แรงงานสตรี หวั่น ‘อดโบนัส-เงินเดือนไม่ขึ้น’ จำใจลาคลอดไม่ครบสิทธิ

เปิดผลสำรวจ ‘วันสตรีสากล’ พบ แรงงานสตรีไทย เกินครึ่ง ไร้แผนมีลูก เหตุไม่มีเงิน ขาดคนช่วยเลี้ยง มนุษย์แม่ เรียกร้องรัฐแก้สิทธิลาคลอดได้ 180 วัน เพิ่มเงินอุดหนุนลาคลอด

วันนี้ (7 มี.ค. 67) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ “ขยายสิทธิลาคลอดเพิ่มคุณภาพชีวิตประชากร?” เนื่องใน วันสตรีสากล พร้อมนำเสนอผลสำรวจ “การขยายวันลาคลอด 180 วัน และสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด : คนงานในโรงงานอุตสาหกรรม กทม.และจังหวัดโดยรอบ”

ปัญหาสวัสดิการพนักงาน – การเงิน เหตุผลคน ‘ไม่อยากมีลูก’

ธัญมน สว่างวงศ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ผลสำรวจความเห็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดโดยรอบ 1,437 คน ถึงประเด็นการขยายวันลาและสิทธิการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด พบว่า 69.4% ยังไม่มีแผนมีลูกใน 5 ปี ข้างหน้า โดย 39.1% ให้เหตุผลว่า กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย กลัวเงินไม่พอค่าคลอด ค่าเลี้ยงลูก อีก 24.9% กลัวไม่มีเวลา ขาดคนช่วยเลี้ยง

และเมื่อสอบถามถึง การใช้สิทธิลาคลอดตามกฎหมาย พบว่า แรงงาน 78.2% ใช้สิทธิลาคลอด 90-98 วัน และอีก 14.5% ลาเพียง 30-59 วัน โดย เหตุผลที่ลาคลอดไม่ครบวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้วต้องรีบกลับมาทำงานเพราะต้องการมีรายได้ ต้องการโอทีเพิ่ม ตามด้วยกลัวถูกลดโบนัส เมื่อดูในส่วนสวัสดิการของรัฐ พบว่า แรงงานหญิง 59.4% ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท แต่กว่า 96.6% ได้รับเงินจากเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม 800 บาท

ปัญหาสุขภาพกาย – ใจ หลังคลอด

ขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพหญิงหลังคลอด พบ ร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย 47.9% มีสุขภาพอ่อนแอเจ็บแผลคลอด 29.5% เครียด ซึมเศร้าหลังคลอด 14.1%

ส่วนการให้นมลูก พบว่า สถานที่ทำงานหรือสภาพการทำงานไม่เอื้ออำนวย เช่น ไม่มีห้องปั๊มนม ไม่มีตู้แช่เก็บนม ต้องทำงานไม่มีเวลาปั๊มนม 50.3% ส่งผลให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วง 6 เดือนแรกมีเพียง 11.5% ส่วนใหญ่จะดื่มนมแม่กับนมผง 64.1%

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ผลสำรวจพบว่า มีปากเสียงกันบ่อยขึ้น 15% สามีหรือแฟนไม่ช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 7.7% สามีหรือแฟนนอกใจ 3.4% ส่วนช่วงหลังคลอดพบว่า สามีหรือแฟนมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกบางครั้ง 40.6% ไม่ช่วยเลย 16.3% และช่วยนาน ๆ ครั้ง 14.5%

มองสวัสดิการรัฐ ‘น้อยเกินไป’

เมื่อถามถึงสวัสดิการภาครัฐพบสูงถึง 99.3% ที่เห็นว่า ควรเพิ่มสวัสดิการค่าคลอดบุตรจาก 15,000 บาทเป็น 30,000 บาท ที่สำคัญแรงงานกว่า 96.5% เห็นด้วยกับการขยายสิทธิวันลาคลอดเพิ่มจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน และอีกกว่า 93.7 % เห็นด้วยกับการให้สิทธิพ่อลาได้ 30 วันเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูก

“การดูแลบุตรหลังคลอดตกเป็นภาระของผู้หญิง พอครบกำหนดใช้สิทธิลาคลอดตามกฎหมายต้องส่งลูกไปอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างหวัด หรือจ้างเลี้ยงดูซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายและส่งผลให้ความสัมพันธ์ของแม่และลูกห่างเหิน ดังนั้นการสนับสนุนการขยายสิทธิลาคลอด 180 วัน และสวัสดิการที่เอื้ออำนวยให้แรงงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น นโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชากรมีบุตรเพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายของแรงงาน”

