เลื่อน! ประชุมกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

หลังกลุ่มประมงพื้นบ้าน ยัน ไม่เข้าร่วม ด้านตัวแทนกลุ่มประมงพาณิชย์ อ้างกระชั้นชิดไป กรมประมงเตรียมกำหนดวันนัดหารือใหม่

วันนี้ (9 มิ.ย. 2565) วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ยืนยันเครือข่ายประมงพื้นบ้าน มีความเห็นร่วมกัน ไม่เข้าร่วมประชุมกับกรมประมงที่นัดหมายภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา และเดินหน้าการกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนในวันพรุ่งนี้ (10 มิ.ย.) หลังกลุ่มสมาคมสมาพันธ์ชาวกระมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เคลื่อนขบวนรณรงค์ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู“ หยุดจับ หยุดขาย หยุดซื้อ สัตว์น้ำวัยอ่อน และขอให้กำหนดชนิดและขนาดพันธ์สัตว์น้ำทันที โดยกรมประมงนัดประชุมด่วน ในวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายนนี้

ประมงพื้นบ้าน
การยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565

พวกเขาเห็นว่า ที่ผ่านมาตลอด 7 ปี มีการทำงานลักษณะนี้มาตลอด พูดคุยผ่านกรมประมง ถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วกลับไปกรมประมงใหม่ จึงคิดว่าประโยชน์ยังน้อยที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการพิทักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อสรุปหรือไม่ 

ประกอบกับกรมประมง แจ้งมายังเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ว่าตอนนี้ทุกฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการที่จะต้องมีการออกประกาศกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนแล้ว จึงเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเชิญทุกฝ่ายไปหารือเพื่อคุยเรื่องนี้กันอีก และเห็นว่าการประชุมหากจะเป็นการคุยเรื่องสัดส่วน ว่าจะเป็นชนิดใด ขนาดเท่าไหร่ เป็นเรื่องทางวิชาการ และเป็นอำนาจของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรแะสหกรณ์ ที่ต้องเป็นผู้พิจารณา

“ตรงนี้เรามองว่าเป็นเรื่องวิชาการ ไม่ใช่เรื่องความเห็น ถ้าเรื่องความเห็น หลักการตอนนี้ได้ข้อยุติแล้ว เหลือว่ากำหนดขนาดเท่าไหร่ อะไร ยังไง ซึ่งส่วนนี้เรามีข้อเสนอแนะนำไปบางส่วนแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางวิชาการ ทางกรมประมง กระทรวงฯ จะไปพิจารณาตามความเหมาะสม เป็นอำนาจโดยตรงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อยู่แล้ว“

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
สัตว์น้ำวัยอ่อน
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี  นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

ด้าน บัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ยืนยันว่าการประชุมในวันพรุ่งนี้อาจต้องเลื่อนไปก่อน เนื่องจากทางตัวแทนกลุ่มประมงพาณิชย์เองก็ไม่สะดวก เพราะอาจมีการนัดกระชั้นชิด ด้านกลุ่มประมงพื้นบ้านก็ยืนยันไม่เข้าประชุม จึงจะมีการนัดหมายใหม่อีกครั้ง

ก่อนหน้านี้รองอธิบดีกรมประมง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้แม้ยังไม่สามารถออกประกาศตาม มาตรา 57 แต่ก็มีข้อกำหนดอื่น ๆ ที่บังคับใช้เพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย และการอนุรักษ์สัตว์ทะเล เช่น การกำหนดฤดูปิดอ่าว ในช่วงปลาวางไข่ การกำหนดพื้นที่ห้ามทำประมงไม่ให้กระทบสัตว์วัยอ่อน ข้อกำหนดห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย กำหนดขนาดตาอวน เป็นต้น

ในขณะที่การบังคับใช้ มาตรา 57 ในการกำหนดขนาดสัตว์น้ำที่จะจับขึ้นเรือ  ตาม พ.ร.ก.การประมง ปี 2558 ยืนยันว่า มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้เดินหน้า ศึกษาข้อมูล และรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย แต่ยอมรับว่า ยังมีความเห็นต่าง ซึ่งจะต้องดูให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้การบังคับใช้กฎหมาย กระทบต่อการทำประมง และต้องทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างสมดุลที่สุด

“เพราะมาตรา 57 กำหนดว่าห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำขนาดที่เล็กกว่ารัฐมนตรีประกาศขึ้นเรือ หมายความว่าตัวเดียวก็ไม่ได้ สิบตัวก็ไม่ได้ ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน อย่างที่ผมเรียน เครื่องมือจับได้หลายชนิด และโทษตามกฎหมายประมง มีโทษที่สูงมาก เราเคยนำข้อมูลเหล่านี้ ไปประชุมกับประมงพาณิชย์  และกลุ่มประมงพื้นบ้าน พี่น้องประมงพื้นบ้านเองก็ยังมีข้อห่วงใยอยู่เหมือนกัน ผลยังไม่มีข้อยุติว่าเราจะยึดตัวเลขใดที่เหมาะสมแล้วสามารถจะปฏิบัติได้ ประกอบกับมาตราอื่น ขนาดตาอวนก็ดี ฤดูปิดอ่าวก็ดี เรามีมาตรการเหล่านั้นพอสมควรแล้ว แต่ยังไงเรื่องนี้ก็เห็นว่า เรื่องกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนนั้นก็ต้องทำ แต่ต้องให้ได้ข้อยุติ“ 

บัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง
ประมงพื้นบ้าน

ด้าน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ย้ำ ยังคงจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากภายใน 30 วัน ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการออกประกาศกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน จะกลับมาเคลื่อนไหวกันอีกครั้ง ส่วนจะดำเนินการทางกฎหมายเอาผิดกับรัฐมนตรีที่ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.กการประมง ปี 2558 ผ่านช่องทางใดบ้างนั้น จะหารือกันอีกครั้ง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