“Autistic Pride Day” เข้าใจ-เรียนรู้-โอบรับ บุคคลออทิสติก

ในช่วงเวลาของ Pride Month ความภาคภูมิใจในความหลากหลายทุกมิติ คือ ประเด็นสำคัญและจุดมุ่งหมายหลักในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่สังคมที่โอบรับทุกความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งการจะไปถึงจุดมุ่งหมายนั้นได้ การให้พื้นที่แก่ผู้มีความหลากหลายอื่น ๆ ในการสะท้อนความต้องการและความหวังจึงมีความสำคัญ

และทุกวันที่ 18 มิถุนายนของทุกปี ยังตรงกับวัน “Autistic Pride Day” วันแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของบุคคลออทิสติก (Autistic) และในเดือนหน้าหลายประเทศจะมีการจัดงาน Disability Pride Month ทุกปีในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดงานนี้อย่างเป็นทางการ

The Active ชวนร่วมทำความเข้าใจภาพรวมทัศนคติของสังคมไทยต่อกลุ่มคนออทิสติก และความต้องการที่สะท้อนผ่านมุมมองของ ฟิน แอดมินและผู้ก่อตั้งเพจ The Mindginal ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยเดิมทีใช้ชื่อว่า Neurodiverthai เพื่อเรียกร้องประเด็นการทำสื่อที่อาจส่งผลกระทบต่อคอมมู (Community) ของคนออทิสติกในด้านลบ และเพื่อสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนชุดความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นของ Neurodivergent หรือความหลากหลายทางระบบประสาท ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังไม่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักมากนักในสังคมไทย

ตอกย้ำ ทำร้ายซ้ำ ๆ มายาคติ-ภาพจำของคนออทิสติก

กรอบความคิดของสังคมไทยต่อกลุ่มคนออทิสติก มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยทัศนคติของผู้คนส่วนใหญ่โอบรับกลุ่มคนออทิสติกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเหยียดกลุ่มคนออทิสติกยังคงมีปรากฏอยู่ เพียงแต่เกิดขึ้นน้อยลง คือสิ่งที่ฟินสังเกตเห็นและสัมผัสจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง

นอกจากนี้ สื่อ ยังเป็นเครื่องมือที่มีพลังทั้งทางลบ และทางบวก บางสำนักอาจยังมีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม หรือภาษาที่ลดทอนคุณค่าของกลุ่มคนออทิสติก รวมถึงเผยแพร่สื่อที่มีเนื้อหา การเหมารวม (Stereotype) หรือสร้างภาพจำที่ผิดต่อกลุ่มคนออทิสติก เช่น ภาพยนตร์บางเรื่องที่นำเสนอว่า คนออทิสติกที่เก่งจะต้องเก่งด้านใดด้านหนึ่งแบบสุดโต่ง ซึ่งไม่ใช่ความจริงเสมอไป และปัญหาที่อาจตามมาจากการสร้างภาพเหมารวมนี้คือ ปัญหาการยอมรับในตัวตนของบุคคลออทิสติก

กล่าวคือ ถ้าพวกเขาไม่ได้เก่งแบบที่ภาพยนตร์นำเสนอ อาจไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม หรือการนำบุคคลที่ไม่ใช่คนออทิสติกมาแสดงเป็นคนออทิสติก จนอาจทำให้การถ่ายทอดเรื่องราวในภาพยนตร์ไม่สมจริง และทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า จะดีกว่าไหมถ้าบุคคลออทิสติกได้มีโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง ผ่านมุมมองและคำพูดของตัวเองอย่างแท้จริง

“บางคนอาจรู้สึกว่า ทำไมคนออทิสติกถึงฉลาดจังเลย ทั้งที่ความจริงแล้ว คนออทิสติกไม่ได้ฉลาดกันทุกคน หรือฉลาดแบบสุดโต่ง แต่พวกเราก็เป็นคนธรรมดาทั่วไปเหมือนคนอื่น ๆ ในสังคม ที่มีทั้งคนที่ฉลาดและไม่ฉลาดปะปนกันไป”

ไม่เพียงแต่ประเด็นเรื่องสื่อเท่านั้น ปัญหาที่กลุ่มคนออทิสติกยังพบในปัจจุบันคือ การแบ่งแยกคนออทิสติกของคนนอก เป็นออทิสติกระดับอ่อน กลาง และรุนแรง ซึ่งกลุ่มคนที่ถูกมองว่า เป็นกลุ่มคนออทิสติกในระดับอ่อน จะได้รับการดูแลที่มากกว่า คนออทิสติกในระดับอื่น

สิ่งนี้อาจส่งผลให้ผู้คนลืมตระหนักไปว่า กลุ่มคนออทิสติกในระดับอื่น ๆ ก็อาจต้องการการดูแลที่มากกว่าได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล และจากประสบการณ์ส่วนตัว บางครั้งคนออทิสติกจะได้รับ การปฏิบัติที่ทำเหมือนพวกเขาเป็นเด็กน้อย (Infantilization) ซึ่งทำให้บุคคลออทิสติกหลายคนรู้สึกว่า ไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนคนธรรมดาทั่วไปเสียที

สิทธิ – พื้นที่ปลอดภัย เส้นทางที่ไทย(อาจ) ยังไปไม่ถึง

ฟิน ยังสะท้อนว่า ในไทยการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ของคนออทิสติก ไม่มีคำว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งบุคคลออทิสติกบางคนยังไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ

“เพราะบางครอบครัวยังเชื่อมายาคติว่า ถ้าทำบัตรแล้วจะเป็นปัญหาตอนทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคต หรือทำแล้วจะถูกกฎหมายตีตราว่าเป็นเสมือนบุคคลไร้ความสามารถ”

ในส่วนสิทธิด้านการทำงาน สำหรับคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจะมีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 รองรับโอกาสการได้งาน เลยคิดเห็นว่า การผลักดันรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจะมีประโยชน์สำหรับคนพิการทั้งคนที่เพิ่งรู้ตัว หรือรู้ตัวนานแล้วแต่ไม่สามารถทำบัตรประจำตัวคนพิการได้

ระบบขนส่งสาธารณะที่เข้มแข็งก็เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของบุคคลออทิสติกได้ เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย และเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มทั่วประเทศ จะช่วยให้คนออทิสติกเดินทางได้สะดวกมากขึ้น เพราะคนออทิสติกบางรายไม่สามารถขับรถส่วนตัวได้จากภาวะ Overwhelmedหรือภาวะความรู้สึกท่วมท้นจากความเครียดหรือความกดดัน 

ในส่วนพื้นที่ปลอดภัยของบุคคลออทิสติกในไทย ได้ให้ความเห็นว่า พื้นที่ปลอดภัยทางออนไลน์ยังหายากอยู่ แต่ในชีวิตจริงอาจพอมีบ้าง โดยเคยพบเจอในรูปแบบของคาเฟ่ ที่เป็นพื้นที่การรวมกลุ่มของบุคคลออทิสติก หรืออาจให้โอกาสบุคคลออทิสติกได้ทำงานในนั้น

ทำความเข้าใจ เสียงสะท้อนจากบุคคลออทิสติก

ในช่วงวัยเรียน ฟิน เป็นคนหนึ่งที่อยากให้คนเข้าใจตัวตนของคนออทิสติก และไม่ทำให้คนออทิสติกรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น เพราะวิธีการเข้าสังคมของพวกเขาอาจแตกต่างจากคนอื่นทั่วไป ซึ่งการขาดความเข้าใจในส่วนนี้อาจส่งผลให้คนออทิสติกรู้สึกโดดเดี่ยว และถูกกลั่นแกล้ง

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการเรียนร่วมของนักเรียนออทิสติกในชั้นเรียน ฟิน มองว่า มีประโยชน์และจะส่งผลดี เพราะช่วยให้คนออทิสติกได้เรียนรู้การอยู่ในโลกของความเป็นจริงว่าเป็นอย่างไร และทำให้รู้วิธีการรับมือการอยู่ในสังคม และในอีกด้านหนึ่ง บุคคลอื่นก็จะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนออทิสติกเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การเรียนร่วมอาจทำให้เกิดปัญหาการบูลลี่ (Bullying) หรือปัญหาการลำเอียงจากอาจารย์ที่ปฏิบัติต่อนักเรียนออทิสติกกับนักเรียนทั่วไปไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้คนออทิสติกอาจรู้สึกไม่ปลอดภัยแม้จะอยู่ในสถานศึกษาที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยปัญหาที่ว่านี้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องเข้ามาแก้อย่างจริงจัง และอาจต้องเริ่มแก้กันที่ระบบการศึกษาด้วย

ส่วนปัญหาที่คนออทิสติกวัยผู้ใหญ่มักจะพบ คือ ไม่ค่อยมองเห็นตัวตนของพวกเขามากนัก เพราะสังคมมักให้ความสนใจคนออทิสติกในวัยเด็กมากกว่า

“จริง ๆ แล้ว การเป็นออทิสติกคือ เป็นได้ตลอดชีวิตจนตาย ถ้าเราสร้างความเข้าใจตรงนี้ได้ คนก็จะเข้าใจว่า ภาวะออทิสติกไม่ใช่โรคที่จะรักษาแล้วหายได้ง่าย ๆ”

ถ้าย้อนกลับไปขบวนพาเหรดงานไพรด์ที่ผ่านมา ฟิน คือคนหนึ่งที่ไปร่วมเดินขบวนด้วย โดยเห็นว่า จุดประสงค์การจัดงานไพรด์นั้นดี แต่ยังพบปัญหา คือ บางพื้นที่มีการเปิดเพลงเสียงดัง ซึ่งคนออทิสติกส่วนหนึ่งจะมีความไวต่อเสียงดัง และอาจเกิดปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ตามมาได้ เช่น ภาวะ Sensory Overload หรือภาวะการได้รับข้อมูลทางระบบประสาทที่มากเกินไป

โดยสาเหตุอาจมาจากการที่บุคคลออทิสติก เป็นความพิการที่มองไม่เห็น (Invisible Disability) บางครั้งถ้าไม่มีสัญลักษณ์ หรือเข็มกลัดที่แสดงตัวตนว่าเป็นบุคคลออทิสติก คนภายนอกก็อาจไม่รู้

พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ใบเบิกทางสู่ความเท่าเทียม

เพจ The Mindginal ได้ร่วมขับเคลื่อน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ ที่ในขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ฟิน ได้สะท้อนว่า หากร่างพระราชบัญญัตินี้สำเร็จ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแน่นอนในหลายมิติ ทั้งในเรื่องของ การปกป้องสิทธิ ที่หายไปของบุคคลออทิสติกจากการถูกกลั่นแกล้งทั้งในสถานศึกษา ที่ทำงานหรือแม้กระทั้งในโลกออนไลน์

เรื่องของ สิทธิแรงงาน ทั้งการปฏิเสธการจ้างงาน หรือการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น ปัญหา ช่องว่างทางรายได้ (Wage Gap) ที่ฟินสะท้อนว่า ยิ่งบุคคลมีอัตลักษณ์ทับซ้อนมากเท่าไร ช่องว่างทางรายได้ระหว่างบุคคลก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย

อีกทั้งร่างพระราชบัญญัตินี้ จะเป็นประโยชน์ทางด้านธุรกรรมอีกด้วย เพราะจะช่วยลดปัญหาการปฏิเสธการกู้ยืมเงิน หรือการซื้อขายทรัพย์สินของบุคคลออทิสติกได้ 

ถึงตรงนี้ สาระสำคัญที่ฟินต้องการสื่อให้สังคมได้รับทราบ คือ อยากให้สังคมถามความต้องการที่แท้จริงของบุคคลออทิสติกด้วยความเข้าอกเข้าใจ และใช้สัญลักษณ์รวมถึงภาษากับบุคคลออทิสติกที่เหมาะสม และอย่างระมัดระวัง นอกจากนั้นยังอยากให้สื่อนำเสนอภาพของคนออทิสติกที่หลากหลายมากขึ้น ไม่นำเสนอประเด็นใดเพียงด้านเดียว พร้อมคาดหวังว่าในอนาคต ไทยจะเกิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง เพื่อผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มในสังคม ไม่เพียงเฉพาะของกลุ่มคนออทิสติก

แม้ปัจจุบันพื้นที่การแสดงออกของคนออทิสติกนั้น จะมีความหลากหลาย และสังคมก็ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น แต่อาจมีบางประเด็นที่ยังต้องอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้นต่อไปในอนาคต 

Author

Alternative Text
AUTHOR

พรยมล ดลธนเสถียร

นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย