‘ทีมประกันสังคมก้าวหน้า’ เล็งขยับสิทธิประโยชน์ อีก 6 ด้าน ให้ผู้ประกันตน

อวดผลงาน 7 เดือน ชูเพิ่มเงินเด็กเล็ก – ปล่อยสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเดินหน้าปรับสัดส่วนการลงทุนให้กองทุนแข็งแรง ย้ำชัด ไม่มีนโยบายขยายอายุเกษียณ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ในคณะกรรมการประกันสังคม สัดส่วนผู้ประกันตน แถลงความคืบหน้านโยบายต่าง ๆ ของกองทุนประกันสังคม พร้อมความคืบหน้าของนโยบายสิทธิประโยชน์ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา และนำเสนอแผนงานการบริหารในช่วงระยะเวลาอีก 17 เดือนข้างหน้า ในฐานะบอร์ดประกันสังคมชุดแรก ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งดูแลกลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33, 39, และ 40 ที่มีอยู่รวมกว่า 24 ล้านคน มุ่งขยายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน เร่งสร้างดอกผลจากกองทุนให้ยั่งยืนมากขึ้น

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม รายงานว่า ขณะนี้มีนโยบายของทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่มีความคืบหน้าแล้ว ได้แก่

  • [สำเร็จแล้ว] เพิ่มเงินเด็กอายุ 0 – 6 ปี จาก 800 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเด็กที่มีสิทธิ์กว่า 1.2 ล้านคน รวมเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มภายในเดือนมกราคม ปี 2568 โดยการเพิ่มเงิน 200 บาทต่อเดือนอาจดูเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับครอบครัวที่ขาดแคลน เงินนี้สามารถมีผลต่อการตัดสินใจที่สำคัญในการดูแลลูกหลานและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“200 บาทนี้มีความหมายสำคัญมาก เพราะมันอาจจะเปลี่ยนใจแม่คนหนึ่งที่กำลังตัดสินใจจะขโมยนมผง 200 บาท อาจจะทำให้พ่อที่ต้องทำโอที สามารถสลัดวันโอทีหนึ่งวัน เพื่อที่ว่าจะได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
  • [สำเร็จแล้ว] โครงการสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ โดยนำเงินลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ของประกันสังคม 10,000 ล้านบาทไปฝากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ในอัตราดอกเบี้ย 1.59% เป็นเวลา 5 ปี สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถผ่อนชำระได้ในอัตราที่ต่ำกว่า 20% ตลาดทำให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงการมีบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น โดยนโยบายจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้
  • [ผ่านมติแล้ว อยู่ระหว่างแก้กฎหมาย] ชดเชยกรณีทุพพลภาพจาก 15 ปี เป็นตลอดชีวิตของผู้ประกันตนมาตรา 40

  • [ผ่านมติแล้ว อยู่ระหว่างแก้กฎหมาย] เพิ่มค่าเดินทางพบแพทย์จาก 50 บาทเป็น 200 บาทต่อครั้งของผู้ประกันตนมาตรา 40

  • [ผ่านมติแล้ว อยู่ระหว่างแก้กฎหมาย] เชื่อมต่อข้อมูลใบรับรองแพทย์กับคลินิกและสปสช. ของผู้ประกันตนมาตรา 40

  • [กำลังเสนอเข้าบอร์ด] ชดเชยการตั้งครรภ์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 และการให้ค่าตอบแทนเครือข่ายประกันสังคม

ประกันสังคม+2: เพิ่มผลตอบแทนการลงทุน – ขยายสิทธิสวัสดิการ

รศ.ษัษฐรัมย์ ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานบริหารกองทุนประกันสังคม “ประกันสังคม+2 ข้อเสนอสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม” โดยมีใจความสำคัญคือการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม จาก 3% เป็น 5.5%

ในส่วนของการเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้เสนอให้กองทุนประกันสังคมเปลี่ยนแผนการลงทุน โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน 5 ปี (SAA) ฉบับใหม่ ที่จะมีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง จาก 40% เป็น 50%, ขยายการลงทุนไปต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน, และ ขยายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเป็น 15% เป็นต้น

ขณะที่ ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กรรมการประกันสังคม ได้ชี้แจงถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่จะผลักดันต่อจากนี้ โดยเล็งเพิ่มสวัสดิการสิทธิประโยชน์ 7 รายการได้แก่ 

  1. เพิ่มค่าคลอดบุตรเป็น 20,000 บาท/ครั้ง

  2. [สำเร็จแล้ว] เพิ่มค่าเลี้ยงบุตร 0–6 ปี 1,000 บาท/ปี

  3. เพิ่มค่าเลี้ยงบุตร 7–12 ปี 7,200 บาท/ปี

  4. ลาคลอด 180 วัน

  5. เปลี่ยนสูตรคำนวณบำนาญ โดยใช้ค่าจ้างเฉลี่ยตลอดอายุการทำงานแทน 60 เดือนสุดท้าย

  6. เพิ่มประกันการว่างงานกรณีละ 3 เดือน

  7. เพิ่มสิทธิลาดูแลคนในครอบครัว วันละ 250 บาท ปีละไม่เกิน 6 วัน

คนขยัน แต่ระบบทำให้เชื่องช้า: เล็งยกเครื่องกองทุนขนานใหญ่ แก้ไขให้โปร่งใส

ชลิต รัษฐปานะ กรรมการประกันสังคม ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบัน ทีมประกันสังคมก้าวหน้ากำลังขับเคลื่อนเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงกองทุนประกันสังคม ให้กลับมาเป็นของผู้ประกันตน และมีความเท่าทัน ทัดเทียมกับสากล โดยนอกจากประเด็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และการเปลี่ยนแผนการลงทุนแล้ว ยังมีการผลักดันผ่านกลไกคณะอนุกรรมการรายประเด็นทั้ง 14 คณะ เช่น การกลั่นกรองงบประมาณ ปรับปรุงระบบเทคโนโลยี และติดตามเงินสมทบค้างจ่ายจากฝ่ายนายจ้างและภาครัฐ

“ความท้าทายหลักในการทำงานคือการบริหารภายใต้ระบบราชการ แม้มีข้าราชการหลายคนทำงานขยันขันแข็ง แต่ระบบที่มีอยู่ทำให้การดำเนินงานล่าช้า”

ชลิต รัษฐปานะ

รศ.ษัษฐรัมย์ ยังเสริมว่า ก่อนทีมจะเข้ารับตำแหน่ง กระบวนการลงทุนของกองทุนมีความไม่โปร่งใส เช่น การลงทุนเงินนอกแผนยุทธศาสตร์ (Non-SAA) มูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท ที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สังคม แต่กลับนำไปลงทุนในหุ้นพลังงาน ซึ่งยังไม่มีผลพิสูจน์ว่าผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ และยังพบการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เสี่ยงผลตอบแทนต่ำ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลต่อบอร์ดประกันสังคม ซึ่งสร้างปัญหาความโปร่งใสและผลตอบแทนที่ต่ำ ทีมประกันสังคมก้าวหน้าต้องแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม ชลิต ได้ให้ความเห็นด้วยว่า การดำรงตำแหน่งบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งสมัยแรก ต้องเจอกับความท้าทายในการทำงานอยู่หลายประการ เช่น การบริหารสำนักงานภายใต้ระบบราชการ แต่ก็ยังมีข้าราชการจำนวนมากที่ทำงานเพื่อผู้ประกันตนอย่างขยันขันแข็ง แต่ติดปัญหาเดียวกันคือกรอบของระบบราชการที่ทำให้การดำเนินงานไม่รวดเร็วเท่าที่ควร

ในช่วงสุดท้าย ทางทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้ชี้แจงถึงข้อสงสัย อย่างประเด็นเรื่องสำนักงานประกันสังคมลดงบฯ ค่ารักษาโรค ทำให้โรงพยาบาลเอกชนจะถอนตัวออก โดยชี้แจงว่า กฎหมายประกันสังคมฉบับปัจจุบัน ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการแพทย์ ที่มาจากการสรรหาเป็นผู้กำหนด สิทธิประโยชน์ และการบริหารการรักษาพยาบาลของประกันสังคม การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการแพทย์ต่าง ๆ จึงไม่ได้มาจากคณะกรรมการประกันสังคม

ขณะนี้ทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้พยายามขอความร่วมมือไปยังบอร์ดแพทย์เพื่อปรับสิทธิประโยชน์และยกระดับพัฒนาบริการทางการแพทย์ให้แก่กองทุน และย้ำว่า คณะกรรมการประกันสังคมไม่มีมติในการขยายอายุเกษียณของผู้ประกันตนแต่อย่างใด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active