“ภาพฝัน…ชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่”

ไทยครองแชมป์นักดื่มอันดับ 1 ของเอเชีย 
สวนทางรณรงค์ ลด ละ เลิกอบายมุขที่เข้มข้น

วันหยุดยาว…ใครหลายคนคงออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ แต่การออกไปพักผ่อน แทนที่จะเป็นกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ อาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพได้ หากต้องพบเหตุการณ์เมาทะเลาะวิวาท หรือต้องนั่งสูดดมควันบุหรี่มือสอง จากนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นที่มาใช้พื้นที่ร่วมกัน 

เทศกาลเข้าพรรษา นอกจากการรณรงค์ของหน่วยงานต่าง ๆ ในการลด ละ เลิกเหล้า ชวนคนไทยละเว้นจากอบายมุข หลายคนยังใช้โอกาสนี้ งดเว้นการดื่มสังสรรค์ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพด้วยตนเองเช่นกัน

แต่แม้จะมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Expensivity เมื่อปี 2564 เปิดรายงาน World Beer Index 2021 กลับพบว่า คนไทยครองแชมป์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในเอเชีย เฉลี่ยอยู่ที่ 142 ขวด ต่อคน ต่อปี แซงหน้าประเทศเกาหลีใต้ไปแล้ว 

เหล้า

The Active สำรวจชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี หนึ่งใน “แหล่งท่องเที่ยว” ที่มีการรณรงค์ในระดับพื้นที่มานานกว่า 2 ปี ด้วยเป็นพื้นที่สาธารณะ มีคนหลายรุ่น หลายวัยใช้ประโยชน์ และแม้บ้านเราจะมีสถิตินักดื่มจำนวนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่า การดื่มและการสูบจะเป็นมิตรสำหรับทุกคน

“บางแสน” ยังไม่ปลอดเหล้า-บุหรี่ 100% 

ขวดเบียร์หลายยี่ห้อวางระเกะระกะอยู่ใต้ต้นมะพร้าว เมื่อแดดร่มลมตก บ้างตั้งโต๊ะนั่งดื่มเบียร์เย็น ๆ บ้างซ่อนเบียร์ไว้ใต้โต๊ะไม่ให้ดูประเจิดประเจ้อจนเกินไป

ตามพื้นทรายสีขาวยังพบก้นบุหรี่ถูกทิ้งเรี่ยราด สวนทางกับภาพของปลัดเทศบาลเมืองแสนสุขและคณะ ที่เดินรณรงค์นักท่องเที่ยวที่มาชายหาดบางแสน ให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอให้สูบบุหรี่ในโซนที่จัดไว้ให้ 

ชายหาด เหล้า บุหรี่

การรณรงค์เช่นนี้มีขึ้นเป็นประจำในช่วงวันหยุดหรือเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวมาพักผ่อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่มากับครอบครัว 

“ไพศาล สีนาคล้วน” ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข ยอมรับว่า ภายหลังจากที่หาดบางแสนประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับทุกคน การก่อเหตุอาชญากรรมและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญจากควันบุหรี่ลดลงอย่างมาก แม้ยังไม่สามารถทำให้ชายหาดแห่งนี้ปลอดเหล้า บุหรี่ได้ 100% 

“เราเริ่มจากการขอความร่วมมือก่อน โดยการรณรงค์ ปักป้ายต่าง ๆ หากเทศกิจพบเห็นเสียงดังไม่เรียบร้อย ก็จะเข้าไปตักเตือน ถ้ายังไม่หยุดก็จะจับกุม แต่ที่ผ่านมาใช้กฎหมายเข้าไปจับกุมน้อยรายมาก อยากขอความร่วมมือให้มีจิตสำนึกร่วมกันมากกว่า” 

ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข 

ต่างมุมมอง ชายหาดปลอดเหล้า?

เราได้คุยกับนักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนชายหาดบางแสนในวันหยุด ผู้หญิงทั้ง 3 คน เดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งใจมาเที่ยวทะเลที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานครมากที่สุด “ปาริดา ยอดคำลือ” มองว่า การดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อย ก็ถือเป็นการพักผ่อน แต่ที่เห็นด้วยที่สุดคือการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาด นอกจากเหล้าและบุหรี่แล้ว เธอยังมองไปถึงการเปิดเสรีกัญชาและกระท่อม ว่าพืชสมุนไพรเหล่านี้ก็ควรที่จะเฝ้าระวังไม่ต่างจากเหล้าและบุหรี่เช่นกัน 

ชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่
ปาริดา ยอดคำลือ นักท่องเที่ยวชายหาดบางแสน จาก จ.เชียงใหม่

ส่วน “อริสรา ปองสา” นักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ชายหาดควรปลอด 100% หรือไม่ส่วนตัวยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่การสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาดถือว่าเป็นการรบกวนคนอื่น 

“จริง ๆ เหล้ากับบุหรี่ น่าจะคนละเรื่องกัน ควรแยกกันระหว่างพื้นที่ปลอดเหล้า กับปลอดบุหรี่ เพราะมีเพราะมีระดับความรบกวนที่ต่างกัน” 

อริสรา นักท่องเที่ยวจากเชียงใหม่
ชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่
วนิดา เปลี่ยนประเสริฐ ผู้ค้าชายหาดบางแสน

ขณะที่ผู้ค้าริมชายหาดที่ขึ้นทะเบียนกับเทศบาลให้ความร่วมมือไม่ขายบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนการดื่มและการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ผู้ค้าก็ยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่าง 

ก่อนหน้านี้ “วนิดา เปลี่ยนประเสริฐ” หนึ่งในผู้ค้าชายหาดบางแสนก็เคยขายเหล้า-บุหรี่ริมหาดมาก่อน รวมทั้งตัวเองก็เป็นคนสูบบุหรี่คนหนึ่ง ตอนนี้ต้องเดินไปสูบฝั่งตรงข้าม โดยหลังจากทางเทศบาลจัดระเบียบชายหาดบางแสนด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ค้าทุกคน ในข้อตกลงก็ขอให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ด้วย แต่ก็ห้ามนักท่องเที่ยวไม่ได้ เพราะเมื่อซื้อใกล้หาดไม่ได้ ก็ไปซื้อร้านฝั่งตรงข้าม หรือร้านสะดวกซื้อใกล้ ๆ มาดื่ม

“แต่ก็เข้าใจเขานะ เขามาชายหาดคือมากินเบียร์รับลม พักผ่อน” 

วนิดา เปลี่ยนประเสริฐ 
ชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่

ด้าน “วุฒิชัย ชื่นวจีธรรม” ผู้ค้าชายหาดบางแสนอีกคน บอกว่า พร้อมให้ความร่วมมือ 100% เพราะก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้จัดระเบียบงดขายเหล้า บุหรี่ เกิดเหตุเมาและทะเลาะวิวาทบ่อยมาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ดื่มก็รู้สึกไม่ปลอดภัย แม้เดิมการขายเหล้า บุหรี่ริมชายหาดจะได้กำไรมาก แต่กฎก็คือกฎ พร้อมทำตามกฎเพื่อส่วนรวม 

ทั้งนี้ ในแต่ละปี ชายหาดบางแสนมีนักท่องเที่ยวมากถึง 1.8 ล้านคน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนทุกระดับเข้าถึงได้ และอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความพยายามผลักดันให้เป็นชายหาดต้นแบบปลอดอบายมุข แต่จนถึงวันนี้ยังบอกไม่ได้ว่า เป็นพื้นที่ปลอดแอลกอฮอล์  100% 

เล็งเข็นอีกหลายหาดปลอดอบายมุข หวังลดนักดื่ม-นักสูบหน้าใหม่ 

แม้จะยังไม่สามารถควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาดบางแสนได้ 100% แต่หลังจากที่มีการรณรงค์ และทางเทศบาลเมืองเอาจริงเอาจังกับการควบคุมผู้ค้าริมชายหาด ทำให้หลังคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 พบว่ามีนักท่องเที่ยวมาที่ชายหาดบางแสนในวันธรรมดาและวันหยุดมากขึ้น โดย “ท้องถิ่น” หวังให้ครอบครัวที่พาเด็ก ๆ มาเที่ยวที่นี่ จะต้องรู้สึกปลอดภัย และลดโอกาสพบผู้ที่เมาแล้วก่อความรำคาญ รวมถึงไม่มีควันบุหรี่มารบกวน 

ชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่

จากข้อมูลปี 2564 พบผู้ที่เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง 8,278 คน และยังพบเยาวชนอายุ 15-24 ปีมีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 1.9 ล้านคน ขณะที่พบการดื่มแล้วขับกว่า 30% ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนถึง 25% ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 

เหล้า บุหรี่

“รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ” รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มองว่าการเริ่มต้นนำร่องพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยอบายมุข จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนทัศนคติของผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เป็นประจำมาสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ปลอดเหล้าและบุหรี่ 

“จริง ๆ มีกฎหมายที่เอาผิด มีบทลงโทษกับผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอยู่แล้ว ตอนนี้ไม่ว่าจะป้ายรถเมล์ หรือในตลาดก็ห้ามสูบบุหรี่ แต่มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือในการปรามกันมากกว่า สำคัญที่สุดคือนักดื่ม นักสูบต้องปรับพฤติกรรมเพื่อส่วนรวม”

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

สอดคล้องกับ “ผศ.เกศรา สุกเพชร” อาจารย์สาขาอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว คณะจัดการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า  มองว่าการรณรงค์แหล่งท่องเที่ยวปลอดเหล้าและบุหรี่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ เพราะคนที่ไม่กินเหล้าและสูบบุหรี่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ ที่มีถึง 70% 

ผ่านมาพบว่าหลังการรณรงค์ ขอความร่วมมืออย่างจริงจัง พบการฝ่าฝืนสูบนอกพื้นที่อนุญาต ประมาณ 10-15% พบว่าการแอบดื่มแอลกอฮอล์ช่วงกลางคืนหลังเก็บเตียง และที่นั่งประมาณ 20% โดยแอบใช้ภาชนะอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงแทน จึงอยากเสนอให้ภาครัฐประชาสัมพันธ์ ห้ามดื่มและห้ามสูบในชายหาดทั่วประเทศ

ชายหาดปลอดเหล้า-บุหรี่

ก่อนหน้าการรณรงค์ที่ชายหาดบางแสน เคยมีการยกระดับ “ชายหาดอ่าวมะนาว” ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพให้เป็นพื้นที่ปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ได้ 100% ส่วนที่บางแสนก็พยายามผลักดันกันต่อไป 

เครือข่ายสุขภาพฯ กำลังจะขยายผลในพื้นที่นำร่อง โดยมองไปที่ “ชายหาดชะอำ” และ “ภูเก็ต” บางหาด ที่ควรยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับทุกคน ซึ่งเชื่อว่าหากแหล่งท่องเที่ยวปลอดเหล้าบุหรี่มีมากขึ้น ก็อาจช่วยลดนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ไปด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS