รัฐโปร่งใส ด้วยนวัตกรรมต้านโกง

คุยกับ ว่าที่ ส.ส.เท้ง ตัวตึงนโยบายไอที ก้าวไกล

“รัฐโปร่งใส” หนึ่งใน MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่เกิดขึ้น ใจความคือต้องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบ และวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

The Active พูดคุยกับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ “เท้ง” ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และตัวแทนพรรคก้าวไกลในคณะทำงานด้านรัฐบาลและเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของ 8 พรรคการเมือง ด้วยความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ มาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง จากแนวคิด “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

ภายใต้สมการที่ว่า…ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลเดินไปได้ตามที่พรรคก้าวไกลตั้งใจไว้ อ่ะนะ

รัฐโปร่งใส

“ผมเริ่มงานแรกไปแล้วครับ”

(ว่าที่) ส.ส. เท้ง ย้ำถึงการทำงานการเมืองทันทีหลังปิดหีบ แม้ กกต. จะยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ด้วยการขอคำแนะในทวิตเตอร์ของตัวเอง ให้ประชาชนช่วยกันแนะนำเครื่องมือในการติดตามความคืบหน้า 300 นโยบายของพรรคก้าวไกล และมีผู้ที่สนใจเข้าไปพูดคุยแบบถล่มถลาย จนต้องเปิด ก้าว Geek บน Discord (แพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการสนทนา) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของสามสมาชิกพรรคสายเนิร์ด เพื่อใช้เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีร่วมกับประชาชน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

“ตอนนี้ยังไม่ได้ปิดรับข้อเสนอแนะจากประชาชนครับ อยากได้หน้าตาหรือผลิตภัณฑ์เว็บไซต์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้มากที่สุด เสร็จแล้วก็จะโยนโจทย์ต่อไปให้นักพัฒนาต่อ แต่ถามว่าตัวเองมีภาพในหัวหรือยัง ตอบได้เลยว่ามี แต่ยังอยากให้ประชาชนร่วมกันออกแบบมากกว่า ซึ่งจริง ๆ ตัวแพลตฟอร์มที่เอาไว้ติดตาม 300 นโยบาย ความตั้งใจคือเพื่อติดตามนโยบายของพรรคร่วมด้วย ดังนั้น เมื่อพร้อมอาจจะไปติดตั้งที่สำนักนายกรัฐมนตรี อนาคตไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกลหรือใคร ต่อไปเข้ามาดำรงตำแหน่ง คุณจะต้องมาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาขึ้นแพลตฟอร์มนี้ให้เข้าถึงได้ทุกคน และเราต้องแบ่งแพลตฟอร์มนี้เป็นหน้าบ้านกับหลังบ้าน หน้าบ้านประชาชนต้องเข้าถึงได้ทุกอุปกรณ์ ส่วนหลังบ้านตอนนี้ผมได้เข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีระบบติดตามคำสั่งนายกฯ อยู่แล้ว อันนี้ผมก็เพิ่งได้ข้อมูลมาจากเพื่อน ๆ ใน Discord ก็เลยคิดว่าเพื่อไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน ต้องให้หน้าบ้านหลังบ้านคุยกันเวลามีคำสั่งจากนายกฯ ออกก็คีย์เข้าระบบเลย อัปเดตสถานะว่าตอนนี้ยิงไปที่กระทรวงนี้ก็อัปเดตขึ้นที่แพลตฟอร์มให้ประชาชนเห็นได้”

รัฐโปร่งใส

ขณะที่คำถามสำคัญ คือปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศไทย ส่วนสำคัญมาจากการเอื้อผลประโยชน์กับพวกพ้อง ดังนั้น แม้ก้าวไกลจะมั่นใจในการเปิดหน้าชนด้วยการเปิดเผยข้อมูลราชการต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าก้าวไกลไม่ใช่พรรคเดียวที่ได้เก้าอี้ในกระทรวง แล้วจะมีผลต่อการบังคับใช้คำสั่งนี้หรือไม่ โดย ณัฐพงษ์ ยืนยันว่าไม่กังวล เพราะทุกอย่างน่าจะอยู่ใน MOU แล้ว

