เครือข่ายเหมืองแร่ ยื่นฟ้องรัฐบาล จี้ยกเลิกแผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 2

ชี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ข้อมูลไม่ครบถ้วน ขณะที่ชาวบ้าน สะท้อน ผลกระทบจากนโยบายแร่ ทำลายสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ชุมชน ซ้ำเติมภาวะโลกเดือด ตัวการเกิดน้ำท่วม – ดินสไลด์

วันนี้ (26 ก.ย. 67) เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง 13 เครือข่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมทนายความจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อขอให้ศาลปกครอง เพิกถอนแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 เนื่องจากมองว่า ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการจัดทำเขตแหล่งแร่ใหม่โดยกันพื้นที่สำคัญ เช่น แหล่งน้ำซับซึม ป่าสงวนฯ และพื้นที่โบราณสถาน ออกจากเขตทำเหมือง

ตัวแทนจากหลายพื้นที่ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง เช่น การทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และแหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตร รวมถึงการทำลายแหล่งโบราณสถานสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน ที่ชาวบ้านต้องเผชิญกับผลกระทบจากเหมืองแร่ฟลูออไรต์ และโปแตช ซึ่งสร้างความเสียหายต่อแหล่งน้ำใต้ดินและพื้นที่เกษตรกรรม

สุทธิเกียรติ คชโส ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม บอกว่า การจัดทำแผนแม่บทแร่ฯ ครั้งนี้ใช้ข้อมูลเก่าที่ไม่ครอบคลุมและไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชาชนต้องรวมตัวกันยื่นฟ้องเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของตน

พื้นที่ที่มีปัญหากับหน่วยงานรัฐมากที่สุด คือ ป่าต้นน้ำ แหล่งน้ำซับซึม หน่วยงานให้เหตุผลว่าไม่สามารถที่จะให้คำนิยามได้ ใครก็ไม่สามารถให้คำนิยามได้เพราะพื้นที่ทั่วประเทศมีระบบนิเวศแตกต่างกัน ชุมชนนิยามคำว่าพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าน้ำซับซึมแตกต่างกัน 

หน่วยงานรัฐไม่เคยลงมาสำรวจพื้นที่ใหม่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ 2560 มันก็เลยเป็นปัญหาว่า แทนที่หน่วยงานรัฐควรที่จะคำนึงถึงดุลยภาพทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน กลับจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมตามที่ชาวบ้านได้พูดไป 

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมสุขภาพประชาชน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว จึงทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมฟ้องในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำเหมือง ซึ่งบางพื้นที่ยังเป็นคำขอ พื้นที่ได้อาชญาบัตร พื้นที่ที่ได้รับประทานบัตรแล้วและเกิดผลกระทบแล้ว และปัจจุบันก็ยังเกิดผลกระทบอยู่ เช่น ด่านขุนทด ซึ่งหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้มีการตรวจสอบและยังคงกำหนดให้พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

อีกทั้งยังมีพื้นที่ทำเหมืองไปแล้ว เหมืองปิดไปแล้ว และอยู่ระหว่างการฟื้นฟู ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ไม่สมควรกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต่อไปอีกแล้ว แต่ก็ยังถูกกำหนดในแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง เหมือนเป็นการไปซ้ำเติมชุมชนที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วให้มากกว่าเดิมและสิ่งที่ควรจะคำนึงถึงคือมาตรา 17 นั้นก็ไม่มี 

ขณะที่ สมบูรณ์ คำแหง  ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ บอกว่า พี่น้องในชุมชนหลายแห่งได้ออกมาเรียกร้องสิทธิในการปกป้องทรัพยากรของตนเอง เพราะรัฐยังคงยกทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาทำลาย เช่น การระเบิดภูเขาและการทำเหมืองที่ทำให้ป่าสมบูรณ์สูญหาย ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์มานิที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ภาคเอกชนและนักการเมืองยังคงใช้เรื่องคาร์บอนเครดิตและการสร้างพื้นที่สีเขียวเป็นข้ออ้าง ทั้งที่เห็นผลกระทบจากโลกร้อนชัดเจนแล้ว เช่น น้ำท่วม และดินสไลด์

ชาวบ้านได้เรียกร้องให้ยกเลิกแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 เนื่องจากพบความฉ้อฉลในการให้สัมปทานเหมืองที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน โดยแผนแม่บทใหม่นี้เปิดโอกาสให้ขยายพื้นที่ทำเหมืองเพิ่มขึ้น แม้จะมีปัญหาในการบริหารจัดการ ชาวบ้านบางพื้นที่ต่อสู้มายาวนานกว่า 10 – 20 ปี และได้สร้างคนรุ่นใหม่ให้สานต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ฟ้องคดีในครั้งนี้เป็นตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง และได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 จากภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ จำนวน 13 พื้นที่ ได้แก่ 

  • กลุ่มรักษ์ดงลาน กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น

  • กลุ่มอนุรักษ์ภูเต่า กรณีเหมืองหินทราย เพื่ออุตสาหกรรม จ.มุกดาหาร

  • กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร กรณีเหมืองหินทรายเพื่ออุตสาหกรรม

  • กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กรณีเหมืองแร่โปแตส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 

  • เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ภูซำผักหนาม กรณีเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

  • กลุ่มอนุรักษ์เขาหินจอก อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน 

  • กลุ่มรักษ์เขาโต๊ะกรัง ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน 

  • กลุ่มรักษ์ลุ่มน้ำลา แม่ลาน้อย กรณีเหมืองแร่ฟลูออไรต์ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

  • กลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย เหมืองแร่ถ่านหิน อมก๋อยเชียงใหม่ 

  • กลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง กรณีเหมืองถ่านหินลิกไนต์ 

  • กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (โปแตช) 

  • กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู (หินปูน) 

  • กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย (ทองคำ)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active