โค้งสุดท้าย! วัดนโยบายเพื่อ ‘คนพิการ-ผู้สูงอายุ’ เลือกตั้ง 66

10 พรรคการเมือง ชูหลักคิด ดึงผู้ใช้งาน ร่วมคิด กำหนดนโยบาย ออกแบบ สร้างอารยสถาปัตย์เพื่อทุกคน ทลายข้อจำกัด ขจัดความเสี่ยง ลดเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในเวทีประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) ขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคม รองรับสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Tourism for All)” ที่ สสส. ร่วมกับ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล จัดขึ้น มีตัวแทนจาก 10 พรรคการเมือง มาร่วมนำเสนอแนวคิด และนโยบายประเด็นสิทธิความเท่าเทียมของคนพิการ ผู้สูงอายุ และคนทุกกลุ่มในสังคม

ประชาธิปัตย์ : สร้างบทบาท-คุณค่า ผู้สูงอายุในชุมชน

พิสิฐ ลี้อาธรรม พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า การดูแลผู้สูงอายุ เป็นเหมือนดีเอ็นเอของพรรค ที่ริเริ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบัน ก็ต้องการสนับสนุนเงิน 30,000 บาท ให้ทุกหมู่บ้านมีชมรมทำกิจกรรมเพื่อคนสูงวัย เพราะไม่อยากให้ผู้สูงอายุขาดบทบาทในสังคม ต้องการปลดล็อคอายุการทำงาน ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างรายได้ในชีวิตบั้นปลาย   

ไทยสร้างไทย : ดึงคนพิการร่วมกำหนดนโยบาย

น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย ยืนยันว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาเกี่ยวกับคนพิการได้ดีไปกว่าคนพิการ ดังนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้เสนอแนะนโยบาย และมองว่าอารยสถาปัตย์นั้นต้องคำนึงถึงคนที่อยู่ข้างหลัง ที่ไม่ใช่เฉพาะคนพิการ แต่หมายถึงผู้สูงอายุด้วย จึงต้องสร้างให้ได้มาตรฐาน นโยบายของพรรค อยากให้คนพิการมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการงบประมาณ ถ้าทำแล้วคนพิการเข้ามามีส่วนร่วมไม่ได้ จะไม่สร้าง ต้องสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้ทุกคนมาใช้ประโยชน์ได้ ทำให้มีชีวิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีชีวาด้วย จึงเห็นคนพิการเป็นคนสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรก

ชาติไทยพัฒนา : สร้างความเท่าเทียม ทุกคนเข้าถึงได้

ชาติชาย พยุหนาวีชัย ชาติไทยพัฒนา ยืนยันว่า อารยสถาปัตย์ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีคนสูงวัย คนพิการเข้าไปอยู่ในนโยบายนี้ ซึ่งในแง่ของอารยสถาปัตย์ ต้องสร้างความเท่าเทียมให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย สะดวกสบาย ไม่ต้องยากลำบากต่อการใช้ชีวิต พื้นที่ต้องเหมาะกับทุกคน ถ้าทำได้สมบูรณ์แบบ การท่องเที่ยวจะตามมา ต้องเตรียมการออกแบบตั้งแต่ลงเครื่องบิน สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ต้องมีความพร้อม เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นฮับของคนสูงวัย ให้มาอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่สังคม

ภูมิใจไทย : สร้างกฎเกณฑ์หยุดละเมิดสิทธิคนพิการ

อนุสรี ทับสุวรรณ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า คนพิการคือกลุ่มแรกที่พรรคนึกถึง ก่อนหน้านี้ได้เชิญองค์กรคนพิการมาร่วมหรือ ออกแบบนโยบาย ซึ่งเรื่องอารยสถาปัตย์ เป็นหนึ่งใน 7 นโยบาย ที่ต้องทำให้ทุกคนได้รับสิทธิการเข้าถึงทุกสถานที่ ต้องสะดวกปลอดภัย เข้าถึงได้ นโยบายอารยสถาปัตย์ การเดินทาง ที่ผ่านมาได้ผลักดันให้มีรถเมล์ไฟฟ้าอีวี เดินทางสะดวกสบาย คนทุกคนเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังเน้นการให้งบประมาณเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย และสร้างกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิคนพิการ เช่น เรื่องที่จอดรถคนพิการต้องมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิด ต้องทำให้ผู้สูงอายุ เดินทางสะดวก สถานที่ท่องเที่ยว ต้องได้รับมาตรฐานทำให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพ เดินทางท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ทำให้ชุมชนดี ท่องเที่ยวดี ด้วยกองทุนท่องเที่ยว

เสรีรวมไทย : ลดความต่างในสังคม ทุกคนเท่าเทียมกัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร พรรคเสรีรวมไทย บอกว่า อารยสถาปัตย์ คือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ออกแบบสำหรับผู้เจริญแล้ว หมายความว่า คนที่แตกต่างกันในสังคม ทุกคนถือเป็นคนที่เท่าเทียมกัน จำเป็นต้องได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน ต้องคิดเป็นสิ่งแรกไม่ใช่สิ่งสุดท้าย ในเวลานี้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย การคิดออกแบบให้คนกลุ่มนี้ไม่เป็นภาระ สามารถพึ่งตัวเองได้ การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงคนกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระใคร ดังนั้นจึงไม่ควรคิดแค่การสงเคราะห์ แต่ต้องให้โอกาสผู้สูงอายุอย่างเท่าเทียมกัน ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย คนทุกประเภทก็ต้องเข้าถึงได้ ไทยต้องออกแบบทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพื่อให้รู้สึกว่ามาไทยแล้วเป็นเหมือนบ้านที่อบอุ่น

เพื่อไทย : 4 เสาหลัก สวัสดิภาพทางสังคม

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ พรรคเพื่อไทย ยืนยันในฐานะของการเป็นสถาปนิก เข้าใจอารยสถาปัตย์เป็นอย่างดี ที่ต้องออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม ให้ทุกคนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกัน เทียบเคียงกับการออกแบบนโยบาย ที่ต้องเน้นนโยบายถ้วนหน้า ไม่ได้เลือกทำเพื่อกลุ่มใดเป็นพิเศษ ต้องได้รับสิทธิเท่ากัน พรรคจึงเน้นนโยบาย สวัสดิภาพทางสังคมด้วย 4 เสาหลัก คือ 1. ลดอุปสรรคการเดินทาง ต้องปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ ทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงการเดินทางได้จริง 2. ต้องการขยายบทบาทระบบการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมมากขึ้น 3. เน้นการเปลี่ยนระบบบริการภาครัฐด้วย e-Government ให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ง่าย ลดภาระเดินทาง และ 4. สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้คนทุกกลุ่มยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ก้าวไกล : ยืดหยุ่นงบฯ กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ พรรคก้าวไกล ระบุว่า อารยสถาปัตย์ ไม่ใช่แค่คนพิการ ผู้สูงอายุ แต่เป็นเรื่องของทุกคน โดยเฉพาะคนที่เคยได้รับผลกระทบ เคยเดือดร้อน ขนส่งสาธารณะไม่เชื่อมต่อ โครงสร้างพื้นฐาน ต้องระบุไว้ในทีโออาร์ ว่า ต้องคำนึงถึงการออกแบบเพื่อทุกคน อาคารที่มีอยู่แล้วหากยังไม่ได้ออกแบบเพื่อทุกคน ก็ต้องปรับปรุง โดยใช้กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปรับงบประมาณส่วนนี้ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น นำเงินมาใช้ปรับปรุงได้ และช่วยจูงใจเอกชนให้หันมาทำ และใส่ใจเรื่องเหล่านี้ด้วย

เปลี่ยน : ปลูกจิตสำนึกความเท่าเทียมในสังคม

ณรงค์ ไปวันเสาร์ พรรคเปลี่ยน ในฐานะตัวแทนของกลุ่มคนพิการ ระบุว่า ต้องเลิกเพ้อเจ้อว่าขณะนี้อยู่ในสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่เหลื่อมล้ำ นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนพิการต้องมาลงเล่นการเมือง เพราะที่ผ่านมานักการเมืองลืมคนพิการ เพื่อสร้างนโยบายรัฐไปด้วยกัน สร้างมหานคร เพื่อคนทุกคน สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ ที่มีไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน กลุ่มนี้ต้องเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก จึงจำเป็นต้องปลูกฝังจิตสำนึก รณรงค์ให้รัฐ ทำสิ่งอำนวยความสะดวกก่อน ต้องปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักรู้ ว่า มีคนพิการ พร้อมดึงเอกชนเข้ามาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ที่ต้องใช้เพื่อคนพิการจริง ๆ เช่น หากอาคารไม่มีทางลาด ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด คนอนุมัติก็ต้องรับผิดชอบ เช่นเดียวกับที่จอดรถคนพิการ ที่ต้องไม่ถูกละเมิด

ไทยชนะ : ปิดช่องว่าง เข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม

วรกร ไหลหรั่ง พรรคไทยชนะ อีกหนึ่งตัวแทนคนพิการ อยากให้เรื่องอารยสถาปัตย์เพื่อทุกคนเป็นเรื่องสาธารณะ ผ่านนโยบายของหลายพรรค โดยหวังว่าในฐานะผู้ใช้งานจริง และเป็นผู้พิทักษ์สิทธิเพื่อคนพิการ อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริง เพราะที่ผ่านมารอจากหน่วยงานราชการจะเจอช่องว่างเสมอ ดังนั้นกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องได้รับการแก้ไข แม้ว่ารัฐธรรมนูญให้สิทธิเป็นอย่างดี แต่สิทธิเหล่านี้กลับเข้าไม่ถึง แตะไม่ได้ ด้วยหลายปัจจัย ซึ่งในฐานะผู้ใช้จริง จึงต้องการคืนสิ่งเหล่านี้ให้กับสังคม

รวมพลัง : คนพิการต้องร่วมออกแบบนโยบาย

เพชรน้ำหนึ่ง ศรีวรรธนะ พรรครวมพลัง ในฐานะผู้หญิงพิการ ยืนยันว่า รู้ทุกมิติของคนพิการ เพราะที่ผ่านมาเป็นคนทำรายการท่องเที่ยว ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ต่าง ๆ และรู้ถึงข้อจำกัดได้ดี เช่น ทางลาด ทางชันทุกที่ พบว่ามีอันตราย ทำให้คนพิการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้นการทำนโยบายต่าง ๆ เพื่อคนพิการ ต้องให้คนพิการ ไปเป็นผู้ร่วมออกแนวคิด เข้าไปอยู่ในขั้นตอนกำหนดนโยบาย    

ขณะที่ กฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล บอกว่า เวทีแสดงวิสัยทัศน์ ครั้งนี้ ได้สะท้อนวิธีคิดของอนาคตพรรคการเมืองที่จะมาบริหารประเทศ ให้คำนึงถึงความยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจากสภาพแวดล้อม ด้วยการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) เป็นโครงสร้างพื้นฐานพัฒนา และรองรับสังคมผู้สูงวัย สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย และธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมต่อประชาชนทุกกลุ่มวัย อย่างชัดเจนและยั่งยืน

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ให้ข้อมูลว่า ในปี 2565 ไทยมีคนพิการ 2.1 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน พบปัญหาการใช้ชีวิตในบ้าน และพื้นที่สาธารณะของผู้ใช้รถเข็น คนพิการทางการเห็น โดยผู้สูงอายุ ร้อยละ 30 หกล้มทุกปี สาเหตุเกิดจากการลื่น สะดุดล้มบันได หรือก้าวพลาดบนพื้น นำไปสู่การบาดเจ็บ ภาวะติดเตียง จนถึงเสียชีวิต เรียกได้ว่า “ล้ม 1 คน เจ็บทั้งบ้าน” สสส. จึงขับเคลื่อนสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม ตามแนวคิด Universal Design โดยการพัฒนาชุดความรู้เรื่องการปรับปรุงที่พักอาศัย ตั้งศูนย์การออกแบบเพื่อทุกคนในมหาวิทยาลัย 12 ศูนย์ทั่วประเทศ มีผู้ได้รับคำปรึกษา 68,475 คน สนับสนุนเครือข่ายขนส่งมวลชนพึ่งได้ สื่อสารสร้างความตระหนักรู้ เกิดฑูตอารยสถาปัตย์ และอาสาสมัครรวม 300 คนเพื่อรณรงค์ พัฒนาฐานข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวก “เมืองใจดี” และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย “เมืองที่ไม่ทิ้งใคร”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active