คณะทำงาน ทส. เปิดผลลงพื้นที่แก่งกระจาน

ยืนยันข้อมูลชาวบ้านเดือดร้อนจริง หลังถูกอพยพ เสนอผ่อนปรน พร้อมเร่งหาที่ดินให้คนที่เดือดร้อน

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เครือข่ายประชาชน ออกแถลงการณ์กรณีปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 26-28 ม.ค. 2564 ระบุ พบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ดังนี้

1. ชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีหลักฐานการก่อตั้งชุมชนไม่ต่ำกว่าปี 2455 ปรากฏหลักฐานตามแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบก นอกจากนั้นยังพบหลักฐานตามบัตรประชาชนของ “ปู่คออี้” หรือ โคอิ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณของชุมชนบ้านใจแผ่นดิน ที่เกิดในปี 2454 หรือ 30 ปีก่อนมีกฎหมายป่าไม้ฉบับแรก และ 50 ปี ก่อนมีกฎหมายอุทยานฉบับแรก รวมทั้งยังมีหลักฐานอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ยืนยันได้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยและใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นด้วยเดิมที่ตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน

2. หลังการอพยพตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา มีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรที่ดิน ส่วนหนึ่งสามารถปรับตัวอยู่กับวิถีชีวิตใหม่ได้ แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถปรับตัวและดำรงวิถีชีวิตในพื้นที่ใหม่ได้ นอกจากนั้น ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ตั้งแต่การอพยพในช่วงปี 2539-2541 และ 2553-2554 ซึ่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์ 30 ครอบครัว มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 3 ครอบครัว รวมประมาณ 20 ไร่เศษ อีก 27 ครอบครัวไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเลย ซึ่งคนกลุ่มนี้พยายามปรับตัวด้วยการรับจ้างแรงงานทั้งในและนอกชุมชน แต่มีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

3. มีชาวบ้านบางกลอยล่างที่กลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ประมาณ 62 คน ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 20 คน และผู้หญิง 15 คน หนึ่งในนั้นตั้งครรภ์ 8 เดือน

4. เหตุผลที่ชาวบ้านบางกลอยล่างเดินทางกลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มีดังนี้

4.1. เหตุผลในเชิงวัฒนธรรม การทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณปู่คออี้กลับไปยังใจแผ่นดิน ส่วนสำคัญคือลูกหลานต้องปลูกข้าวไร่ด้วยตนเอง เพื่อใช้ในพิธีกรรมและเลี้ยงผู้มาร่วมงาน พิธีกรรมจึงจะสมบูรณ์ ดวงวิญญาณของปู่คออี้จึงจะไปสู่สุคติตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ

4.2. ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อพยพตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ยืนยันว่าไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี พวกเขามีฐานะยากจน เนื่องจากมีรายได้จากการรับจ้างแรงงานเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงตัดสินใจกลับไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ไร่ซากเดิม

5. การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมอาชีพ พบว่า กลุ่มที่กลับไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีรายได้จากการรับจ้างเพียง 20,000-30,000 บาทต่อปีโดยประมาณ

6. เหตุผลที่กลุ่มผู้ถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แล้วมาได้รับสัญชาติภายหลัง กลุ่มเหล่านั้นจึงตกหล่นและไม่สามารถเข้าถึงการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่กล้าแสดงตนเพื่อรับความช่วยเหลือจากการมีปัญหาด้านสัญชาติ

จากข้อค้นพบดังกล่าว คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอ เพื่อเยียวยาและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชาวบางกลอย ดังต่อไปนี้

1. ผ่อนปรนให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนและประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรม ในพื้นที่บรรพบุรุษ บริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถทำได้ ดังเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

2. เร่งรัดดำเนินการจัดหาที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน จากการไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบางกลอยล่าง โดยเร่งด่วนที่สุด โดยมีเป้าหมาย กระบวนการ และระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน

3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการ ลงรายการสัญชาติไทย แก่ราษฎร ในหมู่บ้านบางกลอย

4. ให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สถาบันวิชาการ ได้แก่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

5. ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ กำกับ ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการตามข้อ 1 – 4 โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ปลัดหรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน อธิบดีกรมอุทยานฯ กรมการปกครอง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และผู้แทนชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว