ม็อบชาวนา ยื่น 30,000 ชื่อ เร่ง ครม. แก้หนี้ เลขาฯ ‘จุรินทร์’ ขอเวลา 2 สัปดาห์

‘ชาวนา’ รวบรวม 3 หมื่นรายชื่อ ผ่าน change.org ยื่นรัฐบาลจัดการหนี้สิน ผ่านกองทุนฟื้นฟูฯ หลังปักหลักนานกว่า 1 เดือน ‘ไชยยศ’ รับหนังสือ ขอเวลา 2 สัปดาห์ เรื่องเข้า ครม. ไวสุดสัปดาห์หน้า

วานนี้ (9 มี.ค. 2565) กระทรวงการคลัง ฝั่งถนนพระราม 6 เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หรือ คนท. รวบรวมรายชื่อที่ได้รับการสนับสนุนผ่าน Change.org เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการหนี้สินชาวนาผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวนกว่า 31,629 รายชื่อ ณ เวลา 13.00 น. ของวันที่ 9 มี.ค. เพื่อประกอบหนังสือเร่งรัดให้คณะรัฐมนตรี นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา และมีมติให้อำนาจกองทุนฟื้นฟูฯ สามารถเข้าไปซื้อหนี้ของชาวนาจากธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง

ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษา คนท. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 42 วันของการปักหลักเรียกร้องของชาวนา ทำให้เรารู้สึกว่าการขยับของรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า แม้แต่การสอบถามว่าปัญหาคืออะไร หรืออยากให้รัฐช่วยอะไร เมื่ออยากรู้ว่าฝ่ายราชการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ก็ต้องให้ชาวนาเดินทางเข้าไปสอบถามด้วยตนเอง

“ชาวนาที่มาทั้งหมด อายุเฉลี่ย 68 ปี ต้องเดินเท้ากว่า 5 กม. ไปถามเพียงคำตอบว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะเรียบร้อยบ้าง พรุ่งนี้จะเสร็จบ้าง กระทั่งเสร็จแล้วก็ไม่ตอบ ต้องให้พวกเราเดินไปถามเอง มันเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร … หากยังไม่แก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จ ชาวนารุ่นนี้ อาจเป็นรุ่นสุดท้าย และนี่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารทั้งหมด การผลิตจะไปอยู่ในมือนายทุน นี่เป็นความจริงที่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาอันใกล้นี้”

ชรินทร์ เปิดเผยว่า นี่เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ชาวนาต่อสู้กันมา เกือบ 20 ปี ที่มุมมอง และทัศนคติของสังคมที่มองมาที่ชาวนาเปลี่ยนแปลงไป คนในสังคมไม่ได้มองชาวนาด้วยความสงสารอีกต่อไปแล้ว แต่เข้าใจถึงอุปสรรคที่ชาวนาเผชิญ ราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การดำเนินตามนโยบายภาครัฐที่ล้มเหลว หนี้สินที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจึงไม่ใช่ความผิดของชาวนา และแนวทางฟื้นฟูพัฒนาอาชีพชาวนาไม่เคยเกิดขึ้นอย่างจริงจัง

รายชื่อที่ถูกรวบรวมผ่าน Change.org ครั้งนี้ สะท้อนอีกนัยหนึ่งว่า ‘คนรุ่นใหม่’ หันมาสนใจปัญหาของชาวนา ที่เป็นคนรุ่นตา รุ่นยายของพวกเขามากขึ้น อาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรคที่ถูกส่งมาทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่มาจากช่องทางออนไลน์ ที่ถูกรวบรวมโดยคนรุ่นใหม่ ลงพื้นที่มาพูดคุย ทำความเข้าใจ และยังหาทางช่วยเหลือพวกเราด้วย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอยู่มาได้นานขนาดนี้

จากนั้น เวลา 14.00 น. ไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เดินทางมาถึงพื้นที่ชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง เพื่อรับหนังสือ และพูดคุยกับผู้ชุมนุม โดยยืนยันว่าขณะนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันเรื่องหนี้สินชาวนาอย่างจริงจัง และได้ลงนามในหนังสือเพื่อเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. แล้ว ต่อจากนี้อาจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนให้ ครม. มีมติ

“ระยะเวลาดังกล่าว ได้เร่งรัดกว่าปกติแล้ว เนื่องจากเรื่องทั่วไป หากจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม. อาจใช้เวลาถึง 2 เดือน แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ เห็นถึงความสำคัญ จึงสั่งการให้เร่งรัดในเรื่องนี้ อยากให้ชาวนาทุกคนมั่นใจว่าเราไม่เคยละเลยเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมามีข้อจำกัดเรื่องข้อกฎหมาย และการเจรจากับทุกฝ่ายให้เข้าใจตรงกัน…”

เมื่อถามว่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณหรือไม่ ไชยยศ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณ คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจะไม่กระทบเลย แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เนื่องจากสถาบันเจ้าหนี้ทั้งหมด คือ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่สามารถอาศัยมติ ครม. เพื่อให้อำนาจกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปซื้อหนี้จากธนาคารก่อนได้ และหลังจากนั้น จึงอนุมัติงบประมาณเป็นระยะๆ ตามความเร่งด่วน

ขณะที่บรรยากาศในวันนี้ ชาวนาผู้ชุมนุม ต่างเฝ้ารอคำยืนยันจากทางรัฐบาล เนื่องจากปักหลักชุมนุมมานานร่วมเดือน และหากเป็นไปตามที่รับปากไว้ อาจเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ได้ในวันอังคารที่ 22 มี.ค. เมื่อถึงวันนั้นชาวนาจะชุมนุมครบ 2 เดือน สิ่งสำคัญ คือ ความเป็นอยู่ของผู้ชุมนุม ที่ปัจจุบัน ยังต้องอาศัยของบริจาค ทั้ง อาหาร เครื่องดื่ม และยารักษาโรค เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปได้อย่างไม่ลำบาก

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้