รู้จัก… รุกขกรวิชาชีพ คนแรกของ กทม.

ความเป็นไปได้ ของ นโยบาย รุกขกร 1 คน 1 เขต

ฤดูฝนกระหน่ำกรุงเทพฯ หนักสุดในรอบ 67 ปี เมื่อสัปดาห์ก่อน หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับปัญหาน้ำท่วมที่ต้องเผชิญ แต่ความโชคดีในปีนี้คือ ยังไม่พบการรายงานความเสียหายหนักสำหรับชีวิตและทรัพย์สิน จากกรณีต้นไม้หักโค่นล้มเหมือนกับปีอื่น ๆ ที่ผ่านมา หรือเป็นเพราะว่า เจ้าหน้าที่เกษตรของ กทม. ดูแลต้นไม้ได้เป็นอย่างดี ทำให้ต้นไม้มีความคงทนแข็งแรงมากขึ้น?

ที่ผ่านมา กทม. ร่วมกับสมาคมรุกขกรรมไทย จัดให้มีการอบรมหลักการตัดแต่งต้นไม้ให้ถูกวิธีตามหลักรุกขกรรม กับเจ้าหน้าที่ทั้ง 50 เขต เพื่อให้มีทักษะในการดูแลต้นไม้มากขึ้น แต่ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นรุกขกรมืออาชีพได้ หากไม่ได้ไปสอบเป็นรุกขกรที่มีใบรับรองวิชาชีพตามหลักสากล กับสมาคมรุกขกรรมไทย (Thai Arboriculture Association – TAA)

การผลักดันให้มีรุกขกร 1 คน 1 เขต ตามนโยบายข้อที่ 102 (ระบุให้มีการจัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต) จากทั้งหมด 216 ข้อ ของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงถูกทวงถาม เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลต้นไม้ให้ถูกต้องเหมาะสมในทุกเขตพื้นที่ แต่หากพิจารณาเฉพาะผู้ที่มีใบรับรองวิชาชีพรุกขกรจากสมาคมรุกขกรรมไทย ตอนนี้มีเพียง 1 คนเท่านั้น

ชวนคุยกันว่า ทำไมรุกขกรมืออาชีพถึงมีน้อย แล้วจะทำให้เพิ่มขึ้น ตามเป้าหมายนโยบายของ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ได้อย่างไร…

วลัยลักษณ์ ภูริยากร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ หัวหน้าสวนสราญรมย์ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.

ผู้สวมเสื้อกั๊กสีน้ำตาลในภาพ คือ วลัยลักษณ์ ภูริยากร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ หัวหน้าสวนสราญรมย์ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. หรือ เซียง รุกขกรวิชาชีพ คนแรกของ กทม. ในวัยเพียง 32 ปี จบการศึกษา คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เดิมทีจะหาเจ้าหน้าที่ กทม. ที่จบหลักสูตรด้านวนศาสตร์มาดูแลต้นไม้โดยตรงก็หายากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าพูดถึงเจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้ที่มีใบรับรองวิชาชีพรุกขกรด้วยยิ่งหาไม่ได้เลย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจไปสอบเพื่อวัดความรู้ว่าตัวเอง มืออาชีพแค่ไหน

“เซียงบรรจุเป็นข้าราชการ กทม. ปี 2559 ซึ่งก็มีการตัดแต่งต้นไม้อยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้องค์ความรู้ด้านรุกขกรรมเป็นหลัก ต่อมาราวๆ ปี 2561 เมื่อสมาคมรุขกรรมไทยก่อตั้งขึ้นและเริ่มมีมาตรฐานอาชีพ จึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะยกระดับมาตรฐานงานอาชีพของตัวเอง เลยสมัครสอบเอง จ่ายเงินเองทุกอย่าง เมื่อสอบก็สอบได้ก็มีใบรับรองวิชาชีพ สร้างความชัดเจนในตำแหน่งหน้าที่ว่าเป็นรุกขกร ถ้าไม่ได้สอบเลยและไม่ได้ใบรับรอง ก็อาจไม่ได้รับการยืนยันว่ามีองค์ความรู้อย่างชัดเจน”

เซียง มองว่า จำเป็นอย่างมากที่จะต้องผลักดันให้คนทำงานเกี่ยวกับต้นไม้มีองค์ความรู้มากขึ้น และคนทำงานด้านนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นรุกขกรทุกคน ยังมีองค์ความรู้ที่มากกว่า ทั้งในระดับสากลซึ่งต้องหาความรู้อยู่ตลอด สำหรับเธอแล้วทุกงานที่ออกไปทำ ทุกย่างก้าวที่ออกไปจับต้นไม้ คือประสบการณ์ที่ได้ เพราะต้นไม้แต่ละต้น แต่ละพื้นที่มีบริบทที่ต่างกัน งานรุกขกรรมไม่หยุดนิ่งต้องเรียนรู้อยู่ทุกวัน ที่สำคัญคือต้องใช้ความชำนาญ ประสบการณ์ และความแม่นยำเพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการบริหารจัดการหน้างานของเจ้าหน้าที่จึงเป็นสิ่งทำเป็น และควรได้รับการสนับสนุน

“เราควรมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลต้นไม้โดยเฉพาะ เป็นหน้าที่หลักอย่างเดียว เพื่อให้การดูแลต้นไม้ทำได้อย่างครอบคลุมเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่ปลูกต้นไม้ใน กทม. มีจำนวนมาก ที่ผ่านมาเรายังพบว่าเจ้าหน้าที่ ตกต้นไม้บ่อยมาก การซื้อรถกระเช้า รถตัดแต่ง อุปกรณ์เซฟตี้ ช่วยให้อุบัติเหตุน้อยลง แต่ก็เจ้าหน้าที่ก็ควรได้รับค่าเสี่ยงภัยด้วย เพื่อเป็นค่าขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนปีน เพราะอาจขาหักแขนหักนอนโรงพยาบาลเป็นอาทิตย์”

เซียง ยังเสนอเพิ่มเติมว่า อยากให้การตัดแต่งต้นไม้ต้องมีค่าประกันภัยเป็นรายต้น เหมือนประภัยภัยชีวิต เพื่อจ่ายค่าชดเชยกรณีสร้างความเสียงหาย เพราะปัญหาที่ทำให้ไม้หักหรือล้มอาจจะไม่ใช่การตัดแต่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัจจัยอื่น เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านล่างที่ไม่อำนวยต่อการเติบโตแข็งแรง หรือสิ่งกีดขวางการหยั่งรากของต้นไม้

ทำยังไงให้ต้นไม้ในกรุงเทพฯ ได้รับการดูแลอย่างดี และทั่วถึง

สันติ โอภาสปกรณ์กิจ ผู้ประสานงาน กลุ่ม Big Trees Project กล่าวว่า การจะจัดให้มีรุกขกร 1 คน 1 เขต ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ข้อที่ 102 ที่ระบุว่า “จัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต” เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจาก กทม. มีทั้งหมด 50 เขต หาก 1 เขตมีรุกขกรอย่างน้อย 1 เขต เท่ากับว่าต้องมีรุกขกรทั้งหมด 50 คน ขณะที่ปัจจุบันมีรุกขกรวิชาชีพแค่เพียงคนเดียวเท่านั้น

“นโยบาย 1 รุกขกร 1 เขต แต่ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้มีรุกขกรที่ได้รับใบรับรองของ กทม. มีอยู่คนเดียว ยังขาดอยู่อีก 49 คน ซึ่งเราคงไม่สามารถทำให้มีรุกขกรมากๆ ได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่เราหวังคือ พี่น้องๆ ที่ดูแลต้องไม้ของ กทม. จะพัฒนาทักษะความสามารถของตัวเองขึ้นมาเป็นรุกขกร เพื่อทำให้งานของการตัดแต่งต้นไม้ และเมื่อตัวน้องๆ มีศักยภาพแล้ว ก็สามารถสร้างรายได้ในอนาคตได้มากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย นอกจากมีรุกขกร 1 คน 1 เขต ต่อไปอาจจะมีรุกขกร ทุกสวนก็ได้”

แล้วจะเป็นไปได้ไหม? หากจะทำให้ชุมชนร่วมดูแลต้นไม้ด้วย เหมือนที่ ‘ชัชชาติ สิทธิ์พันธ์’ ผู้ว่าฯ กทม. เคยให้สัมภาษณ์กับ The Active ช่วงก่อนเลือกตั้งว่า “หลักการดูแลต้นไม้เป็นเรื่องที่ควรถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อให้ร่วมกันดูแลได้อย่างทั่วถึง” เรื่องนี้ ‘สันติ’ มองว่า เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากเป็นวัยที่เปิดโอกาส เปิดรับความรู้ใหม่ ๆ ได้ง่าย

“การที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมต้องเร่ิมตั้งแต่ตอนเด็ก หากผู้ว่าฯ มีนโยบายให้น้องๆ ปลูกต้นไม้ก็น่าจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้รักต้นไม้ และร่วมดูแลต้นไม้เมื่อโตขึ้น อย่างที่ทั่วโลกก็มักจะหวังกับเด็กรุ่นใหม่ เพราะยังเปิดรับเรื่องพวกนี้อยู่ มากกว่าผู้ใหญ่ที่มีภาระเรื่องอื่นมากกว่า”

สำหรับต้นไม้ที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ‘สันติ’ มองว่า เป็นต้นไม้ริมถนน เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งเรื่องลักษณะพื้นที่ ที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างแข็งแรง และบริเวณโดยรอบที่ประกอบด้วยผู้คน สิ่งของ และสิ่งปลูกสร้างที่อาจได้รับอันตรายหากว่าต้นไม้ล้ม

“ต้นไม้ในสวนสาธารณะมักจะมีปัญหาน้อยกว่า เพราะในสวนสาธารณะ มีพื้นที่ให้รากขยายตัวได้มากกว่า และมีอันตรายน้อยกว่าต้นไม้ริมถนนเพราะหากมีกิ่งหล่นโอกาสสร้างความเสียหายน้อยกว่า แต่ต้นไม้ริมถนน มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งพื้นที่จำกัด การตัดแต่งที่ผิดวิธี หากกิ่งหักทางไหนก็เสี่ยงทั้งโดยรถ บ้านเรือน และประชาชน ยิ่งต้องได้รับการรักษาดูแลเป็นพิเศษ เพราะอ่อนแอกว่าต้นไม้ในสวน”

ความเป็นไปได้ในเชิงการบริหาร ให้ทุกพื้นที่มี ‘รุกขกร’

ด้าน พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ทำงานด้านเกษตรของ กทม. มีความรู้ ความสามารถ ความเข้าใจเรื่องการดูแลต้นไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งทาง กทม. มีความพยายามจะยกระดับให้เจ้าหน้าที่สามารถเป็นรุกขกรมืออาชีพได้ โดยเริ่มขยายจากรุกขกร 1 คน เป็นรุกขกร 6 คน ดูแลพื้นที่โดยแบ่งโซน กทม. เป็น 6 เขต จากนั้นจึงช่วยกันอบรมจนทำให้มีรุกขกรทั้ง 50 เขตของ กทม. โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กรมป่าไม้ สมาคมรุกขกรรมไทย เป็นต้น

“การเป็นรุกขกรจะสามารถทำให้เจ้าหน้าที่ยกระดับตัวเอง ยกระดับอาชีพ ซึ่งอาจจะช่วยให้หารายได้เพิ่มเติมจากส่วนอื่นได้จากทักษะที่มี เบื้องต้นจากที่คุยใน กทม. หรือ ภาคประชาสังคมพบว่า มีคนที่เก่งมากๆ และพร้อมอยู่แล้ว ใครที่พร้อมเราพร้อมส่งเสริมอยู่ได้ เพียงแค่ติวเพิ่มอีกนิดหน่อยเท่านั้น”

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ด้านฝ่ายปฏิบัติการอย่าง ‘สมศักดิ์ เตียงงา’ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยว่า การที่เจ้าหน้าที่ได้รับการอบรมทักษะรุกขกรจะทำให้มีความรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ในการนำมาใช้ทำงาน ซึ่งต่างจากปกติที่เห็นว่าส่วนไหนขวางก็ตัด มาเป็นการตัดตามความเหมาะสมตรงหลักรุกขกรรม ทำให้ตัดต้นไม้ได้สวยงามและมีความปลอดภัยต่อประชาชนโดยรอบ

“ถ้าการตัดแบบถูกวิธี ก็จะพิจารณากิ่งที่ต้องเอาออก กิ่งที่เป็นโรค กิ่งที่แห้ง มีความเสี่ยงที่จะหัก เขาก็จะสอนว่าอันไหนควรตัดหรือไม่ควร การตัดก็ต้องดูว่าเราเสี่ยงอันตรายมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่จำเป็นก็ต้องหลีกเลี่ยงไม่ตัดให้มันกุด ที่ผ่านมามีการอบรมเป็นระยะๆ อยู่แล้ว ค่อนข้างจะถี่ ทำให้เจ้าหน้าที่มีความรู้มากขึ้นพอสมควร และทำให้การทำงานเป็นระเบียบมากขึ้นจากการตัดที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก”

ในส่วนของการผลักดันให้เกิดรุกขกรในทุกเขต ‘สมศักดิ์’ แสดงความเห็นว่า ต้องใช้เวลา เนื่องจากการสอบวิชาชีพรุกขกรต้องใช้ความรู้พอสมควร และเจ้าหน้าที่บางคนอาจมีอุปสรรคในเรื่องค่าใช้จ่าย

“หากเป็นการปฏิบัติก็น่าจะทำได้ดี แต่ถ้าให้ไปสอบทุกเขตอาจจะลำบาก เนื่องจากการสอบก็มีค่าใช้จ่ายไม่ได้สอบฟรี ถ้าการที่ กทม. สนับสนุนก็น่าจะดี หรือถ้าเกิดว่ามีค่าตอบแทนให้มากกว่าเดิม เมื่อเจ้าหน้าที่หรือคนงานมีใบรับรองการเป็นรุกขกรก็น่าจะเป็นแรงจูงใจได้มากขึ้น เพราะปกติก็ทำงานประจำวัน ไม่ได้คิดว่าจะต้องเสียเงินเสียทองไปสอบเอาใบมา แต่ถ้าสนับสนุนมีค่าใช้จ่ายให้ ก็น่าจะดี”

‘สมศักดิ์’ ยังย้ำว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ดูแลต้นไม้ มีความต้องการอยากให้ต้นไม้ในเมืองออกมาสวยเช่นกัน แต่การดูแลก็มีความท้าทายหลายเรื่อง ทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น สิ่งกีดขวางการเติบโต และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต่างออกไป เช่น บางคนต้องการให้ตัดเยอะๆ ส่วนบางต้นต้องการให้ตัดเพียงเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ก็ทำงานอยู่บนหลักการของความปลอดภัย และความสวยงาม ของต้นไม้ในเมือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้