ไหม้ซ้ำซากนิคมฯ มาบตาพุด ชี้ชัด ไทยไร้มาตรฐาน ‘ความปลอดภัยในการทำงาน’

เนื่องใน ‘วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ’ 10 พฤษภาคม เครือข่ายแรงงาน ร่วมรำลึก ‘โศกนาฏกรรมเคเดอร์’ จนมาสู่กรณีไฟไหม้มาบตาพุด สะท้อน ไทยไม่เคยมีบทเรียน แรงงาน ประชาชน อยู่ท่ามกลางความไม่ปลอดภัยในที่ทำงาน และการใช้ชีวิต วอนรัฐเอาจริง เข้มกฎหมาย ดูแลความปลอดภัยประชาชน มากกว่าหนุนหลังนักลงทุน

วันนี้ (10 พ.ค. 67) ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (สรส.), สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), เครือข่ายองค์กรแรงงาน, และตัวแทนสหภาพแรงงานหลายกลุ่ม ร่วมพิธีทำบุญ และไว้อาลัยให้กับแรงงานที่เสียชีวิต เนื่องในโอกาส ครบรอบ 31 ปีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จ.นครปฐม และเนื่องใน ‘วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ’ 10 พฤษภาคมของทุกปี

มานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวไว้อาลัย โดยยกให้กรณีเคเดอร์เป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญที่สะท้อนถึงความปลอดภัยของแรงงานระหว่างการทำงาน แม้เหตุการณ์เมื่อ 30 กว่าปีก่อน จะนำมาสู่การผลักดันของขบวนการแรงงานจนนำไปสู่การเกิดขึ้นของพ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2554 แต่ทุกวันนี้แรงงาน ก็ยังเผชิญกับความไม่ปลอดภัยในที่ทำงาน ล่าสุดกับกรณีเหตุไฟไหม้ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ก็มีแรงงานเสียชีวิต กรณีการพบแคดเมียม ซึ่งแรงงาน รวมถึงประชาชนไม่รู้เลยกำลังอยู่ท่ามกลางความไม่ปลอดภัย ยังไม่นับรวม อากาศพิษ ภาวะโลกร้อน ที่ประชาชนทุกคนต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยในชีวิต

มานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (สรส.)

“วันนี้เป็นวันสำคัญ วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ จึงขอเรียกร้องถึงรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยการทำงาน ขอให้คำนึงถึงผลกำไรมาทีหลังเรื่องความปลอดภัย ถ้าเรามองแบบนี้ได้ ก็อยากให้ภาครัฐ ช่วยตระหนัก เพื่อสร้างหลักประกันให้กับแรงงานและประชาชนมีชีวิตที่ปลอดภัยมากขึ้น”

มานพ เกื้อรัตน์

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ระบุว่า ทุกวันนี้ยังมีหลายหน่วยงานทั้ง ราชการ ผู้ประกอบการเอกชน นิคมอุตสาหกรรมที่ยังปล่อยปละละเลยเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน จึงยังเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน ชุมชนโดยรอบได้รับผลกระทบ เช่น อากาศเป็นพิษจากการปล่อยสารเคมีในอากาศ ฝุ่นเผาป่า หมอกควันข้ามแดน ล้วนกระทบสุขภาพประชาชน เป็นภัยคุกคามสุขภาพทั้งสิ้น เครือข่ายแรงงานพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักถึงการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น จริงจัง ทำให้สถานประกอบการ นายทุน คำนึงถึงผลกระโยชน์ของแรงงาน ประชาชน ให้เกิดความปลอดภัย แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ภาครัฐ และเอกชนไม่ตอบสนอง

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.)

“ตั้งแต่ต้นปี 2567 เราเกิดเหตุการณ์ โรงงานเก็บพลุระเบิด ที่เชียงใหม่ สุพรรณบุรี จนมาถึงเหตุไฟไหม้ที่มาบตาพุด ระยอง ยังรวมไปถึงหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ถนนพระราม 2 และที่อื่น ๆ ที่เครนถล่ม จนเป็นเหตุให้แรงงานและประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้นได้รับผลกระทบ บาดเจ็บ เสียชีวิต สูญเสียทรัพย์สิ้น เช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศที่ยังเป็นปัญหากระทบประชาชน จริง ๆ เรื่องเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องดูแลให้เกิดมาตรฐาน ให้ประชาชนได้อยู่ในสังคมที่ดี ปัญหาที่เกิดขึ้นชี้ชัดว่า มาตรฐานความปลอดภัยยังไม่เกิดขึ้นจริง และมีแนวโน้มเกิดมากขึ้นอีก เพราะรัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการสนับสนุนกลุ่มทุน การเพิ่มพื้นที่ลงทุน อุตสาหกรรม โดยมองว่าการแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยเป็นภาระต่อต้นทุน ทำให้เรื่องความปลอดภัยในที่ทำงานยังไม่เกิดขึ้นในทุกระดับ เราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลย เครือข่ายแรงงาน สหภาพแรงงานจึงต้องรณรงค์ต่อไปอย่างเข้มข้น ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้เกิดขึ้นจริง”

สาวิทย์ แก้วหวาน

สราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า แม้ประเทศไทยมีกฎหมายด้านความปลอดภัยในการทำงาน แต่เรื่องความปลอดภัยของพี่น้องแรงงานในโรงงานยังไม่เกิดขึ้นจริง อย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ที่นิคมฯ มาบตาพุด สะท้อนได้ชัดเจน จากนี้จะทำอย่างไรให้ความปลอดภัยมีมาตรฐานมากขึ้น อุบัติเหตุให้เป็นศูนย์ให้ได้ สร้างมาตรฐานต่อไปให้ได้

ขณะที่ วินัย ติ่นโตนด ประธานสหพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย ยอมรับว่า แม้การขับเคลื่อนของผู้นำแรงงานทุกภาคส่วน ทำให้เกิดวันแห่งความปลอดภัยจากการทำงาน แต่มาตรฐานความปลอดภัยก็ยังอ่อน ไร้ซึ่งมาตรฐานที่ชัดเจน ยังไม่คุ้มครองแรงงานให้ปลอดภัยจากการทำงานได้จริง จึงพร้อมขับเคลื่อนมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้มากยิ่งขึ้น

แถลงการณ์ เรียกร้องรัฐส่งเสริมความปลอดภัยแรงงานจริงจัง

ขณะเดียวกันสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย,สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ 10 พฤษภาคม 2567 ระบุว่า แม้รัฐมีนโยบาย มีกฎหมาย และรับรองอนุสัญญา ซึ่งเป็นกติกาทางสากลแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง ชีวิตคนงานก็ยังต้องเผชิญกับความ
ไม่ปลอดภัยในการทำงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ความเสี่ยงจากเครื่องจักรอันตราย และท่าทางการทำงานที่ซ้ำซาก งานหนักเกินกำลัง ที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง

ความเป็นจริงดังกล่าวบ่งชี้ และย้ำว่า “ชีวิตคนงานตกอยู่ในความเสี่ยง ยังไร้มาตรฐานความปลอดภัย” ผู้ใช้แรงงาน ก็ยังไม่สามารถเข้าถึง การวินิจฉัยโรค กับแพทย์เชี่ยวชาญทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในคลินิกโรคจากการทำงานได้ ยังมีคนงานที่เจ็บป่วยและอุบัติเหตุจากการทำงาน ยังมีคนงานไม่รู้อีกจำนวนเท่าไร ในแต่ละปี ที่เจ็บป่วย ได้รับอันตรายจากการทำงาน “ซึ่งเป็นตัวเลขที่หายไป” นโยบาย Zero accident กับการปกปิดข้อมูลที่เป็นจริง คือ ปัญหาหนึ่งที่ขบวนการแรงงานเห็นว่าควรยกเลิก แล้วมาทำเรื่องส่งเสริมความปลอดภัยฯ อย่างแท้จริง เพื่อเป็นการป้องกัน

เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2567 ขบวนการแรงงานจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

  1. รัฐต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน และอาชีวอนามัย พ.ศ.2524 และฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย พ.ศ.2528 และให้ตรากฎหมายรองรับให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับข้อตกลงของนานาประเทศ และขอให้รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ที่จะดำเนินงานเรื่องการบริการอาชีวอนามัยอย่างเต็มที่ จริงจัง

  2. ให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับสารเคมี มลพิษ สิ่งแวดล้อม โรคมะเร็งจากการทำงานต่าง ๆ และให้ตั้งโรงพยาบาล คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ในย่านนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดำเนินการ ป้องกัน รักษาให้เพียงพอ

  3. รัฐบาลต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. ….

