อยากให้มีสถานีอยุธยา แต่ต้องสงวนพื้นที่มรดกโลกด้วย

WatchCats แมวมอง-เมือง จัดเสวนา ‘มรดกโลกอโยธยากับรถไฟความเร็วสูง’ ย้อนจุดเริ่มต้นโครงการรถไฟความเร็วสูง หนึ่งในข้ออ้างรัฐประหารปี 57 เผย EIA ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ส่วน HIA รัฐบาลไม่ค่อยพูดถึง นักวิชาการ แนะ ควรหาทางออกเป็นรูปธรรมผ่านกลไกรัฐสภา

30 ก.ย. 2566 กลุ่ม WatchCats แมวมอง-เมือง จัดเสวนาเรื่อง มรดกโลกอโยธยากับรถไฟความเร็วสูง เพื่อแสดงข้อคิดเห็น และย้ำจุดยืนว่าสนับสนุนให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีสถานีรถไฟความเร็วสูง ที่ยังคงไว้ซึ่งสถานะมรดกโลก

ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่ายังไม่ควรสร้าง และโครงนี้กลายเป็นหนึ่งในข้ออ้างของการรัฐประหารปี 2557  แต่เมื่อ คสช. ขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็มีแนวคิดที่อยากเปลี่ยนให้เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง เมื่อปี 2560 มีการทำข้อตกลงกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน เพื่อร่วมมือกันสร้างรถไฟความเร็วปากลางเส้นทางเวียงจันทร์-กรุงเทพฯ และเชียงใหม่-กรุงเทพฯ เวียงจันทร์ นอกจากนี้ ยังใช้ ม.44 ในการสร้างด้วยวิธีการพิเศษ จนละเลยการศึกษาเรื่องพื้นที่มรดกโลก จนกระทั่งมีจดหมายจากศูนย์มรดกโลกมาในปี 2564 ที่มีข้อกังวลว่าโครงการนี้จะกระทบต่อมรดกโลก จึงเสนอให้สร้างรถไฟความเร็วสูงอ้อมไปยังเขตเมืองใหม่

ด้าน ผศ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงประเด็นกฎหมายการพัฒนาพื้นที่ ชี้ว่าต้องคำนึงให้ครบทุกมิติ เพราะเป็นการเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งในทางกฎหมายมีข้อจำกัดอยู่ 2 ข้อใหญ่ ๆ คือ กายภาพของพื้นที่ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเรื่องของชุมชน เช่น วัฒนธรรม โบราณสถาน

“หลักการสากล การอนุรักษ์กับการพัฒนาต้องไปคู่กัน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องทำให้สมดุลกัน ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง”

ผศ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

ผศ.พรสันต์ ยังกล่าวถึงคำสั่ง คสช.ที่ 30/2560 ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งคำสั่งนี้ส่งผลให้คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยมีลักษณะของการละเว้นข้อกฎหมาย กำหนดการจัดซื้อจัดจ้างและการประมูล มีการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจีนเข้ามาเซ็นสัญญาให้แล้วเสร็จ ซึ่งในทางกฎหมายผังเมือง ก่อนที่จะเข้าไปจัดการสร้างหรือใช้ประโยชน์ที่ดินต้องมีการสำรวจตรวจสอบก่อน และให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาแสดงความคิดเห็น เท่าที่ทราบพบว่ามีการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment-EIA) แต่เป็นการทำโดยอ้างอิงจากช่วงยุคก่อน ไม่ใช่การทำในช่วงยุคนี้ และเป็นการประเมินที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เป็นขั้นตอนที่ลัดขั้นตอนเกินไป ส่วนรายงานประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (Heritage Impact Assessment-HIA) เขาบอกว่าไม่ค่อยได้ยินรัฐบาลพูดถึงการประเมินนี้ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องเศรษฐกิจและคนในพื้นที่ ถ้าสามารถทำได้จะช่วยให้การดำเนินการมีความสมบูรณ์มากขึ้น

รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้เรียนรู้จากประเด็นนี้ และเห็นถึงการ ‘รื้อ’ 3 อย่าง คือ 1. รื้อพรมแดนความรู้ 2. รื้อพรมแดนพื้นที่อนุรักษ์ 3. รื้อพรมแดนอำนาจ แต่สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้คนสามารถอาศัยอยู่ร่วมกับพื้นที่อนุรักษ์ได้

รศ.ยุกติ มองว่า เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันหาทางออกที่เป็นรูปธรรมจริง ๆ อาจพึ่งกลไกของรัฐสภา รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในเมื่อโครงการนี้ได้สืบทอดมาในอุดมคติเดียวกัน เหตุใดจึงจะไม่เริ่มหาทางออก และอยากให้มีการขุดคุ้ยเรื่องผลประโยชน์ของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพราะหากไม่แตะเรื่องนี้เลยจะหาข้อสุรปได้อย่างไร


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active