“ศิธา” ผุด ‘Bangkok Coin’ จูงใจคน กทม. ร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว

สำรวจนโยบาย ‘น.ต. ศิธา ทิวารี’ จากพรรคไทยสร้างไทย เอาใจคนรุ่นใหม่ผ่าน ‘Bangkok Coin’ เหรียญความดี จูงใจดูแลต้นไม้ – ผู้สูงอายุ แลกสิทธิประโยชน์จากรัฐ พร้อมทำระบบ ‘DAO’ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานข้าราชการ กทม.

The Active Podcast ชวน #ปลุกกรุงเทพฯ สำรวจนโยบาย 7 ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคอลัมน์พิเศษ “Green Vision : วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” จากความร่วมมือกับ “สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง” พูดคุยกับ น.ต. ศิธา ทิวารี ที่ยืนยันว่าพร้อมปรับโครงสร้างการทำงานในระบบราชการใหม่ ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการบริหารบ้านเมือง

พื้นที่สีเขียว

หน้าที่ของ ผู้ว่าฯ กทม. คือคนที่จะทำให้บ้านนี้เมืองนี้ “น่าอยู่”

น.ต. ศิธา ทิวารี เปิดประเด็นด้วย “ปัญหาที่มองไม่เห็น” และต้องได้รับการแก้ไข คือ 1. people (คน) จะมีนโยบายการพัฒนาคน 2. profit (ผลประโยชน์) มองว่าถ้าคนยังแก้ปัญหาปากท้องของตัวเองไม่ได้ จะไม่มีกำลังใจจะไปทำอย่างอื่น 3. planet (โลก) คือส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองน่าอยู่ เช่น ถ้าหากระบบกำจัดขยะไม่ดี พื้นที่สีเขียวมีน้อย พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจมีน้อย ปริมาณออกซิเจนก็น้อย เรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับระบบสิ่งแวดล้อมทั้งโลก ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเท่านั้น เป็นสิ่งที่เราจะต้องไปแก้ไข จะต้องกำหนด KPI ของหน่วยงานเป็นตัวชี้วัด ใน 3 ส่วนนี้

เขาบอกว่าสำคัญที่สุดคือ อากาศหายใจ มลภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองต้องอาศัยต้นไม้ที่เป็นเครื่องมือหลักในการผลิตออกซิเจนให้กับโลก และแก้ปัญหามลภาวะดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวเหล่านี้เท่าที่ควร ซึ่งกรุงเทพฯ ตอนนี้มีไม่ถึง 7 ตารางเมตรต่อคน และถ้าหากดูจากปริมาณพื้นที่สีเขียวที่คนเข้าไปใช้งานได้จริง ๆ ทั้งผลิตออกซิเจน และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีไม่ถึง 2 ตารางเมตรต่อคน นี่คือสิ่งที่จะต้องเพิ่ม ส่วนเป้าหมายของกรุงเทพฯ ที่วางไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่สีเขียว 10 ตารางเมตรต่อคน จะทำได้ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เป็นเรื่องยาก แต่หากจะทำให้เกิดขึ้นได้ในระยะสั้น ควรที่จะเอาพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาใช้ โดยขอความร่วมมือกับเอกชน

หรือหากหน่วยงานของ กทม. มีพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งาน ศิธา มองว่าควรนำมาทำ “สวน” หรือ “พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ” เพื่อให้คน กทม. มาใช้ได้อย่างเต็มที่ ขณะที่พื้นที่ของรัฐวิสาหกิจ เช่น ใต้ทางด่วน ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียว สนามออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น สนามวิ่ง ฯลฯ รวมไปถึง พื้นที่ของเอกชน ที่ต้องใช้มาตรการทางภาษีมาสร้างแรงจูงใจให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พร้อมยกตัวอย่างที่ดินของ ชูวิทย์ กมลวิศิษ หรือ สวนชูวิทย์ ที่เคยไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ แต่เมื่อผ่านไป 10 ปี ที่ดินกลับมาให้ประโยชน์มาก ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ของเอกชนก็สามารถนำมาทำได้

“เอกชนก็ต้องการหลบเลี่ยงภาษีหรือจ่ายให้น้อยลง ก็ไปดูช่องโหว่ทางกฎหมายต่าง ๆ เขากำหนดว่าถ้าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสามารถลดหย่อนภาษีได้ ก็มีการไปปลูกต้นไม้ที่ไม่ได้มีประโยชน์นัก เป็นการปลูกเพื่อเลี่ยงบาลีการเสียภาษีเท่านั้น แต่ถ้าดูจากที่ดินของคุณชูวิทย์ ที่ตอนแรกไม่ได้ใช้ประโยชน์และนำมาทำเป็นสวน ผ่านไป 10 ปี ที่ดินก็ให้ประโยชน์มาก พื้นที่อื่น ๆ ของเอกชนก็ยังเอามาทำได้ เช่น หลังคา อยู่ที่ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องปลูกจิตสำนึก ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ กับพี่น้องประชาชน”

