‘มูลนิธิอิสรชน’ ย้ำ นโยบายสวัสดิการ ‘คนไร้บ้าน’ ต้องเข้าถึง

สำรวจพบเกือบ 2,500 คน ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เข้าสู่ช่วงสูงวัย โดดเดี่ยว วอนผู้กำหนดนโยบายเข้าใจความเเตกต่าง ไม่มีใครอยากเป็นภาระของสังคม

จากสถานการณ์ปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมจัดทำโครงการแจงนับคนไร้บ้าน ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลเบื้องต้นจำนวนคนไร้บ้าน ปี 2566 ภายในคืนเดียวเมื่อวันที่ 23 พ.ค. พร้อมกัน 77 จังหวัด โดยข้อมูลที่ได้รับรายงานจนถึงวันที่ 11 มิ.ย.66 มีจำนวน 2,499 คน ใน 75 จังหวัด

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาเเละจำนวนคนเร่ร่อนหน้าใหม่ ยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่ง “นโยบายด้านสวัสดิการ” เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ถูกเรียกร้องจากประชาชนที่เร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ เเม้ในปัจจุบันเองจะมีการพยายามเร่งพัฒนานโยบายด้านสวัสดิการอยู่เเล้ว เเต่ดูเหมือนว่านโยบายเหล่านั้นจะยังคงส่งถึงคนทุกกลุ่มอย่างไม่ทั่วถึงมากพอ

แม้ในความเป็นจริงสวัสดิการการส่งเสริมเรื่องของการกินดีอยู่ดี เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดขึ้นเเละกระจายไปสู่ทุกภาคส่วน เเต่สำหรับนโยบายที่มุ่งเน้นการเเก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนที่มักถูกละเลย อย่าง คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง กลับเป็นประเด็นที่ภาครัฐหรือหน่วยงานอื่น ๆ กลับให้ความสนใจน้อย เเม้ยุคสมัยเเละการเปลี่ยนเเปลงการดำเนินงานของภาครัฐที่ถูกผลักเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามกาลเวลา ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเเก้ปัญหาหรือนโยบายสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเเก้ไขอย่างจริงจัง

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน

ที่สำคัญนโยบายที่ใช้เเก้ปัญหาต้องมาจากการเข้าใจเเก่นเเท้ของปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงการเเก้ไขที่ปลายเหตุ เเม้มีนโยบายสำหรับคนในสังคม เเต่การตระหนักได้ว่าคนในสังคมที่อยู่นั้นมีความหลากหลายที่ไม่เหมือนกัน การเข้าใจความเเตกต่างของคนเเต่ละกลุ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“บ่อยครั้งที่กลุ่มคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่งมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถพัฒนาได้ การถูกตีตราเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากการลดทอนคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ในความเป็นจริงเเล้วกลุ่มเหล่านี้บางส่วนล้วนมีความสามารถ ทีทักษะในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง เเต่สำหรับคนบางกลุ่มขาดเพียงโอกาสจากสังคมในการเริ่มต้นประกอบอาชีพเท่านั้น เเละคนอีกกลุ่มที่รอคอยการเข้ามาสนับสนุนสอนทักษะการสร้างอาชีพให้กับพวกเขาให้สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพต่อไปได้ เพราะ ไม่มีใครอยากเป็นภาระของสังคม

อัจฉรา สรวารี

มูลนิธิอิสรชน จึงมีข้อเสนอประกอบด้วย ข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่

  1. จัดทำฐานข้อมูลของคนเร่ร่อน คนไร้ที่พี่งเเละคนไร้บ้าน ที่เป็นหนึ่งเดียวเเล้วใช้ร่วมกันได้กับหลายหน่วยงาน เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ
  2. ประสานหน่วยงานด้านแรงงานสร้างช่องทางให้คนเร่ร่อนเข้าถึงข่าวสารการจ้างงานได้โดยง่าย
  3. สนับสนุนให้คนเร่ร่อนประกอบอาชีพที่ต้องการอย่างเหมาะสม พร้อมสร้างทางเลือกในการทำงานที่หลากหลาย

ข้อเสนอด้านที่อยู่อาศัย

  1. การประสานงานจัดหาห้องเช่าราคาถูก
  2. การประสานหน่วยงานทบทวนการไล่ลื้อพื้นที่เช่า
  3. สนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัย(ชุมชนคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน)
  4. สนับสนุนการมีบ้านพักชั่วคราว
  5. ให้สิทธิการอยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ (หากไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้สังคม)

สำหรับข้อมูลการสำรวจแจงนับคนไร้บ้าน ประจำเดือน พ.ค. 66 พบว่า มีจำนวน 2,499 คน ใน 75 จังหวัด พบมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,271 คน คิดเป็น 50.86 % , จ.ชลบุรี 126 คน และ จ.เชียงใหม่ 118 คน เมื่อแยกสัดส่วนตามเพศ เป็นผู้ชาย 82.5% ผู้หญิง 16.2% ไม่ต้องการระบุเพศ 1.3%  โดยสัดส่วนอายุที่พบมากที่สุดอยู่ในวัยกลางคน 56.8% สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 22.1% และวัยแรงงาน 20% 

ข้อมูลที่น่าสนใจคือในจำนวนนี้ 74.1% อาศัยอยู่ตามลำพัง และมีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ติดสุรา ปัญหาสุขภาพจิต และความพิการ หากขาดการดูแลที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเมื่อสูงอายุหรือเสียชีวิตเพียงลำพัง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย จะนำฐานข้อมูลมาขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และเตรียมแผนผลักดันนโยบายการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ สวัสดิการต่าง ๆ ศักยภาพเข้าถึงที่อยู่อาศัย และอาชีพ ออกแบบระบบการคุ้มครองดูแล และจัดบริการสวัสดิการสังคมอย่างตรงจุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active