2475 ร่องรอยความเหลื่อมล้ำ มรดกการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ

90 ปี อภิวัฒน์สยาม กับความหมายของ “คนเท่ากัน”

90 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากให้นิยามว่า 24 มิถุนายน 2475 คือ “การอภิวัฒน์สยาม” นั่นหมายความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า ซึ่งเหตุผลที่ ปรีดี พนมยงค์ ไม่เลือกใช้คำว่า “การปฏิวัติสยาม” เพราะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการกระทำของคณะบุคคลที่ยึดอำนาจการปกครองในอีก 26 ปีให้หลัง ในนาม “คณะปฏิวัติ” กลับเป็นการเปลี่ยนระบบสังคมให้ถอยหลังกลับไป 1

ไม่ว่าจะให้คำนิยามแบบใด การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 90 ปีก่อน ไม่เพียงเป็นวาระที่มักนำมารำลึกสะท้อนความตื่นตัวทางการเมืองการปกครองของไทย แต่ยังมีสิ่งที่ถูกปักหมุดและกลายเป็นวาทกรรมจนถึงปัจจุบัน คือ “คนเท่ากัน”

เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี ที่เผยแพร่ในปีต่อมา มีสาระสำคัญเป็นร่างแผนเศรษฐกิจเพื่อปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน หรือที่รู้จักในนาม สมุดปกเหลือง หวังให้รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของราษฎร ในช่วงที่ไทยเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “แนวคิดรัฐสวัสดิการของสังคมไทย

“…ราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชรา ทำงานไม่ได้ก็ดี ราษฎรจะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตเมื่อรัฐบาลประกันได้เช่นนี้แล้ว ราษฎรทุกคนจะนอนตาหลับ เพราะตนไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเจ็บป่วยหรือพิการหรือชราแล้วจะต้องอดอยาก หรือเมื่อตนมีบุตรจะต้องเป็นห่วงใยในบุตร เมื่อตนได้สิ้นชีพไปแล้วว่าบุตรจะอดอยากหรือหาไม่ เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกันอยู่แล้ว การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง เพราะเงินทองนั้นเองก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยงแท้…”

ตอนหนึ่งในหมวดที่ 3 ของเค้าโครงการเศรษฐกิจ “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” 2

แต่อีกด้าน เรื่องนี้ก็ถูกมองว่าเป็นแนวคิดแบบ “คอมมิวนิสต์” และถูกปัดตกไปในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเองโดยไม่ผ่านสภา และนำมาสู่การรัฐประหารครั้งแรก กระทั่ง ปี 2516 แนวคิดสวัสดิการโดยรัฐ ก็ถูกพูดถึงอีกครั้งผ่านงานเขียนของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในชื่อ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

น่าสนใจว่า ผ่านมาแล้ว 90 ปี สังคมไทยก็ยังอยู่ในวังวนความขัดแย้งทางการเมือง การปะทะกันของ 2 ขั้วความคิด ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังทวีความรุนแรงมากขึ้น

The Active พูดคุยกับ รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อชวนมองปรากฏการณ์สังคมปัจจุบัน กับรัฐสวัสดิการไทย ตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน

รัฐสวัสดิการ 2475
รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

“ผมคิดว่า น่าเศร้า เพราะไทยอยู่กับความเหลื่อมล้ำมาค่อนข้างนาน… เราเห็นผู้สูงอายุไม่มีบำนาญ เราเห็นเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ฯลฯ แต่สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน คือ เราเริ่มรู้สึกว่ามันปกติ และไม่สามารถจะแก้ไขได้”

หากมองความเหลื่อมล้ำไทยผ่านดัชนีจีนี (Gini Index) ตามข้อมูลของธนาคารโลก เป็นตัววัด จะพบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ในลำดับกลาง ๆ แต่ในความเป็นจริง ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีเพียงแค่ด้านรายได้ ขณะที่รายได้ของคนรวยสุด 1% ของประเทศ ก็ยากที่จะตรวจสอบได้ว่ามีรายได้จริงอยู่ที่ตัวเลขไหน รศ.ษัษฐรัมย์ มองว่า รายได้และทรัพย์สินที่ดีขึ้นยังไม่ใช่ตัวสะท้อนปัญหา แต่สิ่งที่แน่นอน คือ สังคมไทยยังอยู่ในสภาวะเลื่อนชั้นทางสังคมได้ยาก และรายได้ไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี

“รายได้เฉลี่ย 1 คน ที่พอกับ ค่าข้าว ค่าพักผ่อน รักษาโรค และเข้าสังคม ฯลฯ ควรอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 9,000 บาท/คน หรือประมาณ 27,000 บาท/ครัวเรือน แต่ปัญหาคือ เราพบว่า คนไทยเกือบครึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงรายได้ ที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี”

