25 ปี ความหวัง คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน “กะเหรี่ยงบางกลอย”

กะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กับการเรียกร้องสิทธิมายาวนาน มากกว่า 2 ทศวรรษ มาถึงครั้งนี้ พวกเขา เอาชีวิตเป็นเดิมพัน หากไม่สามารถกลับไปดำรงวิถีในพื้นที่เดิมกลางป่าลึก “ใจแผ่นดิน” 

นี่เป็นอีกปัจจัยเร่งให้ภาคประชาสังคม ร่วมส่งเสียงทวงถามสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมอีกครั้ง

ให้รัฐเร่งใช้กฎหมายด้านบวก…

เปิดช่องคุ้มครองวิถีชีวิตกะเหรี่ยงบางกลอย…

สนับสนุนและส่งเสริม เส้นทางที่พวกเขาเลือกดำรงวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม 

เพื่อนำไปสู่การยุติข้อพิพาท และความผิดพลาดของรัฐยาวนานมากว่า 20 ปี

หน่อแอะ มีมิ ลูกชายของ โคอิ มีมิ หรือ “ปู่คออี้” 
ภาพ: Natthaphon Suwanpakdee

เป็นเรื่องที่สร้างความรู้สึกหดหู่และสะเทือนใจต่อผู้ได้รับฟัง กับเสียงสะท้อนของ หน่อแอะ มีมิ วัย 59 ปี ลูกชายของ โคอิ มีมิ หรือ “ปู่คออี้” นักต่อสู้และผู้นำจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

สะท้อนถึงเหตุผลสำคัญที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อพยพกลับขึ้นไปยังป่าลึกใจแผ่นดิน นอกจากปัญหาความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง ไม่มีที่ทำกิน หรือไม่สามารถทำกินได้ตามวิถีเดิม เพราะพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ เป็นหิน แห้งแล้ง บางส่วนต้องทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่พึ่งพาปัจจัยภายนอก ต้องหาเงินมาซื้อปุ๋ย สารเคมีในการเพาะปลูก แต่ไม่มีเงินเหลือซื้อข้าวรวมทั้งการใช้ชีวิตไม่สอดคล้องกับวิถีเดิมแล้ว

ภาพ: Natthaphon Suwanpakdee


อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ คือ เหตุผลในเชิงวัฒนธรรม ที่ลูกหลานปู่คออี้ตกลงพร้อมใจกันอพยพกลับขึ้นไปป่าใหญ่ใจแผ่นดิน เพราะต้องการไปปลูกข้าว ทำไร่หมุนเวียน เพื่อเอาผลผลิตมาประกอบพิธีทำบุญ ส่งดวงวิญญานปู่คออี้ให้สมบูรณ์ โดยพิธีกรรมนี้จะนำข้าวจากที่อื่นมาประกอบพิธีไม่ได้ เพราะเป็นพิธีสำคัญ ต้องทำบนแผ่นดินเกิด และต้องมีการปลูกข้าวในพื้นที่ทำกินเดิมที่ปู่คออี้เคยใช้เลี้ยงลูกหลานจนเติบใหญ่

พวกเขาต้องการใช้ข้าวนั้นมาประกอบพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณ และเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน เมื่อจัดพิธีเสร็จ ชาวบางกลอยก็ตั้งใจจะกลับไปใช้ชีวิตตามวิถีในพื้นที่เดิม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ไล่รื้อผลักดันลงมาในปี 2554  หน่อแอะ ยังกลั่นความในใจ ถึงขั้นลั่นเดิมพันด้วยชีวิต หากเจ้าหน้าที่ไม่ให้กลับไปอยู่พื้นที่เดิม


“การเดิมพันด้วยชีวิต” ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ วัฒนธรรมความเชื่อ คือ สิทธิที่ควรได้รับการเคารพคุ้มครอง

สุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

สุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น แสดงความกังวล ต่อกรณีดังกล่าว เพราะมองว่าไม่ใช่การขู่ หรือพูดเล่น ๆ ซึ่งเคยมีกรณีตัวอย่างของชาวกะเหรี่ยงที่ประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันมาแล้ว ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง และเป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กว่าร้อยละ 70 โดยชาวกะเหรี่ยงมีความเคารพในวัฒนธรรม ความเชื่อทางจิตวิญญาณ หากไม่สามารถทำตามวิถีความเชื่อ รวมทั้งหมดหวัง สิ้นหวังในชีวิตทุกอย่างแล้ว จะตัดสินใจเดินหายเข้าป่าไป หรือที่ชาวบ้านบอกว่าหายไปเพื่อจบชีวิต

สุมิตรชัย ต้องการสร้างความเข้าใจด้วยว่า เรื่องความเชื่อ ความศรัทธา วิถีวัฒนธรรม เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ที่รัฐต้องเคารพ คุ้มครอง ซึ่งความเชื่อวิถีวัฒนธรรมจะถูกจำกัดก็ต่อเมื่อ 1. เป็นภัยต่อความมั่นคง 2. เป็นปัญหาต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้น สิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยดำเนินอยู่ ไม่ได้ขัดกับข้อจำกัดตรงนี้

“ต้องตั้งคำถามว่า การที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยต้องการทำตามวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ ความกตัญญูต่อผู้นำจิตวิญญานที่พวกเขาเคารพ ซึ่งหากมองย้อนไปโดยความตั้งใจของปู่คออี้ ก็อยากกลับไปที่บ้านเกิดตั้งแต่มีชีวิตอยู่ แต่เมื่อเสียชีวิตแล้ว ลูกหลานก็อยากสานต่อความตั้งใจ ทำตามความเชื่อ นำอัฐิกลับไปประกอบพิธีส่งดวงวิญญานในบ้านเกิด และย้ายกลับไปดำรงชีวิต ดำเนินวิถีทำไร่หมุนเวียนที่เป็นความมั่นคงในชีวิต ความมั่นคงทางอาหารของพวกเขา เลือกกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน พวกเขาผิดตรงไหน ตรงกันข้าม เป็นการช่วยรัฐด้วยซ้ำ ที่ไม่ต้องนำเงินภาษีมาช่วยเหลือ จัดสรร หรือทำโครงการที่แก้ไขปัญหา แล้วเราได้เห็นแล้วว่าไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากว่า 20 ปี จึงควรหนุนเสริม คุ้มครองให้พวกเขาเข้มแข็งอยู่ได้ ตามเส้นทางที่พวกเขาเลือกเอง”


สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองว่าสิ่งที่บุตรชายปู่คออี้สะท้อนออกมา ไม่ได้สะท้อนแค่เรื่องความเชื่อ แต่คือภูมิปัญญาที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้สั่งสมมา ชุมชนดั้งเดิมจึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเขา ทั้งบ้าน จิตวิญญาณ วัฒนธรรม ว่าจะให้คนที่เกิดและคนที่ตายอยู่ในพื้นที่ของเขาอย่างไร และสิ่งที่เขาดำเนินก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า  มันเหมาะสมกับเขา ทำให้ชีวิตเขามีความสุข จึงเป็นความหวังที่จะกลับไปทุกวัน ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ จะเอาภูมิปัญญา หรือความเชื่อของกลุ่มอื่นที่คิดว่าดี คิดว่าถูกไปตัดสินแทนไม่ได้ 

“ทุกเรื่องมันมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมด ทั้งความเชื่อ พื้นที่ตัวบุคคล นิเวศธรรมชาติเรื่องเหล่านี้ ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นส่วนเชื่อมร้อยกันวิถีภูมิปัญญาที่เขาดำเนินมา ล้วนเป็นส่วนเดียวกันกับธรรมชาติ สามารถช่วยรักษาดูแลธรรมชาติไว้ได้ แปลกใจเมื่อพบจระเข้พบช้างในป่าต่างตื่นเต้นดีใจ แต่กลับกัน พบคนหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่ามาเป็นร้อย ๆ ปีก่อนประกาศเขตอุทยาน กลับบอกว่าพวกเขาอยู่ไม่ได้”

เขายังย้ำอีกว่า “เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม แต่ต้องเรียกร้องสิทธิ โดยใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน กับหลักคิดการจัดการของรัฐยังย่ำอยู่กับที่”

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังระบุถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่มีความชัดเจนว่าบ้านบางกลอยและใจแผ่นดิน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม 



ในถ้ำที่ ใจแผ่นดิน มี ขวานหิน ของคนก่อนประวัติศาสตร์ เป็นขวานหินขนาดใหญ่ ที่สามารถเอามาขุด ตัด ให้ประโยชน์ได้หลายอย่าง มีร่องรอยการใช้จริง ซึ่งยืนยันได้ชัดเจนว่า ชาวบ้านอยู่กันมานับร้อยนับพันปีแล้ว 


