มหานครปลอดภัย ? เมื่อกรุงเทพฯ อยู่อันดับ 43 จาก 60 เมืองทั่วโลก

‘ทีดีอาร์ไอ’ ประเมินผลงาน ‘อัศวิน’ พร้อมส่งต่อข้อเสนอผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ 9 ด้าน โดยเฉพาะความปลอดภัย หลังจัดอันดับพบ ‘กรุงเทพฯ’ อยู่ท้ายตารางเมืองปลอดภัย แนะควรแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน

กรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาให้ก้าวสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี 2575 ซึ่งประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ มหานครปลอดภัย มหานครสีเขียว มหานครสำหรับทุกคน มหานครกะทัดรัด มหานครแห่งประชาธิปไตย และมหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ โดยแผนพัฒนาฯ ในระยะที่ 1 ต่อเนื่องถึง ระยะที่ 2 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครเป็น ‘มหานครปลอดภัย’ ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1) ปลอดมลพิษ 2) ปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด 3) ปลอดอุบัติเหตุ 4) ปลอดภัยพิบัติ 5) สิ่งก่อสร้างปลอดภัย และ 6) ปลอดโรคคนเมือง อาหารปลอดภัย

แต่จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานมหานครปลอดภัย ด้านปลอดอุบัติเหตุ ด้านปลอดภัยพิบัติ และด้านสิ่งก่อสร้างปลอดภัย ยังไม่บรรลุเป้าหมายเท่าที่ควร และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อ Economist Intelligence Unit หรือ EIU เผยรายงานการจัดอันดับ ‘เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก’ ประจำปี 2564 โดยจัดให้กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 43 จาก 60 เมืองทั่วโลกในด้านความปลอดภัยตาม Safe Cities Index พบว่ากรุงเทพฯ มีระดับความปลอดภัยที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด ทั้งในด้านความปลอดภัยส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงอาชญากรรมและความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (อันดับที่ 55) ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (อันดับที่ 44) ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการมีพื้นที่สีเขียว คุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย (อันดับที่ 43) และความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงอุบัติเหตุบนท้องถนนและสาธารณภัยต่าง ๆ (อันดับที่ 39)

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการด้านการพัฒนาประเทศและการพัฒนาเมือง จึงร่วมกันจัดทำรายงาน “การประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวินและข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่า กทม. คนใหม่” ขึ้นมา

โดยมุ่งเน้นระบุโจทย์สำคัญในการพัฒนากรุงเทพฯ ประเมินและถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมาของ ผู้ว่าฯ อัศวิน และจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่า กทม. คนใหม่ ในด้านที่สำคัญ 9 ด้าน ข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น ด้านการจราจรและความปลอดภัย โดยประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวินที่ผ่านมานั้น มีทั้งส่วนที่ ‘เกาถูกที่คัน’ และ ‘เกาไม่ถูกจุด’ โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ส่วน คือ การเพิ่มทางเลือกในการเดินทางของประชาชน และ ความปลอดภัยในการเดินทาง

ในด้านของการเพิ่มทางเลือกการเดินทาง ในยุคของ ผู้ว่าฯ อัศวิน รายงานฉบับนี้มองว่า แม้จะการพัฒนาเส้นทางการเดินทางใหม่ ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง โครงการเดินเรือในเส้นทางคลองผดุงกรุงเกษม และส่วนต่อขยายคลองแสนแสบ และการพัฒนาป้ายรถประจำทาง แต่การดำเนินการเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ เช่น หากพิจารณาตำแหน่งของสถานีขนส่งหลักอย่างรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทางจะพบว่า หลายพื้นที่มีระยะทางในการเข้าถึงสถานีขนส่งมากกว่า 1 กิโลเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่จากถนนสายหลัก (super block) ซึ่งทำให้ระบบขนส่งสาธารณะที่เปิดให้บริการทั้งในช่วงของผู้ว่าฯ อัศวินและช่วงก่อนหน้านั้น ยังไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนั้นรายงานฉบับนี้ยังสะท้อนว่า ‘เพิ่มกล้องมาก อาจไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยง’ ผลงานของกรุงเทพฯ ในสมัยผู้ว่าฯ อัศวินคือ การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแบบเชื่อมต่อศูนย์ควบคุมเพิ่มขึ้น 4,834 ตัว และเชื่อมโยงกล้องเข้าสู่ศูนย์ควบคุมทั้งหมด 42,000 ตัว รวมทั้งหมด 46,834 ตัว อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทางอย่างแท้จริง ดังเห็นได้จากสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังอยู่ในระดับทรงตัวที่ราว 800 คนต่อปี นอกจากนี้ หากพิจารณาจำนวนอุบัติเหตุของคนเดินเท้าในช่วงปี 2559–2563 ก็พบว่ามีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ระหว่างปี 2558 – 2563

ข้อเสนอแนะจากรายงานนี้ คือ กทม. ควรสร้างความปลอดภัยแก่คนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน โดยปรับปรุงทางเท้าที่ได้มาตรฐานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพิ่มอุปกรณ์ความปลอดภัยบริเวณทางข้าม เพิ่มเส้นทางที่เอื้อต่อการใช้จักรยานที่ต่อเนื่องกัน และทำงานร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร

และต้องลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะให้รองรับการเดินทางทั้งบนถนนสายหลัก การเดินทางในซอยและพื้นที่ super block โดยมุ่งให้เกิดการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่บนถนนสายหลัก กทม. อาจพิจารณาอุดหนุนการเดินรถประจำทาง โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพบริการและความปลอดภัย

สิ่งสำคัญ คือ ผู้ว่า กทม. คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ตามโมเดล ‘การบริหารจัดการแบบเครือข่าย’ (network governance) ทั้งการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ซึ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหาของ กทม. ตลอดจนประสานงานกับธุรกิจเอกชน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่  SMEs สตาร์ทอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคม ภาควิชาการ อาสาสมัครและภาคประชาสังคมต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากและสนใจปัญหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยบนท้องถนน การบรรเทาสาธารณภัย ชุมชนแออัดและที่อยู่อาศัย การศึกษาและการฝึกอาชีพ สุขภาพ เป็นต้น

เราจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ไปสู่มหานครปลอดภัยได้อย่างไร ? ทุกท่านสามารถร่วมติดตามเวทีระดมความคิด เพื่อส่งข้อเสนอภาคประชาชน สู่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผ่านเวที Bangkok Active ครั้งที่ 2 เรื่อง ‘เมืองปลอดภัย (Safety)’ โดย Thai PBS ร่วมกับองค์กรเครือข่ายกว่า 70 องค์กร เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในด้านความปลอดภัย มาร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่จินตนาการความปลอดภัยร่วมกันของคนกรุงเทพฯ ติดตามได้วันนี้ 21 เมษายน ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ถ่ายทอดสดได้ทางเพจ Thai PBS , The Active และนักข่าวพลเมือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้