“ปริญญา” ที่มากกว่า “กระดาษใบเดียว” | วิทยากร เชียงกูล

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว…”

เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทอง มิ.ย. 2511

บทกวีที่นักศึกษาหนุ่มชื่อ “วิทยากร เชียงกูล” แต่งขึ้น ระหว่างค้นหาความหมายของชีวิต ผ่านการเรียนรู้ในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2511

ช่วงเวลาที่ไฟแห่งความหวังควรจะลุกโชน กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่เขายอมรับว่า หดหู่ และหมดความหวังกับระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพราะสิ่งที่เขาได้จากมหาวิทยาลัย ตลอด 4 ปี หนีไม่พ้นหลักสูตรท่องจำ และสอนย้ำตามตำรา ไม่ต่างจากสิ่งที่เคยได้รับจากรั้วโรงเรียน

“มืดจริงหนอ สถาบัน อันกว้างขวาง
ปล่อยฉัน อ้างว้าง ขับเคี่ยว
เดินหา ซื้อปัญญา จนหน้าเซียว
เทียวมา เทียวไป ไม่รู้วัน”

เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทอง มิ.ย. 2511

จนท้ายที่สุด ใบปริญญา 1 ใบ ที่ได้มา ไม่ต่างจากเศษกระดาษเพียงแผ่นเดียวที่มหาวิทยาลัยให้กับเขา

สิ่งที่คิด ส่งผ่านบทกวี จากวันนั้นผ่านมา 52 ปี ยังเป็นวลีติดปากจนถึงตอนนี้ เช่นเดียวกัน แนวคิดนี้ ยังนำมาสู่ความพยายามแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย ทั้งตัวเจ้าของบทกวีเอง และนักการศึกษาที่ต้องการปฏิรูปการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นจริง

รศ.วิทยากร เชียงกูล กับบทบาทอาจารย์พิเศษวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หันกลับไปมองสิ่งที่เขารู้สึกตอนนั้น แม้มีบางสิ่งที่ยังคล้าย ๆ กันอยู่ แต่ถ้าเทียบกันที่ระบบการศึกษา เขากลับเห็นว่าดีขึ้นกว่าเก่า อย่างน้อย ๆ สิทธิ เสรีภาพการเรียนรู้ ค้นคว้า เปิดประสบการณ์ด้วยการปฏิบัติจริง คือ สิ่งที่มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ ให้กับนักศึกษาได้มากกว่าในอดีต

“ค่านิยม” สังคมปริญญา

ส่วนที่ยังมองว่าคล้ายกัน คือ “ค่านิยม” ที่สังคมให้คุณค่ากับใบปริญญา โดยเฉพาะระบบจ้างงานไม่ว่ายุคสมัยใด ก็ให้ค่ากับเรื่องนี้มาเป็นที่หนึ่ง จนบางครั้งทักษะ ฝีมือ ประสบการณ์ อาจถูกพูดถึงเป็นลำดับรอง ถ้าใครจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ นั่นหมายถึงการได้สิทธิในตำแหน่งงานดี ๆ หรือถูกพิจารณาเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่น ๆ

แต่วิวัฒนาการทางสังคม และการศึกษาที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ในที่สุดใบปริญญาอาจไม่ใช่ทุกอย่างที่ถูกใช้ตัดสินใจเพื่อรับคนเข้าทำงาน เฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการเอกชนหลายแห่งในตอนนี้ ที่เน้นคัดสรรบุคลากรจากฝีมือและศักยภาพ มากกว่าการศึกษา

“เมื่อก่อนคนจบปริญญามีตัวเลือกเยอะ เลือกงานได้ ผิดกับสมัยนี้ ที่คนมีปริญญากันจนเฟ้อ จบไปไม่มีงานทำ สังคมยุคนี้จึงต้องเรียนรู้ว่า จะเรียนจบ ไม่จบ แต่ถ้าเก่งก็สามารถพัฒนาตัวเองเป็นนักบริหาร นักธุรกิจได้ เพียงแต่ค่านิยมหลัก ๆ ก็ไม่เปลี่ยนไปมาก ผู้คนยังอยากให้ลูกหลานได้ปริญญา เพราะนั่นหมายถึงสถานะทางสังคม โดยเฉพาะคนในชนบท ทำไร่ ทำนา ก็อยากส่งลูกเรียนสูง ๆ จบมาได้ปริญญา นั่นเท่ากับการเลื่อนสถานะทางสังคมเลย เพราะสามารถส่งลูกเรียนจนจบได้ทำงานห้องแอร์ เงินดี งานสบาย ไม่ต้องมาลำบาก นี่คือค่านิยมที่อยู่คู่กับสังคมไทย”

