เปลี่ยนพื้นที่ใต้ทางด่วน สู่ ‘สวนเกษตร รร.พูนสิน’

เปิดสวนเกษตร 15 นาที โรงเรียนพูนสิน ชวนเด็ก ครู ชุมชน ร่วมออกแบบ ปลูกผัก ปลูกย่าน ปลูกการเรียนรู้ นำร่องแนวคิดเกษตรในเมือง ผลักดันประเด็นความมั่นคงทางอาหารของ กทม.

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดตัว พื้นที่สีเขียวกินได้โรงเรียนพูนสิน (เพชรสุขอุปถัมภ์) ‘ปลูกผัก ปลูกย่าน ปลูกการเรียนรู้’ นำร่องแนวคิดเกษตรในเมือง ผลักดันประเด็นความมั่นคงทางอาหารของ กทม.

สวนเกษตรพูนสิน เกิดขึ้นได้ด้วยแนวคิดปรับปรุงพื้นที่ใต้ทางด่วน ในย่านพระโขนง-บางนา ผ่านกระบวนการออกแบบร่วมกันกับชุมชนและโรงเรียน เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักถึงประเด็นความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของโลกปัจจุบัน โดยสวนเกษตรจะเปิดให้คนในชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ การปลูกผักยังเสริมสร้างกิจกรรมทางกาย สร้างบทสนทนาร่วมกันของชุมชน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนอีกด้วย

ทั้งนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยพื้นที่ข้างโรงเรียนพูนสินนั้น มีศักยภาพ จึงได้มอบพื้นที่ขนาด 2 งาน ให้โรงเรียนภายใต้สังกัด กทม. นำไปพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นเวลา 5 ปี

รศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) ระบุว่า การพัฒนาพื้นที่สวนเกษตรพูนสิน เป็นแนวทางขับเคลื่อนย่านพระโขนง-บางนาให้น่าอยู่ และยังเป็นการส่งเสริมวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย ผ่านการเชื่อมโยงเข้ากับการเรียนการสอนของภาคผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยนิสิตได้ลงพื้นที่ หารือกับเจ้าของพื้นที่นั่นคือชุมชน และนำไปสู่การออกแบบในพื้นที่จริง เพื่อให้แปลงเกษตรตอบโจทย์คนในพื้นที่ตามแนวคิด ‘ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่’ โดยมีแนวทางการทำงาน ดังนี้

  • ส.ค. – พ.ย. 66: UDDC ร่วมกับนิสิตสถาปัตย์ ผังเมือง จุฬาฯ ออกแบบพื้นที่ข้างโรงเรียนพูนสิน โดยมีส่วนร่วมกับครู นักเรียน ชุมชน

  • ธ.ค. 66: นิสิตนำเสนอแนวคิดการออกแบบแก่ชุมชน และสาธารณชนในงานนำเสนอสาธารณะ Edible Bangkok

  • ม.ค. 67: UDDC หารือกับภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาพื้นที่รกร้างสู่การเป็นพื้นที่สวนเกษตรตามที่นิสิตออกแบบ

  • ก.พ. – พ.ค. 67: UDDC และภาคี พัฒนาแบบก่อสร้างต่อยอดจากแนวคิดและแบบขั้นต้นของนิสิต

  • มิ.ย. 67: เริ่มการปรับปรุงพื้นที่

  • ก.ค. 67: ปรับปรุงพื้นที่แล้วเสร็จ

  • ส.ค. 67: เปิดใช้งานสวนเกษตรพูนสิน นักเรียน คุณครู และภาคี ร่วมปลูกผักในแปลงเกษตร

“สวนเกษตรพูนสิน เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองและย่านพระโขนง-บางนา ให้มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะ และสร้างโอกาส ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัยได้ต่อไป”

รศ.นิรมล เสรีสกุล

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า การพัฒนาสวนพูนสิน สอดคล้องกับนโยบายสวน 15 นาที การขับเคลื่อนเกษตรในเมืองของ กทม. ซึ่งยังสอดคล้องกับอีกหลายนโยบายของ กทม. ที่เคยประกาศไว้ เช่น ส่งเสริมตลาดเกษตรกร 50 เขต, ขยายฐานการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 5%, ตั้งศูนย์กระจายอาหาร 6 ศูนย์ ตลอดจนการจัดการขยะอาหารเป็นระบบครบวงจร โรงแรม ห้าง ศูนย์อาหาร ตลาด ร้านสะดวกซื้อ เข้าร่วมระบบรวมขยะอาหาร โดยรวมขยะอาหารได้อย่างน้อย 150 ตัน/วัน

กทม. ยังเป็นหนึ่งในเมืองที่เข้าร่วมประชุมคณะทำงานโครงการความร่วมมือระดับเมืองและระดับภูมิภาคระหว่างประเทศ (IURC) และ เครือข่ายกติกาสัญญานโยบายอาหารในเมืองมิลาน (Milan Urban Food Policy Pact) โดยร่วมมือกับกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี และสหภาพยุโรป ทำให้การผลักดันนโยบายทางด้านอาหารจึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องลงมือปฏิบัติ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

“สวนเกษตรพูนสิน เป็นต้นแบบทั้งเชิงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายพัฒนาเมือง และต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่สามารถขยายผลและทำซ้ำในพื้นที่อื่น ๆ ได้ต่อไป”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

สำหรับผักที่ปลูกในแปลงเกษตรมีหลายหลายชนิด ได้แก่ พริก โหระพา คะน้า ผักสลัด ผักกาด ผักบุ้ง กะเพรา กวางตุ้ง มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว แตงกวา และ บวบ ซึ่งเป็นผักที่มาจากความต้องการของโรงเรียน และทาง UDDC ได้ประสานขอผักและเมล็ดพันธุ์จากสำนักพัฒนาสังคม กทม. อีกด้วย

ส่วนในระยะที่ 2 การทดลองและดำเนินการสู่การปฏิบัติจริง คือ การพัฒนาจากข้อเสนอด้านการออกแบบพื้นที่นำร่องสู่การปฏิบัติจริง ด้วยการทำให้เจ้าของพื้นที่และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเล็งเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนา จึงได้มีการต่อยอดและพัฒนาข้อเสนอด้านการออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานจริงในพื้นที่ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active