พลิกโฉม ‘บรรทัดทอง’ เป็นถนนคนเดิน 21 – 22 ก.ย. นี้ ทดลองแก้ปัญหาจราจรแออัด

กทม. พร้อมฟังเสียง หากไปได้สวย เล็งขยายผลต่อ หวังแก้ปัญหาเมืองซอยตัน เตรียมผลักดันให้คนใช้ขนส่งสาธารณะ ขณะที่กิจกรรม Car Free Day วันอาทิตย์นี้ จูงจักรยานขึ้นรถไฟฟ้าฟรี!

วันนี้ (20 ก.ย. 67) กรุงเทพมหานคร เตรียมทดลองปรับพื้นที่สาธารณะในโครงการ Bangkok Car Free 2024 เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดและส่งเสริมการใช้พื้นที่สาธารณะของคนเดินเท้า ผ่านกิจกรรม ถนนคนเดิน (Pedestrianize) ระหว่างวันที่ 21 – 22 กันยายน 2567 ในย่านบรรทัดทอง ตั้งแต่ซอยจุฬาฯ 12 ถึงซอย 20 เวลา 16.00 – 24.00 น. โดยร่วมมือกับสำนักงานเขตปทุมวันและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นโยบายถนนคนเดิน เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการจัดระเบียบจราจรและปรับพื้นที่ให้เหมาะสมกับผู้คนมากขึ้น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จในการลดเลนถนนเพื่อขยายพื้นที่ให้คนเดิน (Street Diet) โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากการทดลอง โดยกิจกรรมนี้ไม่ใช่แค่ปิดถนนเพื่อสร้างภาพ แต่เป็นการส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง

“สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการทำในหลายประเทศ เป็นการทำ Street Diet ลดเลนถนนและเปิดให้คนได้เดินมากขึ้น อยากให้ทุกคนได้มาลองเดินกันและคิดอย่างไรก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เพื่อที่ กทม. จะได้นำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

นโยบายถนนคนเดิน มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาจราจรและความแออัดในพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยให้พื้นที่ที่เคยใช้สำหรับรถยนต์เปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับคนเดิน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านการค้าที่มีความคับคั่ง นอกจากจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศและปริมาณรถยนต์แล้ว ยังมุ่งหวังให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้า (Walkable City)

กิจกรรมนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย First Mile – Last Mile ที่ต้องการพัฒนาระบบเชื่อมโยงขนส่งสาธารณะและการเดินเท้า เพื่อให้การเดินทางของประชาชนสะดวกมากขึ้น พร้อมกันนี้ กรุงเทพมหานครยังเชิญชวนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อการปรับปรุงถนนคนเดิน หากผลตอบรับเป็นบวก นโยบายนี้อาจถูกขยายและพัฒนาเป็นระยะยาว

จักรยาน – สกูตเตอร์พับได้ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี! ‘วันคาร์ฟรีเดย์’ 22 ก.ย. นี้

ขณะที่ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล (EBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) และ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีชมพู) เปิดเผยว่า เนื่องในวัน คาร์ฟรีเดย์ (Car Free Day) 22 กันยายน ของทุกปี เพื่อลดปริมาณรถยนต์ในท้องถนน ลดปัญหามลพิษทางอากาศ และทางเสียง รวมทั้งลดปัญหาการจราจรติดขัด และอุบัติเหตุบนท้องถนน

เพื่อให้สอดรับกับกิจกรรม Car Free Day บริษัทฯ จะยกเว้นค่าโดยสารให้แก่ผู้ที่เดินทางด้วยจักรยานชนิดพับได้ และสกูตเตอร์ชนิดพับได้ ฟรี! ตลอดเวลาการให้บริการทุกสถานี เพียงนำจักรยานชนิดพับได้ และสกูตเตอร์ชนิดพับได้ มาแสดงตัวเพื่อรับบัตรโดยสารฟรี 1 ใบ ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร สำหรับ เข้า – ออก ในระบบรถไฟฟ้า ผ่านทางประตูพิเศษ (Swing Gate)

เช่นเดียวกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็ระบุว่า ในวันที่ 22 กันยายนนี้ จะยกเว้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้แก่ ผู้ที่เดินทางด้วยจักรยานฟรีทุกสถานี รวมทั้งส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท และส่วนต่อขยายสายสีลม โดยจักรยานพับได้ สามารถเข้าระบบฟรี ตลอดเวลาการให้บริการ

ส่วนจักรยานพับไม่ได้จะแบ่งระยะเวลาการเข้าระบบฟรีเป็น 2 ช่วงคือ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 09.00 น. และตั้งแต่เวลา 22.00 น. จนถึงปิดให้บริการส่วนรถไฟฟ้าสายสีทอง สามารถนำจักรยานเฉพาะพับได้ เข้าระบบฟรี ตลอดเวลาการให้บริการ ผู้โดยสารสามารถติดต่อขอรับคูปองเดินทางฟรี ได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารทุกสถานี

มหานครแห่งซอยตัน หวังดันให้คนใช้ขนส่งสาธารณะ

ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ทดลองสัญจรบนท้องถนน เพื่อติดตามความก้าวหน้าการเชื่อมโยงการเดินทางใน กทม. และส่งเสริมให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้น หลังทดลองเดินทาง พบว่า มีวิธีการเดินทางที่หลากหลายในกรุงเทพฯ โดยระบุว่า ปัจจุบัน 60% ของซอยใน กทม. เป็นซอยตัน ทำให้ผู้อยู่อาศัยในซอยลึก ๆ ประสบปัญหาในการเดินทางออกมาสู่ถนนใหญ่ บางคนอาจจำเป็นต้องปั่นจักรยานออกมาจอดและต่อรถยนต์สาธารณะ ดังนั้น การพัฒนา First Mile – Last Mile หรือการเชื่อมต่อการเดินทางช่วงต้นและช่วงท้าย จะต้องได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเพิ่มบริการ Feeder หรือรถรับส่งในซอยเพื่อลดความลำบากของประชาชน

“ถ้าเราไม่ทำเป็นตัวอย่าง ก็ยากที่จะไปพร่ำบอกให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะและสนับสนุนประชาชน จะเป็นเพียงแค่ทำเพื่อสร้างภาพ เพราะเมืองที่เจริญแล้วไม่ใช่เมืองที่ผู้มีรายได้น้อยมีรถยนต์ขับ แต่เป็นเมืองที่ทุกคนใช้รถขนส่งสาธารณะ”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อีกประเด็นสำคัญคือการเดินทางที่ต้องต่อหลายระบบกว่าจะถึงจุดหมาย หากค่าโดยสารแต่ละระบบไม่เชื่อมโยงกันจะทำให้ประชาชนมีภาระค่าเดินทางต่อวันหรือต่อเดือนสูงมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้ใช้บริการแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางควรจะไม่เกิน 10% ของรายได้ หากรัฐบาลสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านขนส่ง เชื่อว่าจะมีผู้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

นอกจากนี้ จุดเชื่อมต่อการเดินทาง เช่น ทางลาดและทางเท้า ควรได้รับการปรับปรุงให้สะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้แล้วและจะนำไปปรับปรุงในอนาคต

สำหรับประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้า ชัชชาติ บอกว่า หากจะทำให้ถูกลง ต้องมอง 2 ส่วน คือ ปัจจุบันรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เจ้าของคือรัฐบาล หากจะแก้ภาพรวมรัฐบาลก็ต้องมีส่วนร่วม อีกประการเป็นเรื่องสัญญาสัมปทาน ซึ่งเมื่อก่อนให้สัญญาสัมปทานเป็นรูปแบบ Net cost คือ ให้เอกชนเอาสิทธิ์ไปและจะคิดค่าโดยสารเท่าไร เป็นไปตามสัญญา ซึ่งยากที่จะไปแก้ให้ถูกลง เช่น BTS ได้คำนวณค่าโดยสารไว้แล้วตามสัญญาถึงปี 2572 หากจะให้ลดราคาก็ต้องชดเชยเงินให้ อนาคต สัมปทานอาจเป็นรูปแบบจ้างเดินรถแทน และรัฐรับผิดชอบค่าโดยสารซึ่งจะปรับให้พอดีกับประชาชนได้ง่ายขึ้น

ส่วนประเด็นรถโดยสารของ กทม. เช่น Feeder นั้น ยอมรับว่า มีไม่เพียงพอกับประชาชน ต้องหาทางขยายหรือหาแนวร่วม โดยตอนนี้ให้บริการฟรีแต่อนาคตต้องหารูปแบบให้อยู่ด้วยตัวเองได้ แต่อยากให้เอกชนซึ่งมีความสามารถมากกว่ามาร่วมทำตรงนี้ รูปแบบคือ กทม. ลองทำให้เป็นรูปเป็นร่างเปิดเส้นทางใหม่ ๆ และเมื่อมีความต้องการจากประชาชนมากขึ้นคิดว่าจะมีเอกชนเข้ามารับช่วงต่อมากขึ้น

เพื่อไปสู่เมืองเดินทางสะดวก กทม. ปรับปรุงอะไรไปแล้วบ้าง ?

ปรับปรุงทางเท้าใหม่

  • ดำเนินการแล้วเสร็จ 16 เส้นทาง รวมระยะทาง 87 กิโลเมตร และจะแล้วเสร็จเพิ่มเติมอีก 30 เส้นทาง รวม 136 กิโลเมตร ภายในปี 2568
  • เปลี่ยนจากทรายอัดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพิ่มความคงทน และทางเท้าสูง 10 ซม. เพื่อความสะดวกในการเดิน

ปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่าง

  • เปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED แล้วกว่า 50,000 ดวง และจะเปลี่ยนให้ครบ 85,000 ดวงในปี 2568

  • ใช้ระบบ IoT แจ้งเตือนเมื่อเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ และลดเวลาการซ่อมด้วยการจัดจ้างผู้รับเหมาซ่อมแซมอย่างรวดเร็ว

เส้นทางจักรยาน

  • สำรวจและปรับปรุงเส้นทางจักรยานแล้วกว่า 302 กิโลเมตร จากทั้งหมด 624 กิโลเมตร ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการใช้จักรยาน

ระบบจักรยานสาธารณะ (Bike Sharing)

  • ติดตั้งจักรยานสาธารณะ 600 คันตามจุดต่างๆ ในเมือง เช่น ถนนสาทรและสีลม ใช้บริการแล้วกว่า 8,800 เที่ยวต่อเดือน

มาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

  • แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 359 จุดให้ทันก่อนฤดูฝนปี 2567 และพัฒนาระบบพยากรณ์ฝนล่วงหน้า

  • ทำความสะอาดท่อระบายน้ำขั้นต่ำ 3,000 กิโลเมตรต่อปี ขุดลอกคลองและเปิดทางน้ำไหล รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำและออกแบบรางน้ำใหม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active