มหานครวิพากษ์ : ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
- “ผมจำเป็นต้องมีที่ว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชอุ่ม…” และ “เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ…” ดูเหมือนจะเป็นอีกครั้ง ที่ ข้อเขียน “ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ศ.ป๋วย ถูกหยิบยกมากล่าวอีกครั้ง ในวาระที่กรุงเทพฯ กำลังเปลี่ยนแปลง ผู้คนเริ่มมีความหวังเพราะมีผู้บริหารเมืองคนใหม่ ในวันที่สิ่งแวดล้อมของเมืองกำลังถูกท้าทายจากหลายปัจจัย
- ความร้อน สะท้อน ความเหลื่อมล้ำ ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’ มองมุมนี้ ผ่านจำนวนเครื่องปรับอากาศและจำนวนต้นไม้ ด้วยการเทียบเคียงกับชีวิตผู้คนที่มีความสามารถในการใช้เงินซื้อความเย็น ผ่านแอร์คอนดิชันเนอร์ ไม่ว่าจะที่บ้าน การเดินทาง หรือที่ทำงาน แต่หากมีการกางร่มให้เมือง ปกป้องความร้อนจากดวงอาทิตย์ และเป็นร่มที่มีไอน้ำด้วย การแก้ความร้อนได้ ปัญหาอื่นก็จะถูกแก้ไปด้วย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร
- ซีรีส์ มหานครวิพากษ์ ชวนคนทำงานในแวดวงต่าง ๆ มาพูดคุยถึงความคาดหวังที่มีต่อกรุงเทพมหานคร ที่แม้จะผ่านวาระการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ยังเป็นความคาดหวังที่สดใหม่ และรอวันที่จะให้ไปถึงเป้าหมาย
อาคารรูปทรงตัว H ลาดเอียงคล้ายเนินดิน ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางอาคารและต้นไม้ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คือ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่ถูกออกแบบเป็นพื้นที่สาธารณะ นอกจากจะสวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมแล้ว ยังใช้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผศ.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล นอกจากจะเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์แล้ว ยังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานแห่งนี้ บอกเล่าความสำคัญของอาคารที่สะท้อนถึงความยั่งยืนในการใช้ชีวิต พึ่งแสงแดด พึ่งสายน้ำ และสร้างอาหารจากพื้นที่สีเขียว ผ่านสวนหลังคาขนาดใหญ่เพื่อปลูกพืชพรรณออร์แกนิก และระบบจัดการน้ำที่มีการหน่วงน้ำธรรมชาติ ก่อนหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
เวลาที่ว่างจากการสอน ผศ.ปริญญา มักหากิจกรรมที่ช่วยดูแล รักษาธรรมชาติ อย่างการพายเรือเก็บขยะในแม่น้ำ หรือการรักษาต้นไม้ขนาดใหญ่ในมหาวิทยาลัย ร่วมกับ “หมอต้นไม้” หรือ รุกขกร ด้วยเชื่อมั่นว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จะสร้างร่มเงา และทำให้คุณภาพชีวิตของคนที่ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งสุขภาพ และการทำงาน