  4. ทำให้สังคมไทยปราศจากแร่ใยหิน โดยเฉพาะการรื้อถอน ต้องมีมาตรการกำจัดฝุ่นแร่ใยหินที่ดี มีมาตรฐาน

  5. แก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ให้คนงานเข้าถึงสิทธิ ง่าย สะดวก รวดเร็ว

  6. บังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม เร่งตรวจสอบ โรงงาน สถานประกอบการทุกแห่ง ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และมีมาตรการเอาผิดและลงโทษต่อผู้ประกอบการอย่างรุนแรงกรณีที่ก่อให้เกิดอันตราย ความไม่ปลอดภัยต่อคนงาน ประชาชน ชุมชน และจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยทุกแห่งเพื่อเป็นกลไกในสถานประกอบการทุกแห่งเพื่อบริหารจัดการเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพร้อมทั้งให้องค์กรแรงงาน สหภาพแรงงานมีส่วนร่วม

  7. การเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งการเข้าถึงบริการ มี 3 ด้าน คือ การป้องกัน การส่งเสริมความปลอดภัย การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการวินิจฉัยโรค รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณ และ คลินิก บุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอ

  8. การออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับโรคเออร์โกโนมิกส์ โรคโครงสร้างกระดูก โดยเฉพาะต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง เคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาการใช้แรงงานที่เกินกำลัง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กรณีนายจ้างไม่ส่งเรื่องคนงานประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงานเข้าใช้สิทธิเงินทดแทน

  9. เมื่อคนงานเจ็บป่วยเข้ารับการรักษา การสิ้นสุดการรักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องจากการทำงานให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของแพทย์ที่รักษาไม่ใช่งบประมาณตามที่กำหนด

ย้อน 31 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์

สำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของ บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 จากรายงานของคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงฯ พบว่า บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เป็นตัวอาคารโรงงานเป็นเสาเหล็ก คานเหล็ก และพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป

สาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิตของแรงงาน พบว่า โครงสร้างอาคารขาดมาตรฐาน เป็นเสา และคานที่ไม่มีวัสดุฉนวนหุ้มเสาเปลือย ทำให้โครงสร้างพังทลายลงมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 15 นาที ที่เกิดไฟไหม้ โรงงานไม่มีบันไดหนีไฟ ไม่มีระบบแจ้งเตือนภัย บันไดภายในตัวอาคารมีขนาดเล็ก ทำให้การอพยพหนีของแรงงานจำนวนมากทำได้อย่างยากลำบาก แรงงานจึงถูกกั้นด้วยควันและเปลวไฟ ไม่สามารถหนีได้ ทำให้บางคนเลือกกระโดดออกจากตัวอาคาร นำไปสู่การบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตจำนวนมาก

โดยเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเคเดอร์ มีผู้บาดเจ็บ 469 คน เสียชีวิต 188 คน เป็นแรงงานชาย 14 คน แรงงานหญิง 174 คน หลังเกิดเหตุการณ์เครือข่ายแรงงานรวมตัวกันเรียกร้องเงินชดเชยเยียวยาจากทางบริษัท กระทั่งบริษัทฯ ยอมจ่าย 1. เงินชดเชยเป็นกรณีพิเศษแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 200,000 บาท 2. เงินช่วยเหลือการศึกษาแก่บุตรหลานจนถึงอายุ 25 ปี

เหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นที่มาให้ขบวนการแรงงานเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาล ประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ อีกทั้งขบวนการแรงงาน ยังได้เข้าชื่อกัน 50,000 กว่ารายชื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลตรากฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงาน จนนำไปสู่การออก พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2554

เนื้อที่เกี่ยวข้อง : 30 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ บทเรียนที่ไม่เคยจำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active