เผยผลสำรวจผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะมากถึง 45% หวัง กทม. เป็นเจ้าภาพพัฒนาระบบแจ้งเหตุ

‘เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง’ จี้ กทม. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน หลังพยายามร่วมมือกว่า 3 ปี ไม่คืบหน้า พบแนวโน้มการคุกคามทางเพศในที่สาธารณะสูงขึ้นเรื่อยๆ

เวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ (Bangkok Active) ครั้งที่ 2 ‘เมืองปลอดภัย’ ที่จัดโดย Thai PBS ร่วมกับเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ กว่า 80 องค์กร เพื่อส่งต่อข้อเสนอเชิงนโยบายที่จำเป็นต่อการพัฒนา กทม. ในวาระของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ประเด็นหนึ่งซึ่งไม่ควรมองข้าม คือ ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตของคนเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม ทั้งผู้หญิงและเด็ก รวมถึงกลุ่มเปราะบาง

วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เปิดเผยผลสำรวจของเครือข่ายฯ ต่อการถูกคุกคามทางเพศของผู้หญิงขณะใช้บริการรถสาธารณะ พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 45% เคยถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวล ต่อการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองปลอดภัยสำหรับทุกคน

“การสำรวจนี้ เป็นการถามแบบซึ่งหน้า ขณะใช้บริการ เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ประสบเหตุ แต่ยังไม่กล้าที่จะเปิดเผยออกมา เพราะเมื่อมีการสำรวจแบบถามออนไลน์ ตัวเลขของผู้ถูกคุกคามทางเพศพุ่งไปถึง 80% หลายคนอาจจะมองเป็นเรื่องเล็ก แค่ถูกคุกคาม ยังไม่ถึงขั้นข่มขืน แต่จริงๆ นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก และหากยังไม่แก้ไขจะนำมาสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่นตามมา”

วราภรณ์ กล่าวว่า ภาคประชาสังคม และเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงมีโครงการเพื่อลดการถูกคุกคามทางเพศ โดยได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC เข้ามาพัฒนาระบบแจ้งเหตุ โดยชักชวนประชาชนให้มาสำรวจพื้นที่เสี่ยง ใน กทม. และปริมณฑล ที่เรียกว่า ‘ปักหมุดจุดเผือก’ ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน นักศึกษา และคนทำงานสำรวจพื้นที่ใกล้ตัวเขา ว่าจุดไหนอันตราย เพื่อเลี่ยงการถูกคุกคาม

แนวคิดของเรื่องนี้ คือ กทม. และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ทุกตารางนิ้ว จำเป็นต้องมีเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงมีความพยายาม ส่งต่อให้ข้อมูลจุดเสี่ยงนี้ให้กับ กทม. แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร เพียงรับข้อมูลไป แล้วแจ้งให้สำนักงานเขตแต่ละแห่งทราบ และแก้ไขในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ไม่เกิดการพัฒนาระบบการรับแจ้งเหตุ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้ วราภรณ์ มองว่า ตรงนี้ต้องการเจ้าภาพ จึงมีความหวังว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“เวลาผ่านมาประมาณ 3 ปี ตั้งแต่เราเริ่มเข้าไปคุยกับ กทม. เพียง 1 เดือน เราสำรวจจุดเสี่ยงได้มากกว่า 600 จุด ต้องการให้มีระบบการแจ้งเหตุที่ประชาชนมีส่วนร่วม และทาง NECTEC ก็ยินดีที่จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยี แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบสนอง”

นอกจากนั้น วราภรณ์ กล่าวว่า กลไกที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การใช้พลังของชุมชนใน กทม. ต้องมีการส่งเสริมให้ประชาชน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาอาสาสมัครประจำชุมชน ให้มีความเข้าใจต่อเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน อย่างการถูกคุกคามทางเพศ ว่าควรจัดการปัญหานี้อย่างไร มีเครื่องมือการแจ้งเหตุที่เป็นระบบ เพื่อให้ชุมชนเข้ามาเป็นหูเป็นตา และป้องกันอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้