เปิดตัว The Rotate พื้นที่สื่อสารชุมชนปกาเกอะญอ – ชนเผ่าพื้นเมือง

ตั้งเป้าถ่ายทอดความรู้ วิถีชีวิต ภูมิปัญญา การดูแลฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความเข้าใจ เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน บนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายนักสื่อสารประเด็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จัดกิจกรรม ‘The Rotate Festival คึ-ฉึ่ย เทศกาลหมุนเวียนชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง‘ พร้อมเปิดตัว The Rotate แพลตฟอร์มออนไลน์  เป็นพื้นที่ในการสื่อสารที่สะท้อนมุมมอง วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมือง 

ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD) เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาที่สังคมยังเข้าใจอย่างไม่ชัดเจนโดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับชาวเขา ที่ถูกโยนความผิดว่าเป็นต้นตอของปัญหาการทำลายป่า แต่แท้จริงแล้วดอยที่ถูกมองว่าเป็นภูเขาหัวโล้น ไม่ใช่เพราะไร่หมุนเวียน แต่เป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีการใช้สารเคมี เพราะฉะนั้นไร่หมุนเวียนไม่เคยทำให้ต้นไม้ตาย แต่คือการปลูกและพักฟื้นพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุลของระบบนิเวศอีกทั้งเป็นการอนุรักษ์พันธ์ุสัตว์ป่า เป็นความสัมพันธ์ที่พึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างคนและธรรมชาติ

ประเสริฐ ตระการศุภกร ผู้อำนวยการสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD)

นอกจากจะเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับชนเผ่าแล้ว ยังเป็นการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง ต่อกลุ่มชาติพันธ์ุว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร โดยมี The Rotate เป็นพื้นที่ในการสื่อสาร จึงเกิดเป็น The Rotate Festival คึ-ฉึ่ยเทศกาลหมุนเวียนชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง

“ที่มาของ คึ-ฉึ่ย มีความหมายว่า ไร่หมุนเวียน มาจาก ‘คึ’ ที่แปลว่า ‘ที่ทำกิน’ ส่วนคำว่า ‘ฉึ่ย’ แปลว่า ‘การปล่อยให้ฟื้นตัว’ นอกจากนี้กระบวนการของไร่หมุนเวียนตั้งอยู่บนพื้นฐานของพิธีกรรมความเชื่อ  เพราะฉะนั้นทุกขั้นตอนมีการทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นการยอมรับร่วมกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับคนในชุมชน“

ประเสริฐ ตระการศุภกร

ในการสื่อสารเรื่องราวไร่หมุนเวียนหรือวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ประเสริฐ ได้ให้ความคิดเห็นว่า เป็นการดำเนินดูแลจัดการป่า ทำไร่หมุนเวียน การใช้จารีตประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ รวมไปถึงเรื่องของการให้คุณค่า ในเชิงจิตวิญญาณ ผ่านการ ‘สื่อสารด้วยวิถีชีวิต’ 

โดยภายในงานครั้งนี้มีกิจกรรมหลัก 7 กิจกรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง ได้แก่ ‘ครัวกะเหรี่ยง’ อาหารที่รังสรรค์จากวัตถุดิบไร่หมุนเวียนและ ผลผลิตตามฤดูกาลในชุมชนจากทั่วประเทศโดยใช้องค์ความรู้ในการผลิตจากทีมแม่บ้านในชุมชน ‘The Rotate Market’ ตลาดที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ที่สื่อสารถึงเรื่องราวของชุมชนและผลผลิตไร่หมุนเวียนจากชุมชนกะเหรี่ยง เช่น ผ้าทอ และเมล็ดกาแฟ

‘The Rotate Workshop’ การนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนปกาเกอะญอออกมาสื่อสารผ่านอาหารผลผลิต และนวัตกรรมในพื้นที่ “Karen Fermentation Station” การรวบรวมองค์ความรู้และเครื่องดื่มหมักดองของชุมชนกะเหรี่ยงที่อยู่บนฐานผลผลิตตามฤดูกาลและการดูแลรักษาทั้งธรรมชาติและสุขภาพของคนในชุมชน

‘Mini Concert’ จากศิลปินปกาเกอะญอที่สื่อสารเรื่องราววิถีชีวิตและถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลง เช่น การแสดงจากชิ สุวิชาญ และคือวา วงขยะลอแอะ และนิทรรศการ ‘หมุนเวียน – แลกเปลี่ยน’ รวมถึงการเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยน ประสบการณ์การทำงานในชุมชนกับคนรุ่นใหม่ชนเผ่าพื้นเมือง

กิจกรรมครั้งนี้ยังได้รับความสนใจจากผู้คนภายนอก ไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆเช่น ประทีป แสนถิ่น ชาวจังหวัดสมุทรปราการ บอกถึงความรู้สึกที่ได้มามาร่วมงานนี้ เพราะรู้สึกรักในธรรมชาติของชาวกะเหรี่ยง เหมือนกับพี่น้องชนเผ่ามีความซื่อสัตย์ดี ส่วนตัวก็เป็นคนชอบวิถีชีวิตของชนเผ่าด้วยและก็มีความพอใจกับงานนี้มาก 

“สิ่งที่ได้จากงานคือได้ความรู้หลายอย่าง เขาสอนให้ชาวบ้านรวมไปถึงประชากรคนอื่น ๆ รักชุมชน รักธรรมชาติ รักผืนป่าของตนเองจากที่ฟังการบรรยายภายในงาน อีกทั้งยังสร้างอาชีพด้วย ก็อยากเชิญชวนทุกคนติดตามงานนี้ ไม่ผิดหวังแน่อน“ 

ประเสริฐ ตระการศุภกร

ณัฐดนัย ตระการศุภกร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง The Rotate บอกว่า ภายในการจัดงานในครั้งนี้ มีกิจกรรมหลากหลายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาวปกาเกอะญอ และชนเผ่าพื้นเมือง อย่าง ครัวกะเหรี่ยง เป็นการรังสรรค์อาหารจากวัตถุดิบไร่หมุนเวียนและ ผลผลิตตามฤดูกาลในชุมชนจากทั่วประเทศโดยใช้องค์ความรู้ในการผลิตจากทีมแม่บ้านในชุมชน และคาดหวังให้ The Rotate เป็นพื้นที่ให้ชุมชนทำงานร่วมกัน 

“มีความคาดหวังและมีเป้าหมายการดำเนินงานหลังจากนี้ ให้  The Rotate เป็นพื้นที่ที่ให้คนในชุมชนสามารถทำงานด้วยกันได้ ไม่ใช่แค่ชุมชนเดียว แต่เป็นชุมชนระหว่างชุมชนทำงานด้วยกัน มีส่วนร่วมในการออกแบบทุกกระบวนการ ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชุมชนผ่านการสื่อสารเรื่องราวของตนเอง“ 

ณัฐดนัย ตระการศุภกร

ผอ.สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บอกด้วยว่า ตนมีความคาดหวังว่าเยาวชนรุ่นใหม่ชาวชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นตัวกลางในการสื่อสารให้คนในสังคม เกิดความเข้าใจต่อวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และมองว่ารัฐเองจำเป็นจะต้องร่วมมือกับเราในการสร้างภาพลักษณ์ และลบอคติที่เสียหายออกไป เพื่อให้เห็นตัวตนและอัตลักษณ์ใหม่ของชนเผ่า

The Rotate นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพบนต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงในห้วงเวลาที่หลายฝ่ายในสังคมร่วมจับมือขับเคลื่อน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ยังเป็นอีกก้าวสำคัญในการเปิดพื้นที่หนุนเสริมนักสื่อสารชุมชนได้แสดงศักยภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคมเรียนรู้อยู่ร่วมบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งนี้สามารถติดตามได้ด้วยwww.therotate.co และ Official Accout บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ The Rotate


  • เรื่อง : แพรพลอย แสงบุญเรือง, ภัทรวดี รักษ์เลิศวงศ์, พนิตนันท์ เขียวเรือง
  • ภาพ : พนิตนันท์ เขียวเรือง, พีรณัฐ เข็มนาค, ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี

    รายวิชาการสื่อสารเพื่อเสริมพลังทางสังคม คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในโครงการ ‘การสื่อสารอัตลักษณ์ชนเผ่าพื้นเมือง ผ่านเครื่องดนตรีปกาเกอะญอ’

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active