เครือข่ายสวัสดิการเด็กเล็กฯ จี้ รัฐเร่งลงทุนกับเด็ก เพิ่มสวัสดิการ

ชี้ลงทุนการศึกษาระยะยาวคุ้มค่า ขณะที่ “เด็กไร้สัญชาติ” ในไทยยังเข้าไม่ถึงสิทธิ ไรเดอร์ผู้หญิงทำงานเสี่ยง ลำบาก แนะเพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กให้ครอบคลุม

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.67 เวทีเสวนาสัญจร ติดตามนโยบาย “สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” ขึ้นเหนือ (จ.เชียงใหม่) เปิดตัวเลขเด็กไร้สัญชาติเพิ่ม คนพิการ กลุ่มเปราะบางควรมีสวัสดิการเท่าเทียม สุมิตร วอพะพอ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  ชี้ จากการเก็บข้อมูล 8 ชุมชน 8 อบต. มีเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย กว่า 4 แสนคน ขณะที่ กระทรวงมหาดไทยแก้ปัญหาเด็กเหล่านี้ได้ปีละ กว่า 10,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่มีสวัสดิการไม่เท่าเทียม ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้

แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีข้อเสนอเรื่องการให้เงินอุดหนุน 3,000 บาท ซึ่งมองว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม แต่ยังก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะปัญหาในพื้นที่ คือ ไทยยังไม่มีนโยบายสำหรับ “เด็กไร้สัญชาติในไทย” ที่ชัดเจน ขณะที่ท้องถิ่น อบต.ต้องมีภาระงานเพิ่ม แต่ไม่มีอำนาจอย่างเต็มที่ จึงมีข้อเสนอให้ใช้กลไกลเยาวชนในชุมชนเข้ามาช่วยทำงาน เพราะจะสามารถดำเนินการได้ดีกว่าบุคคลนอกชุมชน

“ก่อนหน้านี้ สภาชนเผ่าพื้นเมืองได้ผลักดันประเด็นนี้อยู่ใน (ร่าง)กฎหมายชาติพันธุ์  และทุกเวทีจะมีการพูดถึงประเด็นนี้เช่นเดิม สะท้อนปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข และหากรัฐยังไม่ให้ความสำคัญ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะสถานการณ์แรงงานที่กำลังวิกฤต”

ในเวทียังได้หยิบยกงานวิจัยเรื่อง “ความคุ้มค่าในการลงทุนกับเด็ก” ปี 2563  คาดการณ์อีก 20  ปีข้างหน้า คือในปี 2583 แรงงานไทย 1.8 คนจะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ขณะที่ปัจจุบันแรงงาน 3.8 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน สังคมไทย ค่อนข้างวิกฤต จึงเป็นที่มาให้รัฐบาลต้องพิจารณางบประมาณในการดูแลเด็ก

ในงานวิจัยฯ ยังระบุด้วยว่า การลงทุนด้านการศึกษากับเด็ก 1 คนในระยะเวลา 15 ปี ใช้เงินเพียง 600,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่รวมทั้งมิติการศึกษา และสาธารณสุขแล้ว แต่เมื่อเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่วัยแรงงาน จะได้เงินเดือนราว 10,710 บาท เป็นเวลา 35 ปี แรงงานคนนี้จะ ทำรายได้ให้ประเทศประมาณ 4 ล้านกว่าบาท รัฐลงทุนเพียงแค่ 6 แสนกว่าบาท

ณิชชารีย์   สมคำ  รองนายกสมาคมไรเดอร์ภาคเหนือ สะท้อนปัญหาการดูแลเด็ก โดยเฉพาะไรเดอร์ผู้หญิงที่ต้องพาลูกไปด้วยเพราะไม่มีคนดูแล ซึ่งมีความเสี่ยงลำบากในการทำงาน แม้ไรเดอร์หลายคน เป็นคนในพื้นที่จะสามารถนำลูกไปฝากไว้กับศูนย์เลี้ยงเด็ก แต่ปัญหาคือศูนย์เลี้ยงเด็กเปิดสายและปิดเร็ว เวลาไม่สัมพันธ์กับการทำงาน 

บางครั้งได้เวลารับลูกแต่ยังติดงาน ส่งของให้ลูกค้าก็ต้องฝากลูกไว้ แต่ครูก็ต้องรีบกลับ  นอกจากนี้ยังมีไรเดอร์บางคนที่ไม่รู้เรื่องนี้ และไม่อยู่ในประกันสังคม ยังไม่ได้รับเงินยังตกหล่น ไม่ต้องพูดถึงว่า 600 บาทนี้ไม่เพียงพอ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย

“ไรเดอร์บางคน ไม่มีเอกสารก็ไม่สามารถนำลูกไปฝากศูนย์เด็กเล็กได้ ต้องจ่ายเงินฝากในศูนย์เลี้ยงเด็กของเอกชนซึ่งก็แพง และเวลาก็ไม่สัมพันธ์กับการทำงาน”

ณิชชารีย์   สมคำ  รองนายกสมาคมไรเดอร์ภาคเหนือ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active