‘Bangkok Coin เหรียญดิจิทัลสะสมความดี’

สำหรับมาตรการจูงใจในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ศิธา มองว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ คือ อนาคต ซึ่งสิ่งที่เขาสนใจ อาจจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ เรื่องดิจิทัล เช่น เปลี่ยนจากการฝากเงิน เป็นการฝากระดมทุนในรูปแบบของคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล จึงมีแนวคิดเรื่อง Bangkok Coin คนที่ทำประโยชน์ จะมีการบันทึกในระบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อบันทึกว่ามีการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมด้านไหนบ้าง และเป็นเครดิตที่ใช้ได้ในอนาคต เช่น ในสวนสาธารณะ หากพบว่ามีคนช่วยดูแลผู้สูงอายุ พาไปเข็นรถเดินเล่น ระบบจะมีการบันทึกข้อมูลเอาไว้ หากสัปดาห์หนึ่งไปออกกำลังกาย แล้วเจียดเวลามาช่วยตรงนี้ ก็จะสะสมแต้มไปเรื่อย ๆ ซึ่งสามารถออกเหรียญ Bangkok Coin ให้ได้ เพื่อระบุว่าเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศนี้ โดยที่หน่วยงานของรัฐช่วยเข้ามาดูแล และอาจจะเอาไปเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐได้

“การทำคุณประโยชน์ในแต่ละด้านเราจะมีการตอบแทน เช่น บางคนที่บอกว่าต้องการบำนาญประชาชน ที่ให้เป็นบำนาญในแต่ละเดือน ถ้าหากยังไม่รับในตอนนี้ สะสมไปจนอายุมากขึ้นก็ได้ ส่วนคนอื่นที่ทำความดีด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการปลูกต้นไม้ มีการดูแลที่ชัดเจน ตรวจตราที่ชัดเจน แล้วบอกว่าบ้านนี้ไปทำประโยชน์ เขาก็จะได้ Bangkok Coin เป็น insentive ซึ่งจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเขาได้ จะมีการจัดอันดับ เหมือนทุกวันนี้ ไปออกกำลังกายก็มีแอปพลิเคชัน ที่จัดอันดับ ใช้ในกลุ่มกับเพื่อน ๆ มาโชว์กัน”

เขายังยกตัวอย่างอื่น ๆเช่น การนำขยะมารีไซเคิล รียูสใช้ซ้ำ ก็สะสมเป็นเครดิตทางสังคม หรือจะเอา Bangkok Coin มาแลก เป็นผลประโยชน์ของเขาได้ ตัวอย่างองค์กรก็จะเป็นการ CSR ที่ กทม. สามารถรับรองให้ได้ ว่าสิ่งที่ทำก่อประโยชน์จริง เพื่อส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทได้

ระบบ ‘DAO’ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้งบประมาณ และตรวจสอบการทำงานของข้าราชการ กทม.

สำหรับแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาต้นไม้ ศิธา บอกว่าของเดิมที่มีอยู่แล้ว ต้องอนุรักษ์ไว้ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการเทปูนใส่ต้นไม้ ไม่มีกระบวนการดูแลอย่างดี ทำให้อายุไม่ยืน การตัดต้นไม้ มักตัดจนเกินความจำเป็น ทำให้โอกาสที่ต้นไม้จะทำประโยชน์ให้กับสังคมก็ลดน้อยลง ดังนั้น การทำประโยชน์ที่หลากหลายจากความหลากหลายทางชีวภาพ และการดูแลที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญมาร่วมออกแบบภูมิสถาปัตย์ และร่วมดูแลในส่วนนี้

“บ้านเมืองไม่สามารถเจริญด้วยคน ๆ เดียวได้ เราไม่สามารถมีผู้ว่าฯ กทม. เป็นซูเปอร์ฮีโร่ ทำทุก ๆ อย่างได้ แต่จะต้องเป็นผู้ประสานงานอย่างเข้าใจ”

