- งบประมาณในแผนพัฒนาสภาวะสิ่งแวดล้อมในส่วนที่ใช้นอกพื้นที่ ‘สวนสาธารณะ’ ของ กทม. ส่วนมากใช้ไปกับการทำให้กรุงเทพฯ ดูสวยด้วยการ ‘ปรับภูมิทัศน์’ ตกแต่งเมืองด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ล้มลุก ขณะที่โครงการปลูกต้นไม้ถาวรมักใช้ตัวเลขรวมๆ โฆษณาให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ปลูกต้นไม้เยอะ แต่ที่จริงแล้วส่วนมากไม่ใช่ไม้ใหญ่ยืนต้น
- ต้นไม้ที่ปลูกมาก ทั้งในโครงการยุทธศาสตร์และโครงการในระดับเขต คือ ‘ชาฮกเกี้ยน’ ซึ่งเป็นไม้ประดับทรงพุ่มตัดแต่งที่เรามักเห็นเป็นแนวรั้วตามเกาะกลางถนนหรือฟุตบาท
- Rocket Media Lab ชวนสำรวจ การจัดการ ปลูก บำรุงรักษา ต้นไม้ในกรุงเทพฯ ว่ากรุงเทพฯ มีการจัดการอย่างไร ใช้งบฯ อย่างไร และกรุงเทพฯ ปลูกต้นไม้อะไรบ้าง ทำไมถึงปลูกต้นชาฮกเกี้ยนมากที่สุด และหากกรุงเทพฯ จะปลูกต้นไม้ (นอกสวนสาธารณะ) ควรปลูกต้นอะไรดี
ในอดีตพื้นที่กรุงเทพมหานครเคยอุดมและร่มรื่นไปด้วยต้นไม้หลากชนิด จนเริ่มมีการตั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง ทำให้การย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้ามาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เริ่มมีการตัดต้นไม้เพื่อใช้ประโยชน์ ตั้งแต่ใช้สร้างที่อยู่อาศัยไปจนถึงเพื่อเปิดทางตัดถนน ทำให้ปริมาณต้นไม้ลดลงไปอย่างมาก
ทั้งรัฐบาลกลางและกรุงเทพฯ เองพยายามจะแก้ปัญหาการลดลงของต้นไม้นี้ เช่นในแผนมหาดไทยปี 2517-2519 มีแนวนโยบายให้กรุงเทพฯ ปลูกต้นไม้ปีละ 8,000 ต้น แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเกิดน้ำท่วม แต่ความพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ ก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้เรายังได้เห็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตาเบบูญ่า การเวก หรือสายหยุด จากยุคเชาวน์วัศ สุดลาภา ไปจนถึงพญาสัตบรรณหรือตะแบกจากยุคอภิรักษ์ โกษะโยธิน เรื่อยมาจนถึงยุคของผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มีแนวนโยบายการพัฒนาไปสู่การเป็น ‘มหานครอาเซียน’ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี
หนึ่งในแนวทางนั้นคือการเป็น ‘มหานครสีเขียว’ โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อสัดส่วนประชากรให้ได้ 9 ตร.ม./คน (ณ ช่วงเวลานั้นสัดส่วนอยู่ที่ 6.9 ตร.ม./คน) และประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในระยะ 400-800 เมตรให้เพิ่มขึ้นเป็น 50% (ณ ช่วงเวลานั้นอยู่ที่ 13%) โดยนอกจากการสร้างสวนสาธารณะเพิ่ม ยังรวมถึงการปลูกต้นไม้ในเกาะกลางถนน ฟุตบาท และพื้นที่ว่างต่างๆ
การปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ มาจากโครงการประเภทไหนบ้าง
หากพิจารณาโครงการที่เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ของกรุงเทพฯ จะพบว่าแยกได้เป็น 3 รูปแบบคือ
1) โครงการยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการซื้อต้นตาเบบูญ่า 100,000 ต้น จากสิงคโปร์มาปลูกในสมัยเชาวน์วัศ สุดลาภา หรือ ‘โครงการถนนต้นไม้สายอัตลักษณ์ด้วยพันธุ์ไม้ 9 สายหลัก’ ในยุคผู้ว่าฯ อัศวิน
2) โครงการตามงบประมาณของสำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปี มีทุกปี
3) โครงการตามงบประมาณรายปีของสำนักงานเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต
เมื่อพิจารณาเฉพาะโครงการประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปีที่มีทุกปี สามารถแบ่งตามการใช้งบฯ ได้อีก 3 รูปแบบย่อยคือ
2.1) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวนสาธารณะโดยตรง
2.2) ส่วนนอกสวนสาธารณะ
2.3) ส่วนเบ็ดเตล็ดอื่นๆ
ในส่วนโครงการตามงบประมาณรายปีของสำนักงานเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขตนั้น ก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยมีทั้งการปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้ยืนต้น หรือไม้ประดับ ไ้ม้ล้มลุกต่างๆ ในขณะที่พื้นที่ในการปลูกหรือประดับตกแต่งนั้นก็มีทั้งในสวนสาธารณะและนอกสวนสาธารณะแตกต่างกันไปในแต่ละปีขึ้นอยู่กับเขตเป็นผู้กำหนด
งบประมาณส่วนที่สำคัญที่ทำให้เห็นถึงการปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้ยืนต้นลงดินในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะนอกพื้นที่สวนสาธารณะนั้นมักอยู่ที่โครงการประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สาม คือโครงการยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ และโครงการตามงบประมาณประจำปีของสำนักงานเขตแต่ละเขตมากกว่า
ภายใต้การทำงานของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง จะพบว่ามีโครงการขนาดใหญ่เพื่อปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ กว่า 1 ล้านต้น ภายใต้ชื่อโครงการ ‘โครงการถนนต้นไม้สายอัตลักษณ์ด้วยพันธุ์ไม้ 9 สายหลัก’ ในช่วงปี 2560-2562 โดยจะมีการปลูกต้นไม้สายพันธุ์ต่างๆ ตามถนนสายหลักในกรุงเทพฯ 9 สายด้วยกันคือ สุขุมวิท, ศรีนครินทร์-ร่มเกล้า, วิภาวดีรังสิต, เลียบคลองมดตะนอย, ศรีอยุธยา, รัชดาภิเษก, บรมราชชนนี, มิตรไมตรี และหทัยราษฎร์ ซึ่งใช้งบฯ ใน 5 เส้นทาง 24,904,120 บาท ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า งบฯ 2,297,290 บาท ถนนหทัยราษฎร์ 5,118,185 บาท ในส่วนถนนสุขุมวิทและวิภาวดีรังสิต ไม่ปรากฏงบฯ
โดยกรุงเทพฯ ได้สรุปตัวเลขต้นไม้ที่ปลูกเมื่อจบโครงการแล้วไว้ที่ จำนวน 1,025,943 ต้น แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของโครงการจะพบว่า ‘ต้นไม้’ ที่ปลูกมากที่สุดกว่า 3 แสนต้น ในโครงการนี้ก็คือ ‘ต้นชาฮกเกี้ยน’ โดยปลูกที่ถนนศรีอยุธยา 3,000 ต้น ถนนรัชดาภิเษก 250,350 ต้น ถนนหทัยราษฎร์ 100,500 ต้น และต้นชาฮกเกี้ยนที่ถนนวิภาวดีรังสิตที่ไม่ปรากฏจำนวนที่แน่ชัด (จำนวนรวมกับไทรอังกฤษและเพื่องฟ้าคือ 163,199 ต้น) รวมไปถึงชาฮกเกี้ยนพุ่มกลมอีกจำนวนเล็กน้อยที่ถนนมิตรไมตรี (จำนวนรวมกับกัลปพฤกษ์ ไทรเกาหลี และนีออนพุ่มกลม รวม 160 ต้น) รองลงมาคือไม้ประดับตระกูลไทร ไม่ว่าจะเป็นไทรอังกฤษ ไทรเกาหลี ไทรยอดทอง กว่า 200,000 ต้น และเฟื่องฟ้ากว่า 50,000 ต้น
ชาฮกเกี้ยน หรือชาดัด ชาดัดใบมัน หรือต้นข่อยจีน เป็นไม้ทรงพุ่มที่แตกยอดและโตเร็ว มักปลูกเพื่อตัดแต่งเป็นแนวรั้วหรือทางเดิน พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ทั้งที่ปลูกและตัดแต่งเป็นทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมล้อมต้นไม้ใหญ่ริมฟุตบาท ปลูกเป็นแนวรั้วบนเกาะกลางถนนหรือบนฟุตบาท เป็นที่นิยมเนื่องด้วยทนแล้งและดูแลรักษาง่าย และที่สำคัญราคาถูก (ราคาต่อหน่วย ถุง 3 นิ้ว สูงไม่ต่ำกว่า 30 ซม. อยู่ที่ต้นละ 6 บาท ตามราคากลางของกรุงเทพฯ) โดยในโครงการการปลูกต้นไม้ (นอกพื้นที่สวนสาธารณะ) ระดับเขตนั้น ก็พบว่าต้นชาฮกเกี้ยนเป็นต้นไม้ยอดนิยมอันดับหนึ่งที่หลายเขตเลือกปลูกเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลพบว่า ต้นชาฮกเกี้ยน ต้นไทรพันธุ์ต่างๆ และเฟื่องฟ้า นั้นเป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกในกรุงเทพฯ มาเกือบทุกยุคทุกสมัย ซึ่งมีทั้งแบบที่ปลูกลงดินถาวร อย่างเช่นที่เห็นเป็นไม้ทรงพุ่มบนฟุตบาท หรือแบบการประดับตกแต่งเมือง ซึ่งจะซื้อเป็นต้นเล็กๆ ขนาด 3 นิ้ว ในถุงดำเพื่อนำไปประดับตกแต่งในสถานที่ต่างๆ
หากตัดงบประมาณที่ใช้เฉพาะในพื้นที่สวนสาธารณะออก จะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ ใช้งบประมาณไปกับการ ‘ปรับภูมิทัศน์’ ตกแต่งเมืองด้วยไม้ดอกล้มลุก ไม้ประดับ ไม้กระถาง จำนวนมาก นอกจากไม้ประดับที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น ในกรณีของไม้ดอก จะพบว่ามีทั้งการซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกและซื้อต้นที่ออกดอกแล้ว โดยไม้ดอกที่ใช้ในการตกแต่งเมืองมากที่สุดคือดอกบานชื่น (จำนวน 9 สายพันธุ์) มีการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ 360,000 เมล็ด รองลงมาคือดาวเรือง 320,000 เมล็ด และหัวปทุมมา (ดอกกระเจียว) 162,000 หัว
หรือหากดูเฉพาะการประดับตกแต่งไม้ดอกเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวรมหาภูมิพล อดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรก็จะพบว่าใช้ดอกบานชื่นมากที่สุด 58,000 ต้น รองลงมาคือกล้วยไม้คละสี 28,000 ต้น และดอกดาวเรือง 25,000 ต้น ซึ่งก็จะคล้ายกันในวันสำคัญอื่นๆ เช่น วันสงกรานต์ ที่มีทั้งบานชื่น ดาวเรือง สร้อยไก่ แพงพวย ฯลฯ
กรุงเทพฯ ควรปลูก ‘ต้นไม้’ อะไรดี
Rocket Media Lab ได้พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องต้นไม้ในกรุงเทพฯ กับ ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมองว่า ต้นชาฮกเกี้ยนเป็นต้นไม้เล็ก ๆ จะไปเทียบกับต้นไม้ใหญ่ไม่ได้ ปลูกชาพันต้นอาจจะยังไม่ได้ฟังก์ชั่นเท่าต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นเลย ฉะนั้นเวลาเอาตัวเลขหนึ่งล้านมา พูดง่ายๆ มันเป็นการพีอาร์ เพราะถ้าเราปลูกไม้ใหญ่เป็นล้านๆ ต้นจริง กรุงเทพฯ ไม่มีพื้นที่มากมายขนาดนั้นหรอก แต่มันก็เหมือนใจร้ายไปหน่อยที่มาหลอกคนกรุงเทพฯ ว่า ปลูกต้นไม้ได้เยอะขนาดนั้น
“แต่ปัญหาเร่งด่วนที่สุดตอนนี้ในมุมมองของผม ผมไม่ได้มองว่าจะต้องปลูกต้นอะไร ไม้ใหญ่หรือไม้ประดับ ผมมองว่าเราควรเอาเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ให้มันดีก่อน เพราะปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้คือต้นไม้ใหญ่มีปัญหาทุกต้น ต้นไม้ในกรุงเทพฯ เป็นต้นไม้ที่ไม่มีความสุขในการอยู่ในเมืองเลย รดน้ำวันละครั้ง ซึ่งมันไม่พอหรอกครับ แค่นี้มันไม่เรียกว่าดูแล เราไม่เคยดูแลต้นไม้ในกรุงเทพฯ กันจริงๆ
ในประเด็นการแก้ปัญหาและการมองไปข้างหน้านั้น ผศ.ดร. พรเทพ มองว่า ในเรื่องพรรณไม้ การปลูกพิกุลเป็นไอเดียที่ดี เพราะพิกุลเป็นต้นไม้ที่มีขนาดพอเหมาะกับการจะอยู่กลางถนน หรือการปลูกพวกตะแบก อินทนิล ในแง่ดีก็คือมันเป็นต้นไม้ที่ทนมากกับทุกสภาวะ มันอยู่ได้ ไม่ต้องไปดูแล กิ่งก็ไม่หักง่ายนะครับ ต้นเมื่อโตเต็มที่ไม่ใหญ่จนเกินไปที่จะสร้างปัญหาให้เมือง อย่างเส้นบรมราชชนนีเราจะเห็นต้นพิกุลตลอดสายไปจนเกือบถึงนครปฐมเลย
ข้อมูลอ้างอิง
- สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
- ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ รายเขต กรุงเทพมหานคร
- ซีรีส์ชุด แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม อันเป็นความร่วมมือทางด้านข้อมูล ระหว่าง The Active และ Rocket Media Lab
- รายงาน ‘มาตรการในการเพิ่มและการจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนอยางยั่งยืน’ โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์