แผนที่กรมทหารปี 2455 ระบุว่านี่คือ “บ้านใจแผ่นดิน” เป็นชื่อระวางแผนที่ชัดเจน ทำมาหลาย ๆ แผนที่ ก็ยังมีบ้านนี้อยู่ แสดงชัดว่าเป็นที่รับรู้ของรัฐ ปรากฏเสมอมาหลายร้อยปี หลังจากนั้น ก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน มีกำนัน มีผู้ใหญ่บ้าน สมัยก่อนขึ้นกับอำเภอสองพี่น้อง และตอนนั้น ยังไม่ตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ในปี 2512 ก็มีการออกเอกสาร ออกเหรียญให้ เรียกว่า เหรียญชาวเขา ที่ชาวบ้านที่นี่ก็ได้รับ ปู่คออี้ก็มอบให้ลูกชายไว้ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาเป็นคนไทย 

และในปี 2528 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ก็ยกทีมใหญ่เดินสำรวจบริเวณนี้  นัดชาวบ้านให้นำทาง ในปี 2531 มีการทำเอกสารสำรวจชาวเขา ที่ยืนยันว่าชาวบ้านเป็นคนไทย ตอนนั้นก็เจอปู่คออี้ ที่เกิดปี 2454 เป็นคนที่นี่ มีชาวบ้านทั้งหมดเท่าไร ที่น่าสนใจ คือ ชาวบ้านมักจะอยู่ห่าง ๆ กัน แยกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ใจแผ่นดินหนึ่ง ใจแผ่นดินสอง และมีบางกลอยที่มีกลุ่มบ้านมากที่สุด 6 บางกลอย เกิดเป็นการออกบัตรประชาชนให้  หลักฐานทั้งหมดมันชัดว่าเขาอยู่มาก่อน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

แต่มาเปลี่ยนแปลงเอาในปี 2539 เมื่อเจ้าหน้าที่ไปบังคับให้ชาวบ้านลงมา กลายเป็นบางกลอยล่าง ทั้งที่จริง ๆ มีบางกลอยเดียว พอมาอยู่ก็ลำบากกันมาก 

กระทั่งชาวบ้านต้องอพยพกลับขึ้นไปอยู่เช่นเดิม เพราะอยู่กันไม่ได้…

แต่ที่ลำบากที่สุด คือ ปี 2553-2554 เจ้าหน้าที่ใช้ยุทธการตะนาวศรีไปเผาบ้านชาวบ้าน 98 หลังคาเรือน เผาจนหมดเกลี้ยง 

“ต้องบอกว่า ปฏิบัติการในครั้งนั้น เป็นการเผา ทำลาย ไล่ รื้อ ไม่ได้เป็นการอพยพชาวบ้าน ไม่มีการจัดการดูแลการเคลื่อนย้ายเดินทาง ชาวบ้านต้องกะเสือกกะสนหาที่อยู่เอง ลำบากต้องนอนในป่า 4-5 วัน ไม่มีใครไปดูแลให้การช่วยเหลือใด ๆ”

ด้าน ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น มองเรื่องนี้ เป็นปัญหาความขัดแย้ง 2 เรื่อง คือ รัฐไม่ได้มองกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มเป็นพลเมืองเต็มร้อยตั้งแต่แรก ในการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ จะถูกเรียกว่าชาวเขาทั้งหมด สร้างภาพจำ และแปะป้ายว่า เป็นพวกเขา ไม่ใช่เรา – เป็นคนอื่น ไม่ใช่คนไทย 

และอีกเรื่อง คือ รัฐไทยจัดให้กลุ่มชาติพันธุ์อยู่ตามหลักมนุษยธรรม แต่ไม่ได้ใช้หลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากเป็นหลักสิทธิมนุษยชน คนทุกคนจะต้องเท่าเทียมกัน

“นอกจากนี้เมื่อมาดูกฎหมายป่าไม้ ยึดหลักทรัพยากรเป็นของรัฐ และรัฐประกาศยึดที่ดินของชาวบ้านผ่านกฎหมายป่าไม้  คือ ไม่มีเอกสารสิทธิยึดทั้งหมด ไม่มีเอกสารสิทธิ คือผิดกฎหมาย ในสมัยก่อนชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ห่างไกลอยู่ในป่าลึก ตกสำรวจจะมีเอกสารสิทธิอย่างไร นั่นเป็นอีกปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ปี 2504 แล้ว และตอนนี้หลักคิดเหล่านี้ ยังคงอยู่”


กฎหมายเปิดช่อง คุ้มครองวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง คืนสิทธิชุมชน ท้องถิ่นดั้งเดิม

ภาพ: Natthaphon Suwanpakdee

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าปัญหาไม่ถูกแก้ไข เพราะรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ หากดูคำพิพากษาของศาลปกครอง คดีที่ปู่คออี้และชาวบ้านฟ้องกรณีเจ้าหน้าที่เผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ตอนแรกคำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินว่า ชาวบ้านบุกรุกป่า แต่ในชั้นศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้ว กลับกันไม่มีคำว่าชาวบ้านบุกรุกป่า และบอกว่าชาวบ้านอยู่มาเนิ่นนานแล้ว เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่เป็นปกาเกอะญอในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และบอกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ที่ไม่ชอบเพราะมันผิด 4 เรื่อง หนึ่ง เป็นการกระทำโดยรู้สึกนึกถึงผลเสียหาย สอง เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็น สาม ไม่ปฏิบัติการตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ ที่ต้องไปติดป้าย ไปชี้แจงก่อน แล้วฟ้องศาล ไม่สามารถจะใช้วิธีนี้ได้ และ สี่ เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพยากร ที่ให้ยุติการจับกุมและให้การคุ้มครอง ตนยืนยันว่าศาลเขียนไว้อย่างชัดเจน เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่อุทยานต้องปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะยืนยันใช้มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าไม่ได้

“ส่วนประเด็นชาวบ้านขอกลับไปพื้นที่เดิม ศาลมองว่า ยังกลับไม่ได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ คือศาลจะพิจารณาอะไรก็ต้องมองถึงหลักฐาน ฉะนั้น การที่ชาวบ้านจะมีเอกสารสิทธิ์จะทำยังไง ก็ต้องไปปฏิบัติตามมติ ครม. 3 ส.ค.2553 ยุติการจับกุม ให้การคุ้มครอง หากเกิดข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ดั้งเดิม คือ เจ้าหน้าที่อ้างเป็นเขตป่า ชาวบ้านบอกเป็นพื้นที่ดั้งเดิม ก็ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งกรรมการที่ว่า ก็มีทั้งผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักสิทธิมนุษยชน เพื่อมาพิจารณา ถ้าพบว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน ก็เพิกถอนพื้นที่ คืนให้กับชาวบ้าน แนวทางมีอยู่แล้ว ศาลก็ตัดสินให้ดำเนินการตามมติ ครม. นี้อยู่แล้ว ตนจึงอยากเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการตามนี้ หากไม่ดำเนินการนอกจากสะท้อนว่าไม่เรียนรู้ในข้อผิดพลาด ยังถือว่าไม่ได้อ่านคำพิพากษาทั้งหมดของศาล เพราะหากดูทั้งหมดจะเห็นตามนี้”

ด้าน ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น มองว่ารัฐควรใช้กฎหมายเชิงบวก ทั้งในประเทศและที่เป็นที่ยอมรับในสากล มาดำเนินเพื่อยุติข้อพิพาทและความผิดพลาดที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหานี้ 

ซึ่งหากดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐพึงส่งเสริมและให้การคุ้มครอง ชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิม ตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข 

“การจะแก้ไขเรื่องนี้ได้ รัฐต้องยอมรับความจริง โดยข้อมูลทั้งประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ก็เห็นชัดว่าชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อน รัฐต้องยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่ไปเผา ไล่ รื้อ ผลักดันพวกเขาลงมา แต่เมื่อพวกเขาเลือกแล้ว จะกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม อยู่ตามวิถีเดิม รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้เขา”

และใน พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง แม้จะพ้นระยะ 240 วันที่กำหนดไว้  ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะการระบุวันเอาไว้ก็เพื่อเป็นการเร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้นหากมีการตกหล่น ก็สามารถดำเนินการต่อได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ซึ่งการแก้ไขและยุติข้อพิพาทนี้ ที่ให้ชุมชนดั้งเดิมอยู่ในป่าร่วมกับการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ยังเป็นส่วนสำคัญของการผลักดันเพื่อให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับกรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่ใช้การทำงานร่วมกับชุมชน ผ่านโมเดลโครงการจอมป่า

ทั้งนี้ เห็นว่าเป็นทิศทางที่ดีที่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ฟีมูฟ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่สำรวจปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ และมีข้อสรุปเสนอ เพื่อเยียวยา คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชาวบางกลอย  

ทั้งนี้ ยังเห็นว่าหากมีการจัดทำแผนงานหรือการดำเนินโครงการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาตามข้อสรุป สิ่งสำคัญจะต้องให้เกิดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อวางแนวทาง หาทางออกเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมร่วมกัน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