ประเด็นถัดมา ศิธา บอกว่าต้องนำระบบเข้ามาใช้ เพราะปัจจุบันเข้าใจว่าข้าราชการ ทำแค่หน้าที่ตัวเองให้เจ้านายรู้สึกสบายใจ แต่มันไม่ใช่ จะต้องมีระบบตรวจสอบการทำงานของข้าราชการผ่านบล็อกเชน ระบบนี้เรียกว่าDAO หรือ Decentralized autonomous organizations (องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายอำนาจ หรือ องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์) กทม. จะเป็นเมืองต้นแบบที่เอาระบบนี้มาใช้ ดังนั้น ฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักสิ่งแวดล้อม ก็จะมีการสร้างกระบวนการให้คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ ให้มาช่วยตรวจสอบระบบการทำงานของข้าราชการการ กทม. ในระบบDAO และจะมีผลต่อการเลื่อน ลด ปลด ย้าย ข้าราชการ กทม. ที่ทำงานเกี่ยวข้องกัน

“ผมจะนำระบบ decentralized มาใช้ในการดูว่าข้าราชการคนไหนดี ไม่ดี เหมือนช้อปปี้ ลาซาด้า ที่เวลาคนจะไปซื้อของก็ดูว่าดีไม่ดี จากดาว จากคอมเมนต์ ถ้าจะดูว่าข้าราชการคนไหนเป็นยังไง ก็ให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาช่วยดูว่างานดีไม่ดี ให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเชื่อมต่อให้ข้อมูลกันทำงาน ซึ่งการบริการจัดการงบประมาณก็จะทำแบบนี้ด้วย เช่น คนในพื้นที่จะเข้าถึงระบบดาวแล้วแสดงความเห็นได้ว่า เสาไฟกินรีจำเป็นหรือเปล่า ถนนเลียบแม่น้ำเอามาทำอย่างอื่นไม่ต้องลงทุนกับสิ่งปลูกสร้างให้มาก แต่ลงทุนกับการปลูกต้นไม้ ทำพื้นที่สีเขียวเพิ่ม ประเมินได้ว่าเราเอาเงินไปใช้กับอะไรให้ประโยชน์มากกว่ากัน”

เขายังบอกอีกด้วยว่า หากได้ตำแหน่ง วันแรกจะต้องทำความเข้าใจกับข้าราชการ กทม. ทั้งหมด ให้รู้ว่าเรากำลังจะทำงานกับภาคประชาชนด้วย เช่น เรื่องพื้นที่สีเขียว จะต้องให้คนที่ทำงานด้านนี้มาตลอดเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงาน และกำหนดงบประมาณด้วย เพื่อเลี่ยงการนำงบประมาณไปใช้โดยไม่เหมาะสม

แก้ปัญหา โลกร้อน เริ่มตั้งแต่เรื่องขยะ-พื้นที่สีเขียว

ศิธา กล่าวถึงปัญหาที่เจอในทุกหัวเมืองใหญ่ คือ “เกาะความร้อน” หรือ heat island ที่ความร้อนเกาะพื้นผิวดินเอาไว้และแผ่ขยายขึ้นไปในบรรยากาศ แม้มีอากาศหมุนเวียนก็ยังร้อนเหมือนอยู่ใกล้เตา ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำจัดขยะ การคัดแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะ และเอาไปขายได้ การจัดเก็บขยะอาจจะต้องมีระบบที่ทำให้เห็นชัดเจน เรื่องน้ำท่วม ดินถล่ม ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อนทั้งหมด

“จะต้องบริหารจัดการทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำงานรวมกัน การสร้างพื้นที่ต้นแบบ เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือแยกขยะ แม้กระทั่งหลายประเทศที่ทำอยู่คือการ return and learn เอาขยะ กลับมาใช้ นโยบายหลายอย่างที่เรายังไม่ได้เอามาใช้ เช่น นโยบายที่ให้สถานประกอบการที่ปล่อยคาร์บอน หรือมลพิษเยอะ มีการทดแทน หรือการชดเชยคาร์บอน จะต้องมีการออกข้อกำหนดเพื่อให้สร้างประโยชน์กับสังคม หลายประเทศพบว่ามีการเอาขยะกลับมาใช้เยอะมากกว่าไทยหลายเท่า”

ติดตามรับฟังเนื้อหาเพิ่มเติมของ ‘น.ต. ศิธา ทิวารี’ ทั้งเรื่องนโบายด้านการศึกษา และการจัดการพื้นที่ค้าขายบนทางเท้า ได้ที่ คอลัมน์ “Green Vision วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ สีเขียว” โดยความร่วมมือของ The Active และ สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ได้ในรายการ The Active Podcast และ ThaiPBS Podcast

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้