สกน. เตรียมบุกส่งเสียงผู้นำนานาชาติ เวทีเอเปคป่าไม้

เรียกร้องสิทธิชุมชนร่วมจัดการทรัพยากร จี้ หยุดแนวนโยบาย โครงการพัฒนา “ฟอกเขียว” อ้างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แย่งยึดที่ดิน ปลูกป่าทับที่ทำกิน ละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น

วันนี้ (22 ส.ค. 2565) ที่ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์ มหาลัยเชียงใหม่ ในเวทีสัมมนาเครือข่ายประชาชน เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน โดย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) และภาคีเครือข่าย 

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ อดีตอนุกรรมาธิการวิชาการและกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การอยู่ใต้อำนาจที่ไม่ใช่ของประชาชน ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างเข้มข้นจากประชาชนว่า ทำไมอำนาจนี้จึงอยู่มายาวนานถึง 8 ปี หรือเป็นการเกิดขึ้นของสภาวะปลดแอก ซึ่งจากการยึดอำนาจรัฐประหารของ คสช. มีการดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่าไม้-ที่ดินจำนวนกว่าสี่หมื่นคดี มีเป้าหมายจับกุมเพื่อยึดคืนพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน กลับคืนเป็นพื้นที่ป่าในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าตามเป้าหมาย มีการเกิดกลไกอำนาจด้านที่ดิน คือ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งประธานคณะกรรมการ คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งปกติไม่เคยมีหน่วยงานด้านที่ดินที่อยู่ใต้อำนาจนายกฯ โดยตรง มีการออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ.คทช. 2562 สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึง “อำนาจบงการที่ดินอย่างเบ็ดเสร็จโดยรัฐ” รวมถึงคณะทำงานในชุดต่าง ๆ มีประธานเป็นรองนายกรัฐมนตรี, รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ฝ่ายความมั่นคงที่ดินจังหวัด แสดงให้เห็นถึงอำนาจในการจัดการที่ซ้ำซ้อน

มีการปรับแผนแม่บทป่าไม้ คสช. 2557 ถูกปรับให้เป็น “นโยบายป่าไม้แห่งชาติ” เป็นแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ แผนแม่บทเหล่านี้ มีการกำหนดแนวคิดและหลักการของแม่บทที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน อำนาจกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ความคิดเบื้องหลังที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่า นำไปสู่การกำหนดนโยบายในการเพิ่มพื้นที่ป่า ที่ไม่ได้ให้สิทธิชุมชนและประชาชนในพื้นที่ในการดูแลจัดการทรัพยากรป่าไม้ – ที่ดิน เพราะต้องการขยายและถือครองอำนาจความมั่นคงในที่ดิน – ป่าไม้ ผ่านการออกกฎหมาย นโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพิ่มพื้นที่ป่า 40% ซึ่งตัวเลขนี้เกิดจากความต้องการของรัฐ ไม่ได้มีงานวิจัย ที่มาที่ไป หรือหลักการแนวคิดรองรับว่าต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็น 40% ของพื้นที่ในประเทศ 

“หรือวาทกรรมการอนุรักษ์ ซึ่งทำให้เกิดมหกรรมปลูกป่า เหมืองแร่ เขื่อน โครงการผันน้ำ คาร์บอนเครดิต และทำให้การอนุรักษ์เป็นการอนุรักษ์ในเชิงการค้าและผลประโยชน์ทางธุรกิจทุนนิยมสีเขียว ‘ฟอกเขียว’ ทำให้ทุนนิยมอุตสาหกรรมใหญ่สามารถเดินต่อไป“

