“ขี่รถเครื่องจากอีสาน ค้านแลนด์บริดจ์” ถึง อ.หลังสวน ย้ำร่วมปกป้องภาคใต้

ซัดโครงการแลนด์บริดจ์ นำหายนะสู่ภาคใต้ หวั่นประโยชน์ตกอยู่กับนักลงทุนต่างชาติ แลกกับความสูญเสียวิถีชีวิต ที่ดินทำกิน อาชีพ การท่องเที่ยว    

วันนี้ (17 พ.ค. 67) ผ่านไป 3 วันของการเดินทางในกิจกรรม “ขี่รถเครื่องจากอีสาน ไปค้านแลนด์บริดจ์” ของ กลุ่มแม่โขงอีสานสกูตเตอร์ ( Mekhong Esan Scooter ) ขณะนี้เดินทางมาถึง อ.หลังสวน จ.ชุมพร โดยมีตัวแทนจาก เครือข่ายคนรักษ์อ่าวชุมพร, เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ, สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จาก จ.สุราษฎ์ธานี มาให้การต้อนรับ พร้อมทั้งร่วมขบวนรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ รณรงค์คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ภายในตัวเมืองหลังสวน และไปยังแหลมริ่ว อ.หลังสวน ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่จะถูกพัฒนาพื้นที่เป็นท่าเรือตามโครงการแลนด์บริดจ์

เครือข่ายฯ ได้มีคำประกาศ ระบุว่า “แลนด์บริดจ์” เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ อย่างเช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ทั้งสองฝั่ง, โครงการรถไฟรางคู่, โครงการมอเตอร์เวย์, โครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และยังมีโครงการด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า, โครงการสัมปทานแหล่งหิน ที่ต้องระเบิดภูเขาหลายลูก, โครงการสร้างเขื่อน และเชื่อว่าจะมีโครงการอื่น ๆ ตามมาอีกหลายโครงการ

การนำเสนอข้อมูลของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทราบได้เบื้องต้นว่าภายใต้โครงการขนาดใหญ่นี้ จะต้องใช้ที่ดินในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดหลายหมื่นไร่ เช่น พื้นที่สร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่างฝั่งระนองต้องใช้เนื้อที่ชายฝั่งและทะเลรวมกันเกือบ 7,000 ไร่ ท่าเรือแหลมริ่วฝั่งชุมพร ต้องใช้พื้นที่ชายฝั่งและทะเลรวมกัน 5,800 ไร่ เวนคืนและยึดคืนที่ดินสร้างรถไฟและมอเตอร์เวย์ จากท่าเรือทั้งสองฝั่งรวมระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร รวมแล้วนับหมื่นไร่ ยังไม่นับรวมพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟทั้ง 2 จังหวัด ซึ่งยังไม่ได้ระบุพิกัดที่แน่ชัดอีกนับหมื่นไร่ และยังไม่นับร่วมพื้นที่การสร้างเขื่อนเพื่อจัดหาแหล่งน้ำจำนวนมากเพื่อรองรับกิจกรรมหรือโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และทั้งหมดนี้คือการสูญเสียที่ดิน ทะเลชายฝั่ง ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และแหล่งท่องเที่ยวครั้งใหญ่ของพี่น้องชาวจังหวัดระนอง,ชุมพร และของคนภาคใต้ ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์

คำประกาศ ยังระบุอีกว่า รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ประกาศชัดในคราวที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเชิญชวนนักลงทุน ต้องการให้เข้ามาลงทุนในโครงการ 100% ที่ต้องใช้เม็ดเงินทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท (หนึ่งล้านล้านบาท) ซึ่งประเทศ ที่มาลงทุนจะได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือรัฐบาลไทย (สัมปทานพื้นที่โครงการทั้งหมด) ในช่วงเวลาดำเนินโครงการเฟสแรกจำนวน 50 ปี และสามารถต่อสัญญาได้หลังจากนั้นอีก 49 ปี นั่นหมายความว่า ที่ดิน และฐานทรัพยากรที่อยู่ในบริเวณโครงการทั้งหมดจะต้องตกเป็นของต่างชาติรวมทั้งสิ้น 99 ปี ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ รัฐบาลโดยพรรคภูมิใจไทย ได้ยื่น ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ กฎหมาย SEC ไว้กับรัฐสภาแล้ว 2 ฉบับ โดยเชื่อว่า จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินและฐานทรัพยากรเหล่านั้นให้กับประเทศที่มาลงทุนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“รัฐบาลพยายามอ้างว่าโครงการนี้จะนำพาความเจริญมาสู่ประชาชนภาคใต้และประเทศไทยอย่างมหาศาล ทั้งที่จริงแล้วคือการสมรู้ร่วมคิดของกลุ่มทุนและกลุ่มการเมือง ที่กำลังสร้างความหายนะให้กับพวกเราอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน โดยผู้ที่ได้ประโยชน์แท้จริงทั้งหมดไม่ใช่พวกเรา จึงยืนยันหยุดโครงการแลนด์บริดจ์ระนอง – ชุมพร เพื่อรักษาที่ดินและฐานทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน”

ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ค. 67) กิจกรรม “ขี่รถเครื่องจากอีสาน ไปค้านแลนด์บริดจ์” จะร่วมรณรงค์กันที่ อ.พะโต๊ะ จากนั้นจะเดินทางไปยัง อ.ระนอง ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active