มองถึงแก่น “เรียนรู้ตลอดชีวิต”

เมื่อสังคมไทยยังติดกับค่านิยมแบบนี้ การรับปริญญาจึงไม่ต่างจากการเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย พวกเขาอาจเชื่ออีกแบบ

เพราะหากมองจากความจริง รศ.วิทยากร ก็ยังเชื่อว่า ความสำเร็จที่ได้มาอาจไม่มีคุณค่าก็ได้ ถ้าไม่สามารถทำให้บัณฑิตได้ก้าวไปสู่การตั้งหลักชีวิตทำงานที่ดี จะมีประโยชน์อะไรถ้าวันเรียนจบ ต้องมาฟุ่มเฟือย และลงทุนกับสิ่งที่ไม่จำเป็น สร้างภาระค่าใช้จ่ายกับการรับปริญญา

จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าการรับปริญญา ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดาและเกิดจากความสมัครใจที่สำคัญมากกว่าพิธีการ หรือ งานเฉลิมฉลองใด ๆ สิ่งที่ รศ.วิทยากร เน้นย้ำ คือ แก่นแท้ของการศึกษา ที่ต้องเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบ นั่นหมายถึงต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะหากจะเทียบกับต่างประเทศ ชัดเจนว่าค่านิยมในใบปริญญาอาจจะไม่ถูกให้ค่าเท่ากับบ้านเรา

จบการศึกษา ไม่หยุดแสวงการเรียนรู้

เขายกตัวอย่างวันสำเร็จการศึกษาของสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่สหรัฐอเมริกา ไม่ค่อยเน้นพิธีการใหญ่โต แต่เขาเน้นที่เนื้อหา เรียกว่าเป็น “วันเริ่มต้นใช้ชีวิต”

สิ่งที่เขาทำ คือ เชิญคนเก่ง ๆ คัดเลือกนักศึกษาเกียรตินิยม หรือผู้คนซึ่งเป็นที่ยอมรับ และประสบความสำเร็จในชีวิต มาพูดสร้างแรงบันดาลใจ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้บัณฑิตได้นำสิ่งที่ได้ไปต่อยอดก้าวไปสู่ชีวิตวัยทำงาน

แต่สำหรับการรับปริญญาของบ้านเรา คือ “วันจบการศึกษา” ซึ่งก็สะท้อนชัดเจนถ้าจะตีความแค่ตัวอักษร เพราะจบในที่นี่ อาจหมายถึงมองการศึกษาแบบหยุดนิ่ง ไม่พยายามสร้างหลักคิดใด ๆ จากการรับปริญญาเพื่อไปใช้ดำเนินชีวิต

“เมืองไทยเรียนจบ วันรับปริญญาเรามองที่ความสนุกสนาน เอาตุ๊กตามาให้บัณฑิต ทั้งที่ความจริงต้องสร้างให้เขารับรู้ชีวิตที่ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น จะยินดีกันแบบเด็ก ๆ ไม่ได้ ต้องมอบข้อคิด ให้แนวทางการใช้ชีวิต นี่คือสิ่งบ่งบอกว่าสังคมไทยมองค่านิยมการรับปริญญาแบบสำเร็จรูป เพราะไม่ใช่แค่วันจบการศึกษา แต่ต้องเป็นวันที่เริ่มต้นพัฒนาตัวเองต่อไป เพราะลักษณะของบัณฑิตที่ดีต้องไม่คิดถึงแต่ตัวเอง จะก้าวหน้าในชีวิต มีงานสบาย เงินดี ๆ ใช้อย่างเดียว แต่ต้องใจกว้าง คิดให้ได้ด้วยว่า จะทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง”

ผู้ร่ายบทกวี เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน เมื่อ 52 ปีก่อน ยังฝากแง่คิดว่า แม้ท้ายที่สุดไม่ว่าใบปริญญาจะยังมีคุณค่าอยู่หรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ต้องนำกลับมาใช้เพื่อทบทวนตัวเอง ว่าอะไรที่ยังไม่รู้ ก็ต้องค้นคว้าต่อ อะไรที่รู้อยู่แล้ว จะต่อยอดให้พัฒนากว่าเดิมได้อย่างไร เพื่อนำปัญญาที่ได้จากการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยมาแก้ไขปัญหาสังคม

ถึงตรงนี้ จะรับหรือไม่รับปริญญา ก็เป็นเพียงแค่ทางผ่าน เพราะสาระสำคัญ คือ ชีวิตต้องไม่หยุดแสวงหาการเรียนรู้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น