แลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี ยกระดับเมืองรอง ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตัวแทน UDDC ชี้เปลี่ยนประเทศต้องเปลี่ยน “เมือง” ยกบทเรียน 1 ทศวรรษ กระตุ้นท้องถิ่น ฝั่งธนาคารโลก แนะปลดล็อกกระจายงบฯ สู่ท้องถิ่น
วันนี้ (20 ส.ค. 67) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ธนาคารโลก ในประเทศไทย จัดเวทีเสวนาในชื่อ “Goodwalk Forum Thailand 2024” เมื่อเมืองรองออกเดิน ยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ เมืองเดินดี กับการพัฒนาและยกระดับเมืองรองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. บอกว่า เป็นความร่วมมือของ สสส. และ UDDC-CEUS โดยได้เข้าไปร่วมกันพัฒนาโครงสร้างของเมือง ซึ่งจะนำไปสู่แนวคิดการเดินเท่ากับการออกแบบเมือง การสร้างความเป็นย่าน รวมถึงการส่งเสริมเมืองเดินได้ เดินดี จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างผลกระทบทางบวกต่อทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม อาจกล่าวได้ว่าอาจสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน ตลอดจนสร้างสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ทางกาย, จิต, สังคม และปัญญา
ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า การนำยุทธศาสตร์เดินได้ เดินดีผนวกเข้ากับการพัฒนาเมือง เข้ากับบริบทการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง อย่างไรก็ตามการพัฒนาจัดการบริหารเมืองรอง ด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ เดินดี ยังคงต้องสร้างความเข้าใจ ในการได้โอกาส และการพัฒนาเมือง
ส่วนการนำเสนอหัวข้อ “เมืองรองกับการพัฒนาประเทศ หนึ่งทศวรรษ: ยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” โดย รศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) ได้อธิบายและยกตัวอย่างเมืองเดินได้ เดินดี และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ เมืองเดินดีเป็นเวลา 10 ปี
พร้อมทั้งอธิบายกรอบนิยามว่า “เมืองไม่เท่ากับจังหวัด” เพราะ เมืองรอง คือ เมืองศูนย์กลางความเจริญที่สามารถกระจายการพัฒนาจากเมืองหลักของภูมิภาคสู่พื้นที่อื่น ๆ ในระบบเมืองและชุมชน และนิยามของเมืองเดินได้ -เมืองเดินดี คือ เมืองที่สภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมืองที่สนับสนุนการเดินเท้า โดยมีความปลอดภัย สะดวกสบาย และมีชีวิตชีวา ยังส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดี มีประสิทธิภาพ
อีกทั้งชี้ว่าการจะเปลี่ยนประเทศต้องเปลี่ยน “เมือง” โดยมี
- ศูนยน์กลางทางเศรษฐกิจ
- แหล่งนวัตกรรมและเทคโนโลยี
- การดึงดูดทรัพยากรและแรงงาน
- โครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ
- การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
ส่วนบทบาทของ UDDC ในการสนับสนุน อปท. และ สศช. คือ จะไม่จำกัดเพียงเรื่อง “เมืองเดินได้-เดินดี” แต่จะเป็นเรื่อง “การพัฒนาเมือง” ตาม ชื่อ “ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง” ลักษณะของแผนพัฒนาเมือง ต้องให้มีการออกแบบ (Design) เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนพัฒนาเมือง และเมืองเดินได้-เมืองเดินดี จะเป็นประเด็นยุทธศาสตร์หนึ่งในแผนพัฒนาเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนไปสู่ความเป็น “เมืองน่าอยู่”
ปิดท้ายด้วยการสรุปบทเรียน 1 ทศวรรษจากการร่วมงานกับ อปท. ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้เดินดี ประกอบด้วย
- แนวทางการพัฒนาเมืองด้วยแนวคิดเมืองเดินได้-เดินดี สามารถใช้เป็นแนวทาง ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเช่นเดียวกับแนวทางอื่น ๆ ทั้งเมืองหลวงและเมืองภูมิภาค
- ประชาชนในหลายพื้นที่ยอมรับและเห็น ด้วยที่จะใช้แนวคิดเมืองเดินได้-เดินดีเป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนเมืองของเขา
- เทศบาลหลายแห่งต้องการขับเคลื่อนเมืองด้วยแนวคิดเมืองเดินได้-เดินดี
- เมืองเดินได้-เมืองเดินดีสามารถ บูรณาการเป็นระบบนิเวศสนับสนุนให้กับงานหลายส่วนของราชการ
ขณะที่ ขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลกผู้รับผิดชอบประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ขึ้นการเสวนาหัวข้อ เดินไปข้างหน้า: ยกระดับการพัฒนาประเทศด้วยเมืองรอง บอกกับ The Active ถึงภาพรวมยุทธศาสตร์ที่จะกระจายอำนาจและพัฒนาเมืองรอง ว่า ไม่ใช่แค่ธนาคารโลก แต่มีแนวทางการพัฒนา โดยส่วนตัวเน้นว่าไม่เพียงทำการศึกษา แต่จะเป็นการแอคชั่น
“ประเทศไทยมีข้อดีตรงที่มีนโยบาย Sandbox อาจจะเอาเมืองสัก 4-5 เมืองมาทำ Sandbox ขั้นแรกในพื้นที่มีโครงการลงทุนอะไร เราสามารถใช้ Sandbox ปลดล็อกในส่วนของอำนาจให้ทำได้เลย แล้วก็พัฒนาโครงการขึ้นมาเพื่อให้เกิดการลงทุน”
ขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ
ขวัญพัฒน์ ระบุด้วยว่า โดยกลไก เมืองรองติดปัญหาอยู่ 3 เรื่องใหญ ๆ คือ เงิน อำนาจ และศักยภาพ ส่วนของเรื่องเงิน ลักษณะตัวงบประมาณ รายได้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีอยู่ประมาณ 11-15% ที่เหลือต้องรอเงินมาจากส่วนกลาง ฉะนั้น อำนาจหน้าที่ที่มีจะทำได้แต่โครงการเล็ก ๆ เรียกปัญหานี้ว่าเหลือช่องว่างตรงกลาง งบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาเมือง ไม่ว่าเรื่องขยะ น้ำเสีย การขนส่ง การทำให้เมืองน่าอยู่และตรงกับทิศทางมากขึ้น มันไม่มีเงินจึงนำเสนอว่าเครื่องมือที่หลายประเทศใช้แล้ว อย่างเช่น การออกพันธบัตรของโดยเมือง หรือการร่วมทุนกับเอกชนก็สามารถเป็นทางเลือกที่ไทยจะสามารถใช้เครื่องมือสองอย่างนี้ในการขับเคลื่อนเมืองรอง
และการเสวนาหัวข้อสุดท้าย คือ “สะท้อนย้อนหลังสู่อนาคต: การยกระดับเมืองรองเพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจและพัฒนาประเทศผ่านยุทธศาสตร์เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ร่วมเสวนาโดยผู้บริหารจากเมืองรอง และ องค์กรพัฒนาส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็มีการได้แสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารของแต่ละท้องถิ่น ที่พร้อมแสดงศักยภาพของเมืองรอง