รศ.ษัษฐรัมย์ อ้างอิงข้อมูลรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน : แนวทางการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า ของ ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ระบุว่า หนึ่งชีวิตในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 21,688.75-23,687.75 บาทต่อเดือน และหากกลุ่มที่มีสมาชิกพึ่งพิง อาจมีรายจ่ายเฉลี่ยสูงถึง 30,118-32,117 บาทต่อเดือน และไม่ว่าช่วงวัยไหน ก็พบว่ารายได้เฉลี่ยของประชาชน มีเพียงประมาณร้อยละ 70 หรือร้อยละ 80 ของรายจ่ายเท่านั้น หมายความว่า มีคนเกินครึ่งในสังคม ที่มีชีวิตติดลบเป็นตัวแดงตลอดทั้งชีวิต สาเหตุหลักคือ ค่าจ้างต่ำ สวัสดิการต่ำ อำนาจต่อรองในชีวิตต่ำ โดยเหตุผลหนึ่งมาจากสวัสดิการตามช่วงวัยในสังคมไทยยังมีน้อย แม้เราจะมีฐานความคิดด้านสวัสดิการมานานหลายสิบปี แต่ผลจากการรัฐประหาร ทำให้รัฐและประชาชนไม่สามารถส่งเสียงถึงกันได้ รัฐก็จะฟังนายทุน ส่งผลให้สวัสดิการของประชาชนกลุ่มอื่น ๆ กลายเป็นสวัสดิการแบบสงเคราะห์

“เมื่อใดมีรัฐประหาร จะทำให้ รัฐและประชาชน ไม่สามารถส่งเสียงถึงกันได้ รัฐก็จะฟังนายทุน สวัสดิการของเราจึงกลายเป็นสวัสดิการสงเคราะห์ หรือจัดให้แต่คุณภาพไม่ได้ ถ้าอยากได้ก็ต้องเสียเงินซื้อ..”

90 ปี 2475 จุดเริ่มต้น รัฐสวัสดิการ และวาทกรรม “คนเท่ากัน”

รศ.ษัษฐรัมย์ มองว่า ในแง่ประวัติศาสตร์ ข้อเสนอของ ปรีดี พนมยงค์ ที่บรรจุไว้ในสมุดปกเหลืองผ่าน แผนเศรษฐกิจเพื่อปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า รัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย

“ในทางการเมือง 2475 และสมุดปกเหลืองเป็นการยืนยันแนวคิด คนเท่ากัน ย้อนไป 90 ปีแล้วที่มีการพูดเรื่อง รัฐสวัสดิการ มาแล้วอย่างจริงจังในสภาฯ พูดโดยผู้มีอำนาจ แม้คนเสนอจะถูกเนรเทศจากฝั่งอนุรักษ์นิยม แต่ชัดเจนแล้วว่า กระแสการต่อสู้เรื่องนี้มีมาตลอดและไม่เคยหายไป…

บทเรียน 90 ปี สวัสดิการไทยจะดีขึ้นได้ ไม่ได้มาด้วยความเมตตาของชนชั้นนำ แต่ได้มาด้วยการต่อสู้และส่งเสียงของประชาชน”

รศ.ษัษฐรัมย์ ย้ำว่า การต่อสู้มีการสะสม แม้วันนี้ไทยเรายังไม่ได้รัฐสวัสดิการ แต่เมื่อเกิดการต่อสู้ สังคมไทยก็เริ่มมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคม เบี้ยคนชรา ถือเป็นดอกผลจากความเชื่อพื้นฐานว่า คนเท่ากัน เช่น บัตรคนจน ก็เป็นการสะสมและขยายฐานข้อมูลสวัสดิการ ฯลฯ แต่การมีสวัสดิการที่ยังไม่ถ้วนหน้า ทำให้คนไม่สามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้ ไม่สามารถวางแผนชีวิตเกี่ยวกับสวัสดิการ

จนถึงวันนี้ยังมีการปะทะกันทางความคิด ไม่เป็นฉันทามติ จึงเห็นการปะทะกันของ 2 แนวคิด ฝ่ายก้าวหน้าและอนุรักษ์นิยม ที่ รศ.ษัษฐรัมย์ บอกว่า “ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ 90 ปี มันคือการต่อสู้ทางความคิด” และบทเรียนสำคัญที่จะถอดได้จาก 90 ปี พัฒนาดีขึ้นได้ คือ ไม่มีทางที่ชีวิตที่ดีจะได้มาด้วยความเมตตาของชนชั้นนำ ได้มาด้วยการต่อสู้และส่งเสียง คือ เรื่องสำคัญสุด

“สังคมที่เสมอภาค ดีกว่าเหลื่อมล้ำ เราจัดลำดับการแบ่งเค้กเสียใหม่ ให้บาทแรกจนถึงบาทสุดท้ายถมความต้องการของประชาชนก่อน ไม่ใช่การปล้นอภิสิทธิ์ชน 1% เพียงแต่ 99% ที่ต้องการมากกว่าได้มีโอกาสเติบโต สิ่งนี้จะทำให้ เศรษฐกิจโต คนมีงานทำ สังคมเสมอภาค ดีกับส่วนใหญ่ คนส่วนน้อยที่ร่ำรวยก็จะเผชิญกับความสุข สิ่งแวดล้อมของเมืองที่ดีมากขึ้น กำแพงชนชั้นเตี้ยลง และทำให้ความโกรธแค้นในสังคมลดลงด้วยเช่นกัน…” รศ.ษัษฐรัมย์ กล่าวทิ้งท้าย


อ้างอิง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน