#ม็อบชาวนา เคลื่อนขบวนไปทำเนียบ ทวงมติ ครม. ครั้งที่ 4

ชาวนาชุมนุมล่วง 1 เดือน ข้อเรียกร้องแก้หนี้ 4 แบงค์รัฐ ยังไม่ผ่าน ครม. เดินขบวนบุกทำเนียบอีกครั้ง มองปรากฎการณ์ ‘คนรุ่นใหม่’ บริจาคสิ่งของช่วยผู้ชุมนุมผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ เติมพลังให้ชาวนาสู้ต่อ

วันนี้ (7 มี.ค. 2565) เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หรือ คนท. กลุ่มชาวนาที่ปักหลักชุมนุมด้านข้างสำนักงานองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น มานานนับเดือนตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง (ธกส. ธนาคารออมสิน ธอส. และ SME D Bank)

อ่านเพิ่ม : #ม็อบชาวนา มาทำไม? เมื่อกลไกรัฐตามไม่ทันปัญหารุมเร้าเกษตรกร

ถึงแม้ว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ครม. จะมีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลางฯ จำนวน 2,000 ล้านบาท ให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปจัดการหนี้เร่งด่วนให้แก่เกษตรกรแล้วก็ตาม แต่โครงการดังกล่าวครอบคลุมเกษตกรที่ได้รับการช่วยเหลือ ประมาณ 3,000 รายเท่านั้น ยังมีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ อีกนับแสนราย ที่รอคอยการช่วยเหลือตามกฎหมายที่ออกไว้เพื่อเป็นมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร แต่จนปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะโครงการยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.

นับเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนแล้ว ที่การเรียกร้องของชาวนาเกิดขึ้น แม้การยกระดับการชุมนุมจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ แต่กระแสการเรียกร้อง กลับไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมเท่าที่ควร อีกทั้งตัวแทนผู้ชุมนุมยังสะท้อนว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ได้แจ้งความคืบหน้าของโครงการเพื่อให้เกิดความมั่นใจเพียงพอที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนากันได้ จึงทำให้การรวมตัวยังคงเกิดขึ้นอยู่จนถึงปัจจุบัน และการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลวันนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่ชาวนาเคลื่อนขบวนเรียกร้อง

‘คนรุ่นใหม่’ จัดแคมเปญ รับบริจาค ช่วยชาวนา

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวนาอยู่มาได้นานจนถึงตอนนี้ นอกจากความหวังที่เฝ้ารอการแก้ปัญหาแล้ว อาจเป็นแรงสนับสนุนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่พยายามทำความเข้าใจ ความเดือดร้อนของชาวนาในแบบที่พวกเขาถนัด ผ่านแพลตฟอร์ม Twitter Spaces ห้องสนทนาด้วยเสียงแบบเรียลไทม์ ที่ถูกใช้เป็นสื่อกลางที่แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจปัญหาที่ชาวนาเผชิญ บรรยากาศบางช่วงของการสนทนา จึงเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากคนรุ่นตายาย ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลาน

The Active ประสานไปยังผู้ใชบัญชี ‘มวลชนไปม็อบ’ ทางทวิตเตอร์ เพื่อพูดคุยถึงความตั้งใจ และการเข้าไปช่วยเหลือม็อบชาวนาในครั้งนี้ ตัวแทนผู้ประสานงาน กล่าวว่า แคมเปญช่วยเหลือชาวนา เกิดจากความสงสัยว่าเหตุใดการชุมนุมของชาวนา จึงกินระยะเวลานาน แม้จะมาในช่วงเดียวกับม็อบอื่นก่อนหน้านี้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่แยกย้าย จึงได้ลงพื้นที่ไปยังที่ชุมนุมแล้วพบว่า การเป็นอยู่ของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นไปอย่างยากลำบาก

“แค่เห็นภาพคนเฒ่าคนแก่ต้องมานอนบนพื้นซีเมนต์แข็งๆ เราก็รู้สึกแย่แล้ว และเราไม่ต้องเป็นลูกหลานชาวนา ถึงจะเข้าใจได้ว่าชาวนาลำบากอย่างไร เพราะเรารู้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบ และรู้สึกมาเสมอว่าชีวิตเขาควรดีขึ้นกว่านี้”

กลุ่มมวลชนไปม็อบ เปิดเผยว่า ในช่วงแรกมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาบริจาคจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มมีการพูดคุยกันผ่านทวิตเตอร์ ทำให้มีคนรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น จากที่ใครสนใจก็โอนเงินผ่านบัญชี หรือนำสิ่งของไปให้ ตอนนี้มีผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละด้านไปแล้ว ทั้ง อาหารกล่อง เครื่องดื่ม แต่ก็ยังมีสิ่งของที่จำเป็นอีกมาก ทั้ง ยากันยุง และยารักษาโรค

กลุ่มคนรุ่นใหม่ ทิ้งท้ายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาล ที่ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับชาวนามากกว่านี้ ที่ผ่านมามีชาวนาเลือกจบชีวิต เพราะปัญหาหนี้สินที่รุมเร้า ที่ยังคงมีอยู่นั้น เป็นคนที่ขอต่อสู้เพื่อรักษาผืนนาของตนเองไว้ หากเราปล่อยปละละเลย ไม่ให้ความช่วยเหลืออีก นับวันชาวนาก็จะยิ่งลดน้อยลงไป และนั่นคือความมั่นคงทางอาหารของประเทศที่จะหายไปด้วย

ปรากฎการณ์ระหว่างคนรุ่นใหม่ กับชาวนาครั้งนี้ อาจสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ ที่ไม่เคยต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างที่ชาวนาเป็นอยู่ แต่พวกเขาก็สามารถสื่อสารแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ ผ่านช่องทางในแบบที่พวกเขาถนัด และนำมาสู่การเรียนรู้ปัญหาของคนอีกรุ่นและอีกกลุ่มที่บ่งบอกได้ดี ถึงการตระหนักว่าปัญหาของชาวนาไม่ใช่ปัญหาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่นี่อาจเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้