ไฟไหม้ชุมชนเยาวราชสะท้อนระบบป้องกันภัย

ประธานสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท.ชี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เหตุเพราะมีข้อจำกัด และหลายปัจจัยเสี่ยง แนะตั้งรับ – ออกแบบชุมชนให้มีระบบป้องกันภัยที่ดีช่วยลดการสูญเสีย

วันนี้ (8 ก.ค.2567) บุษกร แสนสุข ประธานสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท. เปิดเผย หลังลงสำรวจพื้นที่เยาวราชกับ กทม.และหลายหน่วยงาน พบมีบ้านอาคารเก่าในชุมชนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้จะลุกลามเร็ว แต่สำหรับสาเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด บ้านหลายหลังไหม้ทั้งหมดรวมทั้งตัวบ้าน

แต่จากการสำรวจพบว่า สายไฟอุปกรณ์ไฟฟ้าเก่า บางจุดมีการต่อพ่วงและขาดการดูแล ขณะที่ถังแก๊สที่พบได้ทั่วไปในครัวเรือนในการประกอบอาหารกินเองและค้าขายในตลาดเป็นความเสี่ยงหนึ่ง ไม่ต่างจากแบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือพาวเวอร์แบงค์ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องดูแลระมัดระวัง จริงๆแล้วพื้นที่ชุมชนใน กทม.ต้องมีถังดับเพลิงระยะห่างแต่ละจุด ไม่เกิน 23 เมตร ให้อยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงง่ายจะลดความเสี่ยง อนาคตอาจต้องคิดเรื่องนี้เพื่อความปลอดภัยที่ต้องมีไว้ในทุกบ้าน

ประธานสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท. ยังระบุถึง ประเด็นน้ำเพื่อดับเพลิง หรือประปาหัวแดงที่เป็นหัวจ่ายน้ำดับเพลิงอย่างน้อย ๆ ก็พบว่า ในพื้นที่มีเพิ่มขึ้นจากในอดีต และเป็นเรื่องที่ดีที่ กทม. มีการลงประปาหัวแดงเพิ่มเพราะจากการรายงานในแอปพลิเคชัน กทม.ถึงตำแหน่งของปะปาหัวแดงเพิ่มจากเดิม แต่อาจต้องขยับให้มีการอบรมคนในชุมชน เพิ่มทักษะการใช้ และดูแลเพิ่มเติม

แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดในการดับเพลิงรอบนี้เห็นความชัดเจนบางเรื่อง เช่น ผังอาคารที่เราไม่ได้เว้นช่องให้ห่างกันเลย จะเห็นสภาพบ้านสร้างติดกัน หลังคาชนกัน เข้าใจว่าเป้นข้อจำกัดเชิงพื้นที่ จากเหตุการณ์ครั้งนี้จะเห็นว่าจุดไหนเว้นระยะห่างจะทำให้การไหม้ลดลงขณะที่ตอนลงสำรวจบางจุดห่าง 2.50 เมตร ลดความเสี่ยงได้

หากมองกฎหมายผังเมือง การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยต้องเว้นระยะห่าง แต่บ้านเราอย่างชุมชนอยู่กันมานาน อาจมีการกำกับน้อย ก็มีความยากในบริบทการจัดการ ขณะที่การแก้ปัญหาอยากเน้นให้มีการป้องกัน เรื่องอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยเพิ่มและต้องมีมาตรฐาน ครั้งนี้ไม่มีคนเสียชีวิตเลยก็เพราะ กทม. และชุมชนเขามีแผนการซักซ้อมดีขึ้น เพราะขณะสำรวจ พบเห็นมีอุปกรณ์แจ้งเตือนและป้องกันอัคคีภัยหลายส่วน การวางแผนเตรียมพร้อมจะทำให้เราทราบว่ามีผู้ป่วยติดเตียง หรือคนชรา กลุ่มเปราะบาง จึงทำให้ลดการสูญเสียไปได้

จริง ๆ เรามีกฎกระทรวง ฉบับที 39 (พ.ศ. 2537) อย่าง หมวด 1 แบบและวิธีการเกี่ยวกับการติดตั้งระบบการป้องกันอัคคีภัย
ข้อ 2 อาคารดังต่อไปนี้ต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยตามที่กําหนดในกฎกระทรวงนี้ อย่างห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ทีมีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถืออย่างใดอย่างหนึ่ง ตามชนิดและขนาดที่กําหนดไว้ หรือห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ทีมีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ติดตั้งอยู่ในอาคารอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกคูหา ขณะที่ อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึงเพื่อให้หนีไฟ

สำหรับอนาคตต่อจากนี้ไปภาครัฐอาจหนุนเสริมจัดสรรให้ต้องมีเจ้าภาพเข้ามาบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมขณะที่งบประมาณบางส่วนอาจหนุนเสริมช่วยชุมชน จะทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงอักคีภัยในชุมชนเมืองดีขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active