สรุปบทเรียน 10 ปี โครงการเดินได้เดินดี

กทม. และหัวเมืองภูมิภาค ขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ส่งเสริมการเดินเท้า กระตุ้นเศรษฐกิจรายทาง และสุขภาพคนเมือง ด้าน UddC สะท้อนข้อจำกัดจากกลไกภาครัฐ และขาดการสนับสนุนเชิงงบประมาณ ทำให้การเดินหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปด้วยความล่าช้า

วันนี้ (26 ต.ค. 66) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The Active Thai PBS ร่วมจัดงาน Goodwalk Forum Thailand 2023 ก้าวสู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาเมือง ด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้-เมืองเดินดี

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในหัวข้อ กรุงเทพเมืองเดินได้-เดินดี ว่า ตรอก ซอก ซอย ทำทางเท้าไม่ได้เพราะพื้นที่เล็กมาก แต่ใช้วิธีการทางสีแบ่งช่องทางเดินให้ชัด ทำให้คนเดินได้สะดวกขึ้น ส่วนของชุมชนต่างๆ ก็ปรับปรุงเพิ่มเติมทั้งทางเท้า แสงสว่าง และไม่ว่าจะเป็นสิ่งกีดขวางทางเท้า หาบเร่แผงลอย ต้องพยายายามจัดหาพื้นที่ให้ขาย จัดระเบียบเรียบร้อย ให้คนสามารถใช้พื้นที่นันทนาการได้ด้วย เช่น พื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม เป็นตัวอย่างที่ดี มีการเคลียร์พื้นที่แล้ว ส่วนการขับขี่บนทางเท้า มีความพยายามนำกล้องมาติดเพื่อติดตามดำเนินคดี รวมไปถึงการขอความร่วมมือจากบริษัทขนส่งต่างๆ ที่มักใช้มอเตอร์ไซค์ในการขนส่ง ว่าไม่ให้ขับขี่บนทางเท้า

สำหรับสายสื่อสาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ กสทช. ไม่ใช่อำนาจของกรุงเทพมหานครโดยตรง กระบวนการจัดระเบียบอย่างหนึ่งคือเอาสายสื่อสารลงดิน จะทำได้สายไฟฟ้าต้องเอาลงดินก่อน ซึ่งการไฟฟ้านครหลวงมีแผนที่จะทำต่อเนื่อง จนถึงปี 2570 ระหว่างนี้ได้ประสานกับ กสทช. ให้ตัดสายตายออก ที่รกให้เอาออกแล้ววางสายใหม่ เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องลงทุนใหม่ เป็นอุปสรรคที่ทำให้ กสทช. เองก็ทำงานลำบาก ต้องหาพื้นที่หารือกับภาคเอกชนด้วยเช่นกัน ตั้งเป้าปี 2567 ต้องทำให้ได้ถึง 400 กิโลเมตร

กรุงเทพฯ ต้องสว่าง เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญ กับแสงสว่าง กรุงเทพมีไฟทั้งหมดราว ๆ​ 300,000 ดวง ที่เป็นของกรุงเทพมหานครดูแล 180,000 ดวง ได้มีการปรับให้เป็นระบบ LED และตั้งระบบติดตามการทำงานของไฟ ว่ามีการเสียตรงจุดไหนอย่างไรได้ผ่านเทคโนโลยีให้การซ่อมแซมเกิดขึ้นสะดวก

“โดยสรุปคือการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้า คือการเคลียร์ทางเท้า ทำทางม้าลาย ติดตั้งบันไดสะพานลอย บูธท่องเที่ยว ป้อมตำรวจ สาธารณูปโภค สร้างบรรยากาศที่ดีส่งเสริมเมืองน่าเที่ยวน่ามอง ตอนนี้ปรับปรุง ทางเท้าบริเวณราชประสงค์ ติดตั้งภูมิทัศน์สะพานเขียว เชื่อมต่อการเดินทางจากสวนลุมไปยังสวนเบญจกิติ ให้เข้าด้วยกัน และอีกโครงการที่รับฟังความคิดเห็นอยู่คือ สกายวอล์คจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถึงสะพานพระราม 6 คิดว่าปลายปีนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะสร้างหรือไม่ อย่างไรให้ตอบโจทย์ความต้องการ การส่งเสริมทางเดินให้เข้าถึงชุมชนที่ทำแล้ว เช่น สะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ เชื่อมต่อวัดกัลยาฯ-ชุมชนกฎีจีน เป็นเรื่องที่กำลังเดินหน้าอยู่ อีกส่วนคือสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากคลองสานไป สี่พระยา ทรงวาด อยู่ระกว่างการรับฟังความคิดเห็น เราอยากให้เกิด Global landmark ในกทม. ที่จะดึงความสนใจใหม่ ๆ กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของ กทม.”

รศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ ก้าวสู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาเมืองด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้-เดินดี ว่า การเดินทางของผู้คนในเมืองจะเป็นอย่างไร มีผลโดยตรงต่อความเป็นไปของเมือง ทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์เมือง และการทำลายเมือง แล้วเมืองเดินได้เดินดีเป็นอย่างไร? คือต้องฟรีไม่เสียตัง เดินได้ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง เดินแล้วปลอดภัยเพื่อให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“การเดินยังมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เช่น ในพื้นที่เดินได้บ้านใกล้เรือนเคียง จะสร้างความสัมพันธ์ได้มากกว่าเมืองที่มีถนนไฮเวย์กั้น เช่น แถววิภาวดี เรื่องนี้น่าคิดถึงว่าผู้สูงอายุจะอยู่บ้านอย่างที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในละแวก หรือแค่รอให้ลูกหลานขับรถมารับไปกินข้าวเฉย ๆ เมืองแบบไหนที่ทำให้คนแก่ตายยาก ยังทำมาหากินได้ปกติ ให้สภาพแวดล้อมของเมืองทำให้เรามีกิจกรรมทำได้อาทิตย์ละอย่างน้อย 150 นาที และทำอย่างไรให้เป็นเมืองเดินได้ขายดี เพราะเมืองที่เดินสะดวกมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เพราะห้างสรรพสินค้าไม่ใช่คำตอบเดียวของการส่งเสริมแบรนด์ดัง บางแบรนด์ระดับโลกของฝรั่งเศสก็มีที่มาของร้านค้าริมถนน”

โครงการสกายวอล์ค ราชวิถี-โยธี ไม่ใช่แค่ทางเดินสองชั้น แต่มีความหมายที่ลึกกว่านั้น เพราะสองฝั่งถนนมีกิจกรรมต่อเนื่องเชื่อมต่อกัน และเป็นย่านสำคัญของประเทศ ที่โครงการฯ ได้มียุทธศาสตร์ในการวางแผนเพื่อกระตุ้นย่าน สนับสนุนการเดินทางในย่านนี้จริง ๆ ซึ่งการเดินได้เดินดี จุดหมายส่วนใหญ่ที่คนจะเดิน ก็คือเดินไปซื้อของ ไปโรงเรียน ไปหน่วยงานราชการ และอื่น ๆ ซึ่งต้องทำให้คนรู้สึกเดินปลอดภัย เดินได้สะดวก เราจึงต้องทำโครงสร้างกันฝนกันแดด เพื่อส่งเสริมการเดิน มีทางข้ามปลอดภัย มีต้นไม้ให้รื่นรมย์ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเดินในระยะที่ไม่เกิน 800 เมตร จึงต้องทำให้มีจุดเชื่อมในระยะต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการเดิน

บทเรียนตลอดการทำงานในโครงการเมืองเดินได้เดินดี 10 ปี พบว่า แนวคิดเมืองเดินได้เดินดี สามารถใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองได้เช่นเดียวกับแนวคิดอื่น ๆ ทั้งกรุงเทพฯ และในระดับภูมิภาค โครงการปรับปรุงพื้นที่ การลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของรัฐช่วยเปลี่ยนบริบทเมืองได้จริง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น คลองโอ่งอ่าง และยกระดับเป็นเมืองเดินได้ขายดีได้ ตัวอย่าง เมืองร้อยเอ็ด เมืองทวาราวดี พัฒนาให้คนเดินได้ในระยะใกล้ วัดวาอาราม โบราณสถานอยู่ในระยะที่เดินถึงเป็นส่วนใหญ่ การมีโครงการกระตุ้นย่านจะสร้างงานอาชีพ และชวนลูกหลานกลับบ้านเกิดได้อีกด้วย ตัวอย่าง โอกาสเศรษฐกิจใหม่ของเมือง เช่น ที่ลำพูนก็มีสร้างกาแฟเพิ่มขึ้น 10 เท่าในระยะ 5 ปี หลังโครงสร้างพื้นฐานถูกพัฒนา

“อีกประการสำคัญคือ แรงผลักดันของภาคประชาชนเห็นด้วยและยอมรับแนวคิดในการขับเคลื่อน โดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นส่วนผลักดันสนับสนุน แต่ที่ผ่านมากว่าจะได้ทุนหรือการผลักดันจากภาครัฐนั้นเป็นเรื่องยากมาก ๆ ระดับนโยบายยังมีให้เห็นน้อยมาก อยากให้รัฐเห็นว่าไม่ใช่เรื่องการปรับปรุงทางเท้า แต่เมืองเดินได้เดินดีคือยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่มีระบบของการพัฒนาเมืองไทย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active