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์  นักวิชาการอิสระ 

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่าระบบอำนาจผลประโยชน์ในประวัติศาสตร์ 8 ปีที่ผ่านมาในยุครัฐบาลคสช. ที่รัฐขยายอำนาจในทุก ๆ พื้นที่ต่าง ๆ มีพัฒนาการในระดับโลกสู่ประเทศไทย จึงเกิดแนวคิดการทำไม้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีกระบวนการภาครัฐและเอกชน นิยามป่าในเขตเอกชน คือ ยุคป่าของรัฐ มีการประกาศเขตพื้นที่ กฎหมายของรัฐจึงเกิดการขัดแย้งกับประชาชน รัฐมีการทำระบบนิเวศจึงมีการเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ เรื่องกลไกคือเรื่องการจัดการทรัพยากรข้อจำกัดเดิม ๆ เรียกว่ายุคป่าคาร์บอน เอกชนทำให้เป็นทรัพย์สินได้ไม่จำเป็นต้องปลูกป่า ซึ่งคาร์บอนระดับโลก มีการปรับแปลงพลังงานร้อยละ 40 เป็นการทำลายป่าไม้ ด้วยการจัดการป่าไม้มี 4 ประเภท คือ 1) สัมปทานป่าไม้ มีการจัดการทรัพยากรด้วยภาครัฐ กรมป่าไม้ รัฐสู่เอกชน มีการขยายตัวไปยังรัฐไปสู่ป่าไม้ 

2) นิยามป่าอนุรักษ์ จะมีไร่หมุนเวียน มีการปลูกจำกัดอุปกรณ์แต่ละประเภทและมีการยกระดับ (พื้นที่ป่าอนุรักษ์) รัฐออกกฎหมายมาชาวบ้านจึงมีการถูกดำเนินคดีถูกจับ มีการเปลี่ยนความหมายของรัฐในการทำลายป่าจึงมีการออกนโยบายมา ถ้าไม่ออกป่าก็จะถูกทำลาย ผลประโยชน์คือการท่องเที่ยว การเข้าถึงทรพัยากรธรรมชาติ นโยบายปี 2508 เป็นป่าอนุรักษ์เชิงเศรษฐกิจ 3) สวนป่า กลุ่มทุนมีเสรีในการครอบครองและใช้ประโยชน์จากสวนป่าในเชิงพาณิชย์ 

และ 4) ป่าคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน (แทนภาคพลังงาน, อุตสาหกรรม, ภาคส่วนที่ปล่อยพลังงาน) โดยเปิดให้เอกชนเข้าถึงพื้นที่ป่าอย่างเสรีผ่านมาตรการกึ่งบังคับ ซึ่งเป็นกลไกที่รัฐเปิดทางให้เอกชนเข้ามาคุมพื้นที่ ทำให้เกิดระบบผูกขาดลักษณะใหม่ที่ข้ามเส้นแบ่งระหว่างรัฐ-ทุน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงป่าในทุกลักษณะเข้ากับระบบทุนนิยม ซึ่งสามารถทำให้เกิดการทำลายป่า ทำลายระบบนิเวศ ที่สามารถชดเชยได้ด้วย “การปลูกป่า”

โดยกระบวนการป่าคาร์บอน รัฐและเอกชนไม่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีการที่ง่ายที่สุด ไวที่สุด และต้นทุนต่ำ คือการปลูกพื้นที่ป่าชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ทำให้มีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่ป่าจาก ร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 55 และจะปลูกป่าเพิ่มจำนวน 11 ล้านไร่ ในปี 2580 ซึ่งจะต้องเป็นการปลูกป่าในพื้นที่ใหม่และผ่านการรับรองจาก อบก. และมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาจองพื้นที่ป่าเพื่อปลูกป่าคาร์บอนเครดิต  

“มีบทเรียนจากต่างประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับโครงการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอน เช่น หลายโครงการที่เกิดขึ้นในแถบแอฟริกา ชาวบ้านเผชิญกับภาระในการดูแลป่าที่มากเกินกว่าที่ตกลงกันไว้กับทางรัฐบาล นำไปสู่การที่ชุมชนสูญเสียความสามารถในการจัดการและดูแลตนเอง และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน “ 

กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ดังนั้น APEC ควรพิจารณาเงื่อนไขและกรณีศึกษาของกระบวนการป่าคาร์บอนจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงคำนึงถึงประชาชนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและจะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ จากทางภาครัฐและเอกชน ในส่วนของเกณฑ์พื้นฐานของการจัดการป่าที่ยั่งยืนและเป็นธรรมควรเปลี่ยนนิยามและการจัดการบูรณาการเปลี่ยนระบบผูกขาดอำนาจ มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง

จากนั้นสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ เจตนารมณ์ทลายโครงสร้างการจัดการที่ดินป่าไม้ คืนอำนาจสู่ประชาชน

โดยสาระสำคัญ ระบุว่า กว่า 8 ปี หลังเหตุการณ์ทางการเมืองภายใต้การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่องมาจนถึงการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน จนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระดับนโยบายและกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้และการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาซึ่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างใหญ่หลวง  

โดยเฉพาะกับชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตป่าที่ดูแลรักษาและพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างสอดคล้องและสมดุล โดยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหากับภาครัฐมาอย่างยาวนานและยังคงต้องเผชิญกับปัญหาซ้ำซากที่ทวีความรุนแรงขึ้นในห้วงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า คำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนบทในการทรัพยากรธรรมชาติ การออกกฎหมายป่าไม้ฉบับใหม่ อาทิ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562, พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2562, พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ นโยบายจัดการไฟป่า-หมอกควันในภาคเหนือ 

“ทำให้ชุมชนในเขตป่าหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ถูกแจ้งความดำเนินคดีด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมาก รวมถึงแผนการดำเนินโครงการของรัฐขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น พื้นที่ป่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นซึ่งจะเป็นกลายเป็นความขัดแย้งที่ส่งผลต่อโครงสร้างการพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างเลี่ยงไม่ได้ “ 

แถลงการณ์ระบุ

ดังนั้น เมื่อการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายของรัฐยุคปัจจุบัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติ แต่ท่าทีและการขานรับจากภาครัฐนั้น ไม่มีความชัดเจน ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสังคมในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อขจัดปัญหาที่สั่งสมมา รวมถึงแนวทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต จึงเป็นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบและนำเสนอประเด็นเหล่านี้ต่อสาธารณะอย่างถึงที่สุด สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และองค์กรเครือข่าย ขอประกาศเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ และกลุ่มชาติพันธุ์ดังนี้

1. ขอยืนยันหลักการ “สิทธิชุมชน” ในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน

2. ให้เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ และในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้านและเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้

3. ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้ภาคประชาชนได้ร่างกฎหมายจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเอง

4. ให้เดินหน้าธนาคารที่ดินและกลไกภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน เพื่อตอบโจทย์การกระจายการถือครองที่ดินสู่มือเกษตรกรอย่างเป็นธรรม

5. จงหยุดแนวนโยบายการ “ฟอกเขียว” อ้างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วมาแย่งยึดที่ดิน ปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชน และจงหยุดโครงการที่อ้างว่าเป็นการพัฒนาทั้งหมดที่แย่งยึดทรัพยากรชุมชนท้องถิ่น และกำลังทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทันที

6. หยุดนโยบายมาตรการห้ามเผาอย่างไร้สติปัญญา เหมารวมการใช้ไฟตามความจำเป็นของนิเวศวัฒนธรรมไร่หมุนเวียนตามปกติฤดู โดยที่ไม่เคยมีมาตรการใดๆกับภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแหล่งกำเนิดมลพิษใหญ่ และไม่เคยมีมาตรการดูแลชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบมาตรการประจำฤดูของรัฐ

และในโอกาสที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคป่าไม้ ครั้งที่ 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในนามประชาชนที่ตกเป็น “แพะรับบาป” สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่าย ยืนยันจะนำข้อเรียกร้องนี้ ยื่นถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 และขอประกาศเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 24 ส.ค. นี้ ที่ โรงแรม เลอ เมอริเดียน และศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสียงเรียกร้องถึงผู้นำระดับรัฐมนตรีจากนานาประเทศ ที่เข้าร่วมประชุมเอเปคป่าไม้ และส่งสารถึงสาธารณะ ว่าพวกเขาจะไม่ยอมถูกกดขี่อีกต่อไป 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