เปิด พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ให้ประชาชนสักการะ 10 พระพุทธรูปโบราณรับปีใหม่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ อัญเชิญพระพุทธรูปเก่าแก่ 10 องค์ อายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี ให้ประชาชนเข้าสักการะเป็นสิริมงคลพร้อมหวังเป็นสื่อกลางศึกษาค้นคว้า ศิลปะและคติการสร้าง ขณะ “กรุงเทพโพลล์” เผย 3 อันดับแรกคนไทยขอพร หวังปี 2566 เศรษฐกิจดี-สุขภาพแข็งแรง-บ้านเมืองสงบสุข

วันนี้ 31 ธ.ค. 2565 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมนิทรรศการ “มงคลพุทธคุณ เทศกาลปีใหม่ 2566” Auspicious Buddha of the Front Palace

นิภา สังคนาคินทร์ ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวว่า ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่การนำพระพุทธรูปสำคัญมาประดิษฐานให้ประชาชนได้เคารพบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลคือสิ่งที่ทำมาตลอดระยะเวลา 12 ปี โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมได้มอบหมายให้สำนักพิพิธภัณฑสถานจัดนิทรรศการพิเศษ ในการจัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญแห่งแผ่นดินที่ได้สงวนรักษาเอาไว้ ซึ่งในแต่ละปีมีการคัดเลือกพระพุทธรูปต่างกันไป สำหรับในปี 2566 ได้อัญเชิญพระพุทธรูปประจำวันทั้ง 9 องค์ (จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร 8 องค์ และจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา 1 องค์) และ 1 องค์พระประธาน คือพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งประดิษฐานยังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งถูกอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2332 แม้ก่อนหน้านี้จะไปประดิษฐานอยู่ในที่อื่นด้วย เช่น วัดพระศรีนรัตนศาสดาราม แต่ท้ายที่สุดรัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานยังวังหน้าแห่งนี้เป็นต้นมา ถือว่าเป็นพระประธานที่ขาดไม่ได้ในการเคารพบูชาในงานสำคัญของกรมศิลปากร จึงเท่ากับว่าประชาชนจะได้สักการะทั้งหมด 10 องค์สำคัญ ดังนี้

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันจันทร์
พระพุทธรูปไสยาสน์ ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันอังคาร
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21-22 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันพุธ
พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันพุธกลางคืน
พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24-25 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี
พระพุทธรูปปางรำพึง ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันศุกร์
พระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันเสาร์
พระพุทธรูปปางถวายเนตร ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่เกิดวันอาทิตย์
และ พระเกตุ หรือพระหายโศก (ปางสมาธิ) ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้ที่ไม่ทราบวันเกิดตัวเอง

“ใครเกิดวันไหนสามารถที่จะสักการะบูชาตามวันเกิดของตัวเองซึ่งจะมีคาถาสวดที่ต่างกันไป นอกจากจะอัญเชิญพระพุทธรูปประจำวัน แล้ว พระพุทธสิหิงค์ นอกเหนือจากความสวยงามแล้วยังเป็น 1 ในพระพุทธรูป 40 ปางที่เราได้คัดเลือกตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในช่วงรัชกาลที่ 3 ถือว่าเป็นปางสำคัญของแผ่นดิน ทั้งเรื่องของศิลปะ คติการสร้าง การค้นพบที่มาที่ไปของพระพุทธรูปแห่งนี้ ซึ่งมีข้อมูลให้ศึกษาในที่แห่งนี้ได้เลย นอกจากนี้เรายังจัดพิมพ์หนังสือมงคลพุทธคุณเทศกาลปีใหม่ 2566 และโปสการ์ดพระประจำวันเกิด เพื่อให้เป็นสื่อกลางในการศึกษาค้นความในเชิงละเอียด หรือสามารถนำไปเคารพบูชาได้เพื่อให้เกิดประโยชน์ สร้างศรัทธาทางจิตใจ โดยสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 มกราคม 66”

ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการมอบของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครยังได้จัดกิจกรรมนำชมการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ เป็นรอบพิเศษในช่วงเย็น สำหรับประชาชนที่สนใจเรื่องการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งเทพเจ้าและพระพุทธรูป (Night Museum) และรับของที่ระลึกกลับบ้าน ให้บริการตั้งแต่วันนี้-2 มกราคม 2566 เวลา 9.00-19.30 น. พร้อมกันนี้มีการจำหน่ายหนังสือของกรมศิลปากรลดราคาพิเศษ เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อเป็นของฝากที่ระลึกในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ

ด้าน “กรุงเทพโพลล์” โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “พรปีใหม่ 2566 ที่คนไทยอยากขอ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,141 คน สรุปผลได้ดังนี้ เมื่อถามว่า “หากขอพร 1 ข้อ ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวาระขึ้นปีใหม่ 2566 ปีเถาะ จะขออะไร ให้กับ คนไทย ประเทศไทย” ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.4 ขอให้ธุรกิจ เศรษฐกิจในประเทศปังๆ รองลงมาคือขอให้คนไทยสุขภาพดีแข็งแรงไม่มีโรคภัย คิดเป็นร้อยละ 48.1 ขอให้บ้านเมืองสงบสุข คนไทยรักและสามัคคีกัน คิดเป็นร้อยละ 46.9 ขอให้โควิด-19 หมดไปจากประเทศไทยเสียที คิดเป็นร้อยละ 41.9 และขอให้ข้าวของไม่แพง ค่าครองชีพไม่สูง คิดเป็นร้อยละ 35.9

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active