ธัญมน สว่างวงศ์

เรียกร้องขยายสิทธิลาคลอด

ติมาพร เจริญสุข เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง บอกว่า ปัจจุบันสามารถลาคลอดได้ 98 วัน เริ่มนับตั้งแต่วันลาเพื่อรอคลอด โดย 45 วัน จะได้เงินเดือนเต็มจากนายจ้าง ส่วนอีก 45 วันได้เงินครึ่งหนึ่งจากสำนักงานประกันสังคม ส่วนอีก 8 วันนั้นไม่ได้รับอะไรเลย

“ตอนแรกตนยังคิดว่าได้รับค่าจ้าง แต่กลับไม่ได้ ไม่มีใครจ่ายค่าจ้าง แถมยังถูกตัดสิทธิหลายอย่าง เช่น ตัดเกรดไม่ได้ปรับขึ้นเงินเดือน ประเมินการขึ้นตำแหน่ง ตัดโบนัส เป็นต้น นอกจากนี้ ระหว่างที่ตั้งครรภ์ ต้องพบแพทย์สม่ำเสมอนั้นไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย ต้องใช้เวลาหลังเลิกงานเพื่อไปพบแพทย์”

ติมาพร เจริญสุข

ติมาพร ระบุว่า แต่ละสถานประกอบการไม่เหมือนกัน ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ เด็กตั้งแต่คลอดต้องกินนมแม่จนถึงอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานและสร้างสายใยรักแม่ลูกเป็นสิ่งจำเป็น จึงอยากให้เห็นความสำคัญตรงนี้โดยมีการจ่ายเงินเดือน หรือค่าตอบแทนเต็มจำนวนทั้ง 90 วัน

โดยเฉพาะในส่วนของประกันสังคมที่จ่ายเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น รวมถึงอีก 8 วันที่ให้สิทธิเพิ่มมาด้วย ซึ่งล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งให้ขยายสิทธิลาคลอดเพิ่มเป็น 180 สอดคล้องกับผลสำรวจ

ขณะที่ รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการผู้แทนฝ่ายประกันตน ในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) บอกว่า สิทธิลาคลอดที่เพิ่งได้รับ ถือเป็นการขยับได้ช้ามาก ไม่สอดรับกับสภาพความเปราะบาง และสภาพการทำงานของครอบครัวสมัยใหม่ ในขณะที่งานวิจัยในประเทศต่าง ๆ รวมถึงข้อเสนอจากภาคประชาชน และพรรคการเมืองนั้นไปไกลถึง 180 วันแล้ว

อย่างไรก็ตามสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างฉบับกระทรวงแรงงาน หรือของ พรรคภูมิใจไทย เสนอสิทธิลาคลอดที่ 98 วัน ส่วนฉบับที่พรรคก้าวไกล เสนอให้สิทธิลาคลอด 180 วัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก แต่จำเป็นต้องพูดถึงการลาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้แม่สามารถวางแผนการทำงาน การใช้ชีวิตได้ รวมถึงการให้สิทธิคู่สมรสในการลาด้วย

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่เป็นโมเดลของการรักษาสิทธิของแม่ ของครอบครัวจะเห็นว่า 180 วัน นั้นถือเป็นตัวเลขกลาง ๆ ค่อนไปทางต่ำ เช่น กลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการนั้นได้สิทธิลาคลอดได้ถึง 480 วัน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง หากใช้วันลาไม่หมดยังสามารถเก็บไว้ใช้ได้จนลูกอายุ 9 ขวบ

“ตัวเลขที่เราดูมา ตอนนี้คนเกิดน้อยมาก ใน 1 แผนกในโรงงาน มี 50 คน อาจจะมีคนท้องสัก 1-2 คน ยิ่งในออฟฟิศก็ยิ่งน้อย แล้วตัวเลขที่มีการใช้สิทธิลาคลอดของผู้ประกันตนก็มีเพียง 2% เท่านั้น เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งไม่ได้ทำให้นายจ้างล้มละลายหรือเสียผลประโยชน์ ที่เสียประโยชน์ถือว่าน้อยมาก อย่างที่จ่ายอยู 45 วัน ก็เป็นฐานเงินเดือนที่น้อยมาก ดังนั้นข้อเสนอให้ปรับเพิ่มสิทธิการลาคลอด 180 วันนั้นสามารถทำได้เลย เพื่อให้เด็กเติบโตดี มีโภชนาการที่ดี มีการศึกษาที่ดี เพื่อเขาจะได้ทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ดีต่อไปในอนาคต ยิ่งคนเกิดน้อย เรายิ่งต้องดูแลเขาให้ดี”

รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active