีคิดของผู้คน
- เรียนรู้การเตรียมตัวไปร่วมกิจกรรม สภาพร่างกาย จิตใจ อุปกรณ์ และการวางแผนหากเกิดกรณีฉุกเฉิน
คำถามชวนคิด
หากนักเรียนจะต้องออกแบบกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องสิทธิของตนเอง จะมีรูปแบบและวิธีการดำเนินงานอย่างไร?
ทักษะในศตวรรษที่ 21 กับการชุมนุม
สำหรับ ทักษะการเรียนรู้ที่กลุ่มครูขอสอนเลือกใช้ระหว่างที่มีการเคลื่อนไหวและการชุมนุมทางการเมือง คือ การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศ และดิจิทัล (Media Information Digital Literacy), ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation), การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving) และ การสื่อสารและการร่วมมือ (Communication and Collaboration)
ส่วนเนื้อหาเชิงประเด็นที่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมจากการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในพื้นที่การชุมนุม หรือการหยิบยกประเด็นในสังคม ที่อยู่ในความสนใจของนักเรียนยุคนี้ ให้พวกเขาได้ศึกษา คือ
- แนวสังคมนิยมประชาธิปไตย คืออะไร? แนวคิดมาร์กซ์และรัฐสวัสดิการ?
- เสรีเบียร์ ให้ความรู้เรื่องสุราไทย เสรีสุราไทย
- กิจกรรมละครรำลึก 99 ศพ จากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553
- ความรู้กฎหมายและการมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อเพื่อยื่นเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย โดย iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน
ตัวแทนกลุ่ม “ครูขอสอน” บอกว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ คือ เมื่อนักเรียนต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ที่ไม่มีสอนในหลักสูตรหรือหนังสือเล่มใด อาจนำบทเรียนนี้กลับมาทดลองใช้เป็นกิจกรรมในโรงเรียน กับเพื่อน กับคุณครู หรือหากในอนาคต เกิดปัญหาที่มีข้อโต้แย้งกับคนรอบข้าง หรือมีความเห็นแตกต่าง จะได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอความต้องการของตัวเองและสื่อสารได้อย่างสันติ
บทส่งท้าย
ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตยในห้องเรียน” หรือ “การเรียนรู้ประชาธิปไตยนอกโรงเรียน” สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “การปฏิรูปการศึกษา” ตามความหมายทั้งจากข้อเรียกร้องของนักเรียนหรือความหมายของ ผู้ใหญ่และนักการศึกษา อย่างหลายฝ่ายกำลังพยายามที่จะทำได้หรือไม่? แต่สิ่งที่ยากปฏิเสธก็คือ วิธีคิด วิธีเรียนรู้ วิธีแสดงออกของนักเรียนยุคนี้ นั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แล้วบทบาทของครู ควรเป็นอย่างไร ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายคนกำลังพยายามร่วมหาคำตอบ