“สิ่งแรกผมว่าต้องเริ่มที่ MOU เมื่อเป็นวาระร่วมกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการตรากฎหมาย จากเดิมที่เป็น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร “ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น” ต้องเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” ก็คือมีอะไรเปิดได้หมดประชาชนมีสิทธิขอในการขอเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด แล้วอะไรที่คุณจะปิดคุณเลือกเป็นรายไอเทม เช่น เป็นข้อมูลด้านความมั่นคง คุณมาขอคณะกรรมการปิดเป็นอย่าง ๆ ไป ส่วนถามว่าจะตรวจสอบย้อนหลังไปถึงรัฐบาลชุดเก่าด้วยไหม ผมว่าเริ่มต้นเอาที่ตัวเราก่อน ถ้ามีเวลา สรรพกำลังเพียงพอ ผมว่าย้อนหลังได้ก็จะยิ่งดีเลย และผมคิดว่าข้อมูลตัวเลขงบฯ อนาคตประชาชนเข้าไปในเว็บไซต์ของรัฐบาล สามารถเข้าถึงได้ทุกข้อมูล ทุกบริการภาครัฐ แต่ก็จะแยกอีกส่วนที่เป็นการแถลงนโยบายของภาครัฐ เรื่องงบประมาณ”

เมื่อถามถึงความฝันในการทำงานการเมือง แน่นอนว่าในมุมของผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการโปรแกรมเมอร์ เขาอยากสร้างนวัตกรรมทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาสังคม และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ธุรกิจ ซึ่งในวง Discord ของ ก้าว Geek มีการเสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจ และได้สั่งให้ทีมพัฒนาเริ่มศึกษาแล้วอย่างน้อย ๆ 2 เรื่อง คือ

  • เว็บไซต์ Hack.go.th เว็บไซต์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ง่ายแบบออนไลน์ ขณะเดียวกันถ้านักพัฒนาอยากจะพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเองที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ต่อยอดจากภาครัฐ สามารถหยิบข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาได้ทันที
  • Wikipedia รัฐบาล บทเรียนสำคัญจากโควิด-19 ที่การสื่อสารจากหลายหน่วยงานไม่ตรงกันจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จะถูกรวบรวมมาไว้ในแพลตฟอร์มเดียวและช่วยลดปัญหาเฟคนิวส์

ส่วนที่อยู่ใน 300 นโยบาย คือ บัตรประชาชนดิจิทัล จากการศึกษาและพูดคุยกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง ยืนยันตรงกันว่า ตอนนี้บอกว่าทุกอย่างพร้อมแล้ว สามารถที่จะให้บริการดิจิทัลไอดีได้หมด แต่ปัญหาตอนนี้คือยังไม่มีคนตัดสินใจว่าสุดท้ายแล้วจะให้ใครมาดำเนินการต่อ งานหลังจากได้เป็นรัฐบาลจึงต้องพูดคุยกับผู้บริหารภาครัฐ เจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อหาทิศทางที่ชัดเจน

“ดิจิทัลไอดี จะเป็นตัวพื้นฐานที่สุดในการต่อยอดบริการ เช่น สวัสดิการประชาชนออนไลน์ เบี้ยผู้สูงอายุ ไม่ต้องให้ประชาชนไปลงทะเบียนที่ท้องถิ่น เทศบาลแล้ว แต่ขอแบบออนไลน์ได้เลย รวมถึงบริการภาครัฐที่เราบอกว่าให้ขอใบอนุญาตออนไลน์ได้เพื่อลดส่วยสินบนใต้โต๊ะ ที่เราบอกว่าขออนุญาตไปแล้วภายใน 15 วันไม่มีผล ก็ควรจะให้ขออนุญาตผ่านออนไลน์ได้เหมือนกัน ซึ่งที่สุดต้องมาจากดิจิทัลไอดีเพื่อยืนยันตัวตนก่อน ส่วนการเชื่อมเทคโนโลยีไปถึงภาคเกษตรกรรม ผมคิดว่า ภาคเกษตรกรรมเราเจอปัญหาที่แก้ไม่ตก คือ การเพิ่มผลิตภาพต่อไร่ ซึ่งเราโดนเวียดนามแซงไปแล้ว เป้าหมายคือเราจะทำยังไงให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ออกมามากขึ้น ซึ่งหนีไม่พ้นการเอานวัตกรรมมาใช้ ผมเคยมีโอกาสไปที่ สวทช. ยืนยันได้เลยว่าเทคโนโลยีเรามีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือโซ่ข้อกลางที่เชื่อมระหว่างเทคโนโลยีและเกษตรกร สิ่งที่ภาครัฐจะเข้าไปทำหลังตั้งรัฐบาลเสร็จคือประกาศเป็นนโยบายว่าต้องการองค์ความรู้เหล่านี้ไปทำให้เกิด หาคนเข้ามาทำ”