ท่ามกลางการพัฒนาที่ทันสมัย อาจทำให้ “เมือง” ละเลยการดูแลธรรมชาติ ซึ่งนั่นเป็นทิศทางที่อาจนำไปสู่การหยุดชะงักของวงจรธรรมชาติ และต้องสร้างนวัตกรรมมาทดแทนอย่างไม่รู้จบ เป็นแนวทางที่ผลักให้คนที่เข้าไม่ถึง ต้องจมอยู่กับคุณภาพชีวิตที่เลือกไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ ดูเหมือนจะสอดคล้องกับภารกิจใน 4 ปีต่อจากนี้ของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ที่ตั้งเป้าหมายปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้น เพื่อลดฝุ่นและลดมลพิษ ร่วมถึงเพื่อให้เกิดร่มเงา เน้นในที่โล่งแจ้ง ให้ประชาชนกลับมาทำกิจกรรมได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนปลูกเพื่อส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศในเมือง จากการเดินสายประชาสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือ มาจนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มียอดการปลูกต้นไม้ จำนวน 79,886 ต้น และยอดจองปลูกจากหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 1.6 ล้านต้น นี่จึงอาจเป็นสัญญาณที่ดีของการสร้างเมืองที่ยั่งยืนในอนาคตหรือไม่
“เราไม่ควรตายอย่างโง่ ๆ บ้า ๆ ในกรุงเทพฯ”
คือคำพูดของ ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ได้เขียนไว้ใน “จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” ผศ.ปริญญา ขยายความต่อว่าเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตของคนหนึ่ง ที่ตั้งแต่เกิดมาเป็นมนุษย์ จนกระทั่งถึงวันจากโลกนี้ไป แล้วเป็นสิ่งที่ ‘เป็นธรรมดา’ ของชีวิตคน คือ ต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ ต้องการน้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม และเมื่อจะตาย ก็ต้องไม่ตายอย่างโง่ ๆ บ้า ๆ คือ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ
ทำไมถึงเกี่ยวกับเรื่องการเมืองด้วย? ผศ.ปริญญา ตอบคำถามนี้ว่า การเมืองของระบอบประชาธิปไตย คือ การจัดสรรทรัพยากร โดยประชาชนเป็นผู้จัดสรร เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เพราะฉะนั้น ทรัพยากรทั้งหลาย ตั้งแต่ภาษีอากรที่เก็บไป กลายเป็นงบประมาณแผ่นดิน เมื่อถึงตอนจัดสรรทรัพยากร ทั้งงบประมาณที่จัดสรรมาจากงบฯ แผ่นดิน และงบฯ ที่ กทม. เก็บเอง คนกรุงเทพฯ เขาต้องมีส่วนกำหนด ดังนั้น การเมืองเราถึงต้องการการเมืองดี การเมืองดี คือ ทรัพยากร เหมือนจัดสรรกลับมาให้เจ้าของเงินอย่างตรงความต้องการมากที่สุด วิธีการมีทางเดียว คือ ต้องให้คนที่เขาเป็นเจ้าของมาตกลงกัน นั่นคือหลักการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย
“มันไม่ใช่เรื่องของการที่มีใครสักคนที่เก่งมาก ที่เป็นคนดีมาก แล้วมาจัดสรรให้ทั่วถึง มันต้องเท่าเทียมและเป็นธรรม สมประโยชน์ของแต่ละฝ่าย และต้องจัดลำดับตามความจำเป็นด้วย การเมืองจริง ๆ คือ การจัดสรรทรัพยากรเพื่อประชาชนและตกลงกันว่า เราควรจัดสรรเรื่องการศึกษาเท่าไหร่ จัดสรรเรื่องคุณภาพชีวิต การแก้ปัญหา PM2.5 เท่าไหร่ และการจัดสรรทรัพยากรในเมืองหลวง ยังเหลื่อมล้ำอยู่มาก”
ความร้อน สะท้อน ความเหลื่อมล้ำ
ผศ.ปริญญา เล่าให้ฟังถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่าน ‘ความร้อน’ ในกรุงเทพฯ เพราะต้นไม้มีน้อยลง มีตึกมากขึ้น มีแอร์มากขึ้น คนที่จะรอดจากความร้อน จะมีชีวิตที่เย็นสบาย คือ คนที่มีเงินซื้อแอร์ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม จากข้อมูลคร่าว ๆ พบว่า กรุงเทพฯ มีแอร์ 2 ล้านกว่าเครื่อง เป็นแอร์อยู่ในบ้านคนไม่ถึงครึ่ง คาดว่ามีประมาณประมาณ 7 แสนเครื่อง ที่เหลืออยู่ในออฟฟิศ ห้างสรรพสินค้า และหน่วยงานรัฐต่าง ๆ
ประเด็น คือ คนที่มีเงินซื้อแอร์ ก็อยู่บ้านเย็น ๆ พอออกจากบ้านจะไปทำงานก็เข้าไปในรถที่มีแอร์ พอถึงที่ทำงานก็มีแอร์อีก พอจะพักผ่อนเข้าห้างก็มีแอร์อีก เรียกว่าไม่เคยรู้เลยว่ากรุงเทพฯ ร้อนเป็นปัญหาอย่างไร ขณะที่คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ต้องอยู่แบบพัดลม แล้วก็ต้องไปรถเมล์ที่เรียกว่า รถร้อน กินข้าวก็ต้องกินร้านข้าวแกงร้อน ๆ จะมีโอกาสเดินห้างเป็นที่ที่พอจะช่วยได้บ้าง ซึ่งเป็นระบบ “ตัดช่องน้อยแต่พอตัวสำหรับคนรวย” เพราะอย่าลืมว่าแอร์มันเย็นได้ ด้วยการดูดเอาความร้อน ถ้าคิดง่าย ๆ เหมือนกรุงเทพฯ มีเครื่องทำความร้อน 2 ล้านกว่าเครื่องด้วย
“เรื่องแรกที่ผมเสนอให้ทำทันที ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย คือ ทำกรุงเทพฯ ให้เย็นลง วิธีการทำให้เย็นลงความจริงไม่ได้ยากอะไรเลย คือ ต้นไม้ สิงคโปร์อยู่ติดเส้นศูนย์สูตรมากกว่าเรา สิงคโปร์จึงต้องร้อนกว่า แต่ปรากฏว่าเย็นกว่ากรุงเทพฯ เยอะ เพราะเขาถือว่าเป็นสมบัติของชาติ เขารู้ว่ามีสิ่งเดียว ที่ทำให้เมืองมีอากาศที่บริสุทธิ์ และมีอากาศที่ดีได้”
เขากล่าวต่อไปว่า ต้องเป็นการดูแลต้นไม้ใหญ่ ไม่ใช่การปลูกใหม่อย่างเดียว แต่ต้นใหญ่ที่มีอยู่ ต้องดูแลให้ดีขึ้น แม้ตอนนี้สถานการณ์เรื่องของต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ จะเริ่มดีขึ้น เพราะหลายปีที่ผ่านมาก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในเรื่องนี้ แต่ก็มาจากการผลักดันของภาคเอกชน อย่าง Big Trees ที่ชวนคนดูแลต้นไม้มาทำ Workshop Training มีการอบรม ทำให้ต้นไม้ใหญ่เริ่มดีขึ้น แต่มันยังดีกว่านี้ได้อีก
ต้นไม้ คือ การกางร่มให้เมือง ปกป้องความร้อนจากดวงอาทิตย์ และเป็นร่มที่มีไอน้ำด้วย ดังนั้น การตัดแต่งต้นไม้ในเมือง การดูแลต้นไม้ คือ การดูแลให้เป็นร่มเงา แต่ในทางปฏิบัติ เราเห็นการตัดแต่งต้นไม้เป็นจำนวนมาก ตัดร่มทิ้ง เหลือแต่ก้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เขาคิดว่านโยบายเรื่องต้นไม้ใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องทำให้มากกว่าเดิม ต้นไม้ที่ถูกตัดเหลือแต่ก้าน เหลือแต่ตอ อันนี้ถือว่าเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ เกิดขึ้นที่เขตไหน เขตนั้นต้องรับผิดชอบ
เมื่อแก้ร้อนได้ ปัญหาอื่นในกรุงเทพฯ จะถูกแก้ไปด้วย
เรื่องของการสัญจร ก็ทำให้เมืองร้อนด้วย ผศ.ปริญญา ให้เหตุผลว่าเพราะรถยนต์ปล่อยความร้อนจากการสันดาป ปล่อยผ่านท่อไอเสีย ซึ่งมีทั้งมลภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ และสารพิษอื่น ๆ รวมถึง PM 2.5 รถดีเซลเก่า ถ้าเราสามารถทำให้การสัญจร คนขึ้นรถส่วนตัวน้อยลง กรุงเทพฯ ก็จะร้อนน้อยลง และมีมลภาวะน้อยลง และความเหลื่อมล้ำในการเดินทางก็จะน้อยลงด้วย ถามว่ามีรถไฟฟ้า แล้วทำไมคนยังไม่ขึ้น ก็ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า มีแค่ฐานะชนชั้นกลางเป็นส่วนมาก เพราะราคาค่าโดยสารยังสูง ต้องทำให้รถไฟฟ้าราคาไม่สูงไปกว่านี้ ถูกกว่านี้ได้ก็ยิ่งดี ส่งเสริมพาหนะของคนเล็กคนน้อย คนรายได้น้อยให้มากกว่านี้ เมื่อรายได้ของเรายังเพิ่มไม่ได้ อย่างน้อยรายจ่ายต้องลดลง
“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ขี่จักรยานได้ ถ้าไม่ร้อน คนยังไม่อยากขี่จักรยานในกรุงเทพฯ เนื่องด้วยอากาศยังร้อน ไม่มีร่มเงา อีกทั้งทางจักรยานยังมีปัญหา ที่กังวล เพราะมันคือความปลอดภัย ผมถามว่าถ้าเกิดเราทำทางด่วนให้รถยนต์มากมาย เรามีทางด่วน ทางยกระดับที่ยังสร้างกันไม่เลิก ทำไมไม่ทำทางยกระดับให้จักรยานบ้าง แล้วมอเตอร์ไซค์อย่าไปขี่นะ ทางเท้าก็ต้องเป็นทางเท้าที่คนเดินได้ ทำให้คนเดินมากขึ้น ขี่จักรยานมากขึ้น แล้วเมืองมันจะเป็นเมืองสำหรับทุกคน ไม่ใช่เมืองที่เป็นสวรรค์สำหรับคนมีเงินเท่านั้น”
นอกจากนั้น ผศ.ปริญญา ยังมองว่ารูปธรรมที่ชัดเจน แล้วควรสร้างให้เกิดขึ้นในเมืองคือความมั่นคงทางอาหาร เริ่มจากการสร้างป่าเพราะแต่ก่อนคือซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้าน เข้าไปก็มีอาหาร และมีชุมชนคอยดูแล เราควรจะฟื้นฟูให้มีอาหาร และการไหลของน้ำ เพราะปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงถนนนั้นทำให้น้ำท่วม แต่ถ้าหากทุกตึกมีการหน่วงน้ำไว้ใช้ หรือให้ไหลไปตามพื้นที่ที่ต้องการ อย่างแปลงผัก ไม่ปล่อยน้ำลงมาบนพื้นพร้อมกัน น้ำก็จะรอระบายน้อยลง
“เรื่องหนึ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องคิด คิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำแล้วนะครับ คือ เรื่องโลกร้อน ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศโดยตรง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้เป็นน้ำใหม่แล้ว น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะเป็นน้ำที่จืดเฉพาะหน้าฝน เมื่อน้ำฝนมันไหลลงมา ช่วงที่ไม่ใช่หน้าน้ำ น้ำทะเลที่มันสูงขึ้นจากโลกร้อน มันก็ลึกขึ้นลึกขึ้น เอาง่าย ๆ คนที่ใช้น้ำ มาเพื่อรดน้ำต้นไม้ก็ดี ทำการเกษตรก็ดี และทำน้ำประปา ตอนนี้มีปัญหาทั้งหมด”
จะแก้ปัญหาได้ ต้องเอาเจ้าของปัญหามาร่วมแก้
ผศ.ปริญญา เล่าถึงแนวทางแก้ปัญหาให้สำเร็จ โดยยกตัวอย่างผ่าน ปัญหาการปล่อยน้ำเสียและขยะลงคลองที่เริ่มดีขึ้น แม้ว่าขยะ ยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่มาก แต่เรื่องน้ำเสียเริ่มดีขึ้น เริ่มจากทุกเขตมีคลองอะไรบ้าง แล้วเอาชุมชนมาตกลงกันว่าจะทำอย่างไรในการทิ้งขยะ และน้ำเสีย ส่วนภาครัฐกับ กทม. จะเข้ามาช่วยชุมชนอย่างไร และแผนแบบนี้ต้องพูดถึงส่วนที่เขาเกี่ยวข้อง
“สิ่งที่จะทำให้สำเร็จ คือ ตอนทำแผนให้คนที่เขาเป็นเจ้าของปัญหามาตกลงกัน ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แล้วก็ดูว่า จากตรงนั้นภาครัฐ กทม. จะเสริมเขาอย่างไร ถ้าเงิน กทม. ไม่พอ ขอรัฐบาลเพิ่ม เพราะกรุงเทพฯ มีสถานะเป็นเมืองหลวงกรุงเทพฯ ด้วย ไม่ใช่เกิดจากผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ แล้วไปบังคับเจ้าหน้าที่ กทม. อย่างไรก็ไม่สำเร็จหรอก”
เราต้องคุยกันว่าจะทำอะไรก็ร่วมกัน ลำพังเพียงการมีผู้บริหาร กทม. มาทำให้ตามที่เราขอ แต่ละข้อจะสำเร็จได้หรือไม่ ไม่มีอะไรการันตี แต่เมืองนี้ คือ เมืองของเราทุกคน ที่ต้องร่วมมือกัน อย่างการแยกขยะเราต้องแยกเอง การไม่ทิ้งขยะลงคลองเราก็ต้องไม่ทิ้ง เขาต้องเก็บให้ เขาต้องจัดการ แต่คนที่จะต้องแยกขยะ คือ ประชาชน ปัญหาของเราที่มันแก้ไม่ได้ มันแป๊ก เป็นเพราะเรื่องนี้
เลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
อาจารย์กฎหมายคนนี้ ยังเปรียบเทียบการเลือกตั้ง เหมือนการเลือกผู้บริหารบริษัทมหาชน คนไทยทุกคน ถือหุ้นคนละ 1 หุ้น เสมอภาคกัน ทุกคนมีสิทธิ์กำหนดว่าใครจะเป็นผู้บริหาร เมื่อเข้ามาบริหารให้แล้ว แต่เรายังเป็นเจ้าของบริษัทอยู่ ดังนั้น คงไม่อาจรอให้เขาทำให้อย่างเดียว การเลือกตั้งเป็นการเลือกผู้จัดการเท่านั้น ยังต้องมีกระบวนการให้เขาได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด
“คนเริ่มพูดกันเยอะขึ้นว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเดียวเห็นจะไม่พอ ต้องเลือกตั้งผู้อำนวยการเขตด้วย แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็นนะครับ คือมีผู้ว่าฯ แล้ว ไปหน่วยย่อยที่สุด คือ ชุมชน ปัจจุบัน กทม. ยังมีลักษณะเป็นบนลงล่างอยู่มาก ต้องส่งเสริมให้มาก ๆ ในแบบใช้การมีส่วนร่วม ไม่ใช่ในบทบาทที่เรียกว่าพอเป็นพิธี ฟังเขาหน่อยแล้วทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่มีส่วนร่วมในแบบมาแก้ปัญหาร่วมกัน…”
ชุมชน คือ รากฐาน เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา ไม่ได้หมายถึงแค่ชุมชน ที่เป็นหมู่บ้านดั้งเดิม แต่ต้องหมายถึงหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมด้วย แม้กลุ่มนี้จะมีการปกครองของตัวเองอยู่ระดับหนึ่ง เพราะกฎหมายกำหนดว่าต้องตั้งให้เป็นนิติบุคคล เพื่อมาดูแลสาธารณูปโภคต่าง ๆ เก็บค่าส่วนกลางมาใช้ในการจัดการ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีนโยบาย ว่าจะทำอย่างไรให้หมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมทั้งหลายถูกนับเป็นชุมชนด้วย ส่งเสริมให้จัดการปกครองตนเอง และการแก้ปัญหาของส่วนรวม เช่น จะชวนแยกขยะเศษอาหาร จะชวนให้ดูแลต้นไม้ใหญ่ จะสามารถชวนคอนโดฯ ให้ทำเรื่อง Urban farm ได้ไหม โดยใช้พื้นที่ดาดฟ้าเปลี่ยนเป็นการปลูกผักไหม ผู้ว่าฯ กทม. ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในทุกมิติ