10 พรรค ฟุ้งเดินหน้า ‘รัฐสวัสดิการ’ ฝันดูแลคนทุกกลุ่มเท่าเทียม

ชูนโยบายเพิ่มเบี้ยกลุ่มเปราะบาง ผลักดันกฎหมายเพื่อสิทธิ สวัสดิการ คนทุกระดับ ด้านเครือข่ายภาคประชาสังคม ด้านเด็ก เยาวชน สตรี แรงงาน กลุ่มหลากหลายทางเพศ หวังทุกพรรคให้ความสำคัญการมีส่วนร่วม แก้ปัญหาประชาชน สร้างความเป็นธรรมในสังคม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายเพื่อการพัฒนา  สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี สถาบันพระปกเกล้า ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)  UN Women สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ  Friedrich Ebert Stiftung (FES)  ร่วมกันจัดเวทีเสวนาประชาหารือ เนื่องในวาระวันสตรีสากลและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเลือกตั้ง ตามแนวคิด “สังคมดี – การเมืองดี ต้องมีสตรีร่วมทาง : women Together Stand for Good Society & good Politicals”

สุนี ไชยรส ประธานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า กล่าวว่า วันนี้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคือกลุ่มเด็ก สถานการณ์ปัจจุบันทุกกลุ่มมีสวัสดิการแม้ไม่ถ้วนหน้าก็ตาม ทั้งกลุ่ม ผู้สูงอายุ บัตรทอง แต่เด็ก 0-6 ปี ไม่มีสวัสดิการใด ๆ ที่เรียกว่าถ้วนหน้า เด็กประมาณ 4.3 ล้านคน ได้เงินสนับสนุน 2.2 ล้านคน และเด็กอีก 2 ล้านกว่าคน ทำไมถึงไม่ได้รับสวัสดิการ  รวมไปถึงปัญหาแม่วัยใสที่มีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ขอเรียกร้องสิทธิลาคลอดเพิ่มเป็น 180 วัน และขอให้มีศูนย์เลี้ยงเด็ก ที่รับเด็กตั้งแต่ 6 เดือน – 6 ปี เพื่อรองรับความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องทำงานด้วย

สุนี ไชยรส ประธานขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

สมาคมเพศวิถี ขอให้บรรจุวิชาเพศศึกษาลงในหลักสูตรในโรงเรียนอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาแม่วัยใส

ด้านกลุ่มเยาวชน สภาเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายเด็กและสตรี ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในเชิงนโยบาย จึงขอให้มีสัดส่วนของ ส.ส.หญิงและกลุ่มเพศสภาพเพิ่มมากขึ้น

เยาวชนจากพื้นที่ชุมชนแออัด ขอให้พรรคการเมืองพิจารณานำพื้นที่ชุมชนแออัดเป็นพื้นที่เรียนรู้ เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่มีโอกาสแสดงความสามารถผ่านพื้นที่ของตนเอง

ขณะที่ สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม บอกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งเพศ ยังคงเกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองตระหนักถึงเรื่องนี้ ขอให้ดำเนินการกับคนที่กระทำความผิดเรื่องเพศ  และขอให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และขอให้ผู้เสียหายได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมถึงจะมีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม

ผู้แทนจากแรงงานนอกระบบ ขอให้พรรคการเมือง รับรองอนุสัญญาที่ 87 และ 98 ที่พูดถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง อนุสัญญา C177 เรื่องรับงานไปทำที่บ้าน อนุสัญญา C189 งานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทางบ้าน อนุสัญญา 190 ความรุนแรงในโลกของการทำงาน และขอให้มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่าง ๆ ขอให้มีการตั้งกองทุนอาชีพ ช่วยควบคุมราคาสินค้าด้วย

ทางด้านตัวแทนกลุ่มคนพิการ ขอให้พิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายส่งเสริมศักยภาพคนพิการ  เพื่อให้เพิ่มสิทธิของสตรีพิการ  ประเภทของความพิการ จะเปลี่ยนไปตามโลก นอกจากนี้มีประเด็นการจ้างงานคนพิการ ขอให้จ้างงานอย่างถาวร และส่งเสริมให้ภาครัฐจ้างงานคนพิการมากขึ้น วางนโยบายมาจากคนพิการอย่างแท้จริง ผู้แทนจากกลุ่มคนพิการ ยังเสริมด้วยว่า วันนี้การหาเสียงของพรรคการเมือง ยังไม่มีพรรคไหนมีภาษามือนำเสนอนโยบายให้กับคนหูหนวก 

สวาท ประมูลศิลป์ กลุ่มเครือข่ายสตรีพิการ เสนอให้ อัตราการจ้างงานของศูนย์การศึกษาพิเศษควรเป็นคนพิการ เพราะจะได้รู้และเข้าใจคนพิการ เด็กพิการจะได้รับการเลี้ยงดูแบบเข้าใจ และขอเสนอให้มีกฎหมายสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวคนพิการ โดยระบุให้เงินเดือนของสามีครึ่งหนึ่งให้กับภรรยา หากเลิกรากันแล้วผู้หญิงจะได้มีเงิน และควรบรรจุเรื่องการบริหารจัดการการเงินของครอบครัวลงไปในกฎหมายด้วย

ด้าน ผู้แทนจากกลุ่มฟ้าสีรุ้ง ขอให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อผลักดันประเด็นเพศสภาพ  และขอให้พรรคการเมืองมีนโยบายผลักดันกฎหมายของกลุ่ม LGBT+ ด้วย อาทิ  กฎหมายสมรสเท่าเทียม, กฎหมายรับรองเพศสภาพ, กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ,  กฎหมายยกเลิกการค้าประเวณี รวมถึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 77

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มผู้สูงอายุ ขอสนับสนุนงบประมาณให้ชมรมผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของผู้สูงอายุแก้ปัญหาผู้สูงอายุติดเตียง

ขณะที่ ผู้แทนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ขอให้พรรคการเมืองพิจารณาประเด็นที่อยู่อาศัย การไล่รื้อ ซึ่งการไล่รื้อส่งผลกระทบกับชุมชนเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้ขอให้พรรคพิจารณานโยบายรัฐสวัสดิการให้เป็นจริง โดยขึ้นเป็น 3,000 บาทให้กับทุกคน

เครือข่ายสตรีชนเผ่า ฝากความหวัง ว่าที่ ส.ส.ทุกคน ให้ช่วยผลักดันกฎหมายสภาชนเผ่าพื้นเมืองด้วย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันตั้งแต่เหนือจรดใต้ เจตนารมณ์คือการคุ้มครองทุกคนให้มีสิทธิเท่าเทียม

ขณะเดียวกันภายหลังรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนแล้ว ตัวแทนนักการเมืองหญิง จากพรรคต่าง ๆ ได้นำเสนอนโยบายเพื่อให้สอดรับกับข้อเสนอ ซึ่งเกือบทุกพรรค มีนโยบายต่อกลุ่มเปราะบางคล้ายคลึงกัน ได้แก่

‘เพื่อไทย’ : ปัดฝุ่นกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

เพ็ญพิสุทธิ์  จินตโสภณ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า มีนโยบายนำกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่พรรคเคยดำเนินการมาแล้ว และสามารถใช้งานได้จริงนำมาปรับเพื่อให้คุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ให้กับผู้หญิง

‘ก้าวไกล’ : ลดค่าใช้จ่าย กระจายอำนาจ

สุทวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า พรรคได้จัดทำข้อเสนอ นโยบาย “ลดค่าใช้จ่าย กระจายอำนาจ” สนับสนุนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,200 บาท, นโยบายให้รัฐจ้างงานคนพิการ 20,000 คน/ปี นอกจากนี้ยังมีนโยบายผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ และกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ พร้อมรับปากจะพยายามผลักดันข้อเสนอจากภาคประชาชนให้เกิดขึ้น

‘ชาติพัฒนากล้า’ : จ้างงานคนสูงวัย 5 แสน ตำแหน่ง

เยาวภา บุรพลชัย พรรคชาติพัฒนากล้า ระบุว่า มีนโยบายสนับสนุนคนสูงวัยให้มีงานทำ โดยมีนโยบายจ้างงานคนสูงวัย 500,000 ตำแหน่ง, มีเงินทุน 50,000 บาท ให้แก่คนพิการ คนชรา ทุกบ้านโดยให้เบิกตามจริง และมีทุนสร้างสรรค์ 1 ล้านบาท ให้กับเยาวชนที่มีโครงการนำเสนอและดำเนินงานได้จริง นอกจากนี้พรรคยังมีนโยบายสนับสนุนกฎหมายความหลากหลายทางเพศ LGBTQ Plus  รวมถึงสนับสนุนเด็กให้พูดได้หลายภาษาด้วย ซึ่งพร้อมดำเนินการภายใต้แนวคิด “งานดี มีเงิน ของไม่แพง”

‘ประชาชาติ’ : “เรียนฟรี มีเงินเดือน” 

พรรคประชาชาติ ระบุว่า มีแนวคิดว่าเด็กทุกคนต้องได้เรียนหนังสือ ดังนั้นพรรคฯ จึงเสนอนโยบายพร้อม “เรียนฟรี มีเงินเดือน”  โดยเด็กนักเรียนจะได้รับทุน 3000 บาท รวมถึงสนับสนุนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 0-15 ปี รวมถึงประกันสังคมแบบสมัครใจ และสวัสดิการผู้สูงอายุ

‘ประชาธิปัตย์’ : แจกชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาท

ศิริภา อินทรวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า มีนโยบายสนับสนุนทุกกลุ่มคน ให้มีรายได้มั่นคง สนับสนุนชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาท, ชมรมจ้างงานผู้พิการ และผลักดันร่างกฎหมายคู่ชีวิต การรับรองเพศสภาพ

‘ไทยศรีวิไลย์’ : เพิ่มสวัสดิการแรงงานข้ามชาติ

ภคอร จันทรคณา พรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า จะเพิ่มนโยบายสวัสดิการแรงงานข้ามชาติ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 5,000 บาท/เดือน, คนพิการ 3,000 บาท/เดือน และเบี้ย อสม. อสส เพิ่ม 3,000 บาท /เดือน

‘สังคมประชาธิปไตยไทย’ : นโยบายธนาคารผู้ประกันตน

ผู้แทนจาก พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย ระบุถึง นโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะ ชนชั้นในสังคมแรงงาน  โดยการปรับแก้กฎหมายแรงงานให้มีฉบับเดียว  นอกจากนี้พรรคจะนำภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ามาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนอนุสัญญาแรงงานนอกระบบ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เสนอเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน และสนับสนุนโนบายเด็กเล็กถ้วนหน้า 3,000 บาท  และเพิ่มเงินอุดหนุนสวัสดิการคนชรา 3000 บาท รวมถึงการจัดตั้งธนาคารสำหรับผู้ประกันตนด้วย

‘เสมอภาค’ : เพิ่มรายได้ขยายโอกาส

พรรคเสมอภาค เสนอนโยบายเพิ่มเงินให้ทุกกลุ่มเปราะบาง 3,000 บาทเท่ากันทุกกลุ่ม อาทิ ผู้สูงวัย, คนพิการ, แม่รายเดือน และหลังคลอด ยกระดับศูนย์เด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน ,กลุ่มชาติพันธ์มีกฎหมายเฉพาะ ช่วยเหลือให้เท่าเทียม, ผลิตยาแผนไทยบำบัดผู้ติดยาเสพติด, เพิ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี, แก้ปัญหาสังคมที่ต้นเหตุ เพิ่มรายได้ขยายโอกาส

‘ไทยสร้างไทย’ : กองทุนเพื่อคนตัวเล็ก

ธิดารัตน์  ยิ่งเจริญ พรรคไทยสร้างไทย ระบุถึงนโยบายที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เช่น สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ให้เด็กเรียนฟรีจบปริญญาตรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ สนับสนุน SME ให้เข้าถึงกองทุนเพื่อคนตัวเล็ก สำหรับคนที่เข้าไม่ถึงเงินทุนในระบบ และบำนาญประขาชน 3,000 บาท

‘เสรีรวมไทย’ : น้ำมัน ไฟฟ้า ราคาถูก

ขณะที่ พรรคเสรีรวมไทย เสนอนโยบายผลักดันบูรณาการให้สตรีอยู่ในทุกกลุ่มงาน โดยเฉพาะในทางการเมือง เพื่อแก้ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ  นอกจากนี้พรรคยังมีนโยบายน้ำมัน ไฟฟ้า ราคาถูก แก้ปัญหายาเสพติด เรียนฟรี จบป.ตรี เพิ่มเบี้ยผู้พิการ และนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกิน



Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active