แม้ทั้งชีวิตของว่าที่ ส.ส. เท้ง จะคลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยี และบรรดาโปรแกรมเมอร์ แต่ในการทำงานการเมืองเพื่อประชาชน จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับข้าราชการทุกระดับ ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะบอกว่าเป็นราชการยุค 5G แต่ดูเหมือนหลาย ๆ อย่างจะยังไปไม่ถึง การปรับตัวของรัฐบาลใหม่ จึงต้องเริ่มที่สารตั้งต้นคือการให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยให้เกิดเทคโนโลยีที่ข้าราชการ ประชาชนใช้ได้จริง เพื่อนำไปบริการประชาชน และบริหารข้อมูลราชการอย่างถูกต้อง โปร่งใส และต้องร้องเรียน ตรวจสอบได้ในทุกระดับ

“ผมอยากยกโมเดลของอาจารย์ชัชชาติ ที่ทำสำเร็จในระดับของ กทม. อย่างทราฟฟี่ฟองดูว์ ที่เป็นการเปิดเผยข้อมูลงบฯ ของ กทม. เท่าที่รับทราบคนที่คิดค้นข้อมูลไม่ใช่ กทม. ที่ถือข้อมูล แต่เป็นนักสตาร์ตอัป ผมคิดว่าช่วงเปลี่ยนผ่านก็ต้องใช้โมเดลแบบนี้ ลองนึกว่าวันนี้ถ้าเราอยากทำเว็บเปิดเผย 300 นโยบายพรรคก้าวไกล กว่าจะตั้งโครงการเสร็จ 1 ปี อนุมัติงบฯ 1 ปี จัดซื้อจัดจ้างอีก 1 ปี รัฐบาลหมดวาระแล้ว 3-4 ปี ไม่ได้ทำอะไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจะทำได้ใน 4 ปี สารตั้งต้นจะต้องเอาภาคประชาสังคมมาช่วย ทำให้สำเร็จรูปแล้วโยนให้ข้าราชการเอาไปใช้ ส่วนในระยะยาวค่อยมาปรับในเรื่องกรอบความรู้ ทัศนคติในส่วนข้าราชการ ซึ่งในส่วนของ 300 นโยบาย พรรคก้าวไกลมีเรื่องปรับการวัดผล ทำยังไงให้ระบบราชการทำเพื่อราษฎร และส่งเสริมให้ข้าราชการตัวเล็กตัวน้อยมีโอกาสตามผลงาน”

เขายังทิ้งท้ายการสนทนา ด้วยการเล่าว่าเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของรัฐที่ดีที่สุดคือประชาชน และในกลไกทำได้หลายช่องทาง ซึ่งช่องทางหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ในสภาฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษายกร่างกฎหมาย ได้มีประชาชนผู้มีความเชี่ยวชาญเข้าไปมากขึ้น ทำให้แต่เดิมที่โครงสร้างเป็นพีระมิดประชาชนอยู่ล่างสุด ระบบราชการอยู่ข้างบน และค่อนข้างแข็งตัวกดทับอยู่ กลับกันหากหน้าที่ของรัฐบาลคือรับฟังเสียงประชาชนแล้วสะท้อนขึ้นไปเพื่อได้มาซึ่งนโยบาย ดังนั้นเครื่องมืออย่าง Discord น่าจะถูกใช้เพื่อรับฟังเสียงของประชาชนมากขึ้นในการส่งตรงถึงรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนอย่างสมบูรณ์มากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน