แนะ ระบบบำนาญแห่งชาติ แก้ปัญหาความยากจนในผู้สูงอายุ

65.2% ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ไม่มีการออม มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และเครือข่ายย้ำความสำคัญ แก้ไขให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และการส่งเสริมกองทุนเงินออมผู้สูงอายุ

วันนี้ (11 พ.ค. 2565) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “การขับเคลื่อนในการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติและพัฒนาการบริหารจัดการทางการคลังของระบบบำนาญแห่งชาติให้มีความเพียงพอและยั่งยืน”

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ข้อมูลประมาณการประชากรจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (complete aged society) ภายในปี 2565 คือ ประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และจะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในสามของประชากร อีกภายใน 20 ปี ซึ่งผู้สูงอายุมีอัตราความยากจนสูงกว่ากลุ่มประชากรอื่น

ปัจจุบันผู้สูงอายุมีเบี้ยยังชีพ เป็นฐานของการคุ้มครองทางสังคม ข้อมูลจากผลการศึกษาของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้สำรวจผลกระทบจากการใช้มาตรการปิดเมืองต่อสภาพความเป็นอยู่และการเข้าถึงบริการ เฉพาะของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตเมืองของจังหวัดอื่น และเขตชนบท จำนวนทั้งสิ้น 808 ราย ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2563 พบว่า ร้อยละ 99.3 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ได้รับและพึ่งพารายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และร้อยละ 65.2 ของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ไม่มีการออม

โดยที่เบี้ยยังชีพอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไปทั้งนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะมีผลอย่างมากต่อความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ ทั้งผลกระทบต่อรายได้ของผู้สูงอายุและลูกหลาน เมื่อพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระบบบำนาญจึงถือเป็นระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุในการช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนลงได้

นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า อนาคตประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงวิกฤตความยากจนในผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติถือเป็นความคุ้มครองทางสังคมประเภทหนึ่ง โดยจำเป็นจะต้องคำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในอันดับต้นของโลก

ทั้งนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ งบประมาณรายจ่ายด้านบำนาญผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยงบประมาณส่วนมากเป็นบำนาญข้าราชการดังนั้น ระบบบำนาญแห่งชาติ ควรจะกำหนดเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุทุกคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุยากจน และผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งไร้ที่พึง ควรมีรายได้ยามชราภาพเพียงพอต่อการยังชีพ ช่วยป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำในช่วงวัยเรียนและวัยทำงานส่งผลให้กลายเป็นความยากจนเมื่อวัยชรา อีกทั้งยังเป็นระบบที่มีความยั่งยืนทางการคลัง และต้องคำนึงถึงมูลค่าของเงินที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และ ผศ.ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลการศึกษาโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” พบว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทางเศรษฐกิจของประชากรผู้สูงอายุและกลุ่มวัย 40-59 ปี มีความเปราะบางต่อความยากจนสูง เพราะส่วนมากไม่มีความสามารถในการออม

เมื่อพิจารณาจากรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563 มีผู้สูงอายุยากจนพุ่งขึ้นในหลายจังหวัด และส่วนใหญ่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งระดับเบี้ยยังชีพขั้นต่ำที่จะช่วยผู้สูงอายุกลุ่มยากจนที่สุดให้พ้นจากความยากจนได้ จะต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ แม้จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ก็ยังคิดเป็นงบประมาณที่น้อยกว่าระบบบำนาญของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในระยะยาว

ทีปกร กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบระบบบำนาญแห่งชาติ สามารถพัฒนาระดับมาตรฐานการครองชีพขึ้นไปได้ถึงระดับกึ่งกลางหรือมัธยฐานของครัวเรือนไทยที่ 6,000 บาทต่อเดือน หรือ 200 บาทต่อวัน โดยให้ผู้ทำงานอยู่นอกระบบสามารถทำการออม และให้รัฐบาลร่วมสมทบการออมในสัดส่วนเดียวกัน ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดไม่สูงกว่าระบบบำนาญภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ได้แก่ การขยายฐานภาษี ภาษีฐานทรัพย์สินและการลดนโยบายที่เอื้อให้กับคนรวย (Pro-rich) ซึ่งจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมลงได้

โดยคณะผู้วิจัยมีข้อเสนอดังนี้ 1. ควรกำหนดให้ระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นวาระแห่งชาติ (national agenda) ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน 2. มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นข้อจำกัด เพื่อให้มีการกำหนดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านบำนาญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนมีสิทธิได้รับ และสามารถคุ้มครองความยากจน จากเส้นความยากจนในแต่ละปี

ตัวอย่างเช่น แก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เป็น “พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2546” พร้อมทั้งแก้ไขให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ และสามารถมีแหล่งรายได้เพิ่มมากขึ้นสำหรับกองทุนผู้สูงอายุ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2564) เป็นต้น 3. สร้างระบบฐานข้อมูล โดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเบี้ยผู้สูงอายุส่วนเพิ่มเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ในวัยทำงาน 4. ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรม ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้น ขอรับบำนาญช้าลง และส่งเสริมการออม และ 5.เสนอให้มีการทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ” จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ

“จะต้องสร้างการขับเคลื่อนในลักษณะของ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ ภาควิชาการ ภาคประชาชน และ ภาคนโยบาย ร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง เหมือนที่ประเทศไทยเคยใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา จนสามารถสร้างระบบ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้สำเร็จ โดยควรสื่อสารให้ชัดว่า สิ่งที่จะได้มา (บำนาญผู้สูงอายุ) มีมากกว่าสิ่งที่จะเสียไป (ภาษี) และ ควรเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีวิวาทะ (dialogue) รวมถึงใช้กลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิด (influencer) และการสื่อสารออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อชักชวนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์”

ทีปกร กล่าวอีกว่า การผลักดันนโยบายต่าง ๆ อาศัยเจตจำนงทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งข้าราชการที่มีหน้าที่ถ่ายทอดนโยบายลงสู่การปฏิบัติล้วนมีข้อมูลและความพร้อม อาศัยเพียงความตั้งใจของผู้มีอำนาจที่จะผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติให้ถ่ายทอดลงมาสู่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากผู้มีอำนาจมีความตั้งใจจริง ย่อมได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมที่ผลักดันเรื่องนี้มาเป็นเวลานาน และเป็นแนวทางเพื่อให้มีระบบบำนาญแห่งชาติ อันสอดคล้องกับที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้ศึกษาวิจัยและเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่ 10-15 ปีที่แล้ว หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยสามารถมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจในระดับโลก ดังนั้น หลังวิกฤต COVID-19 ประเทศไทยควรจะมี การจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ และพัฒนาการบริหารจัดการทางการคลังของระบบบำนาญแห่งชาติให้มีความเพียงพอและยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้