จี้ รัฐ สานต่อนโยบาย 9 ด้าน ประกาศค้าน แปลงสปก.4-01 เป็นโฉนด หวั่นทุนฮุบที่ดิน หลุดมือจากประชาชน รวมทั้งค้านนโยบายคาร์บอนเครดิต ฟอกเขียวภาคอุตสาหกรรม
วันนี้ (6 ก.ย. 66) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-move เคลื่อนขบวนจากหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณถนนพิษณุโลก ผ่านสะพานชมัยมรุเชษฐ ไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องสื่อสารถึงรัฐบาลใหม่ เรียกร้องให้เดินหน้าแก้ปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน ในวันที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นัดประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ พีมูฟ ได้ยื่น 9 ข้อเสนอ ต่อรัฐบาล โดยคาดหวังให้นำไปจัดทำรวมอยู่เป็นส่วนหนึ่งของคำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ประกอบด้วย ข้อเสนอ ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย, การกระจายอำนาจ, นโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, นโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ,นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ,นโยบายด้านการป้องกันภัยพิบัติ, นโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์, นโยบายสิทธิของคนไร้สถานะ และ นโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
โดยยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้แทน ก่อนจะมีการอ่านแถลงการณ์ กรณีคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
โดยมีสาระสำคัญว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 นั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ (P-Move) เครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิด้านที่ดิน ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรป่าไม้ รัฐสวัสดิการ และอื่น ๆ ซึ่งในช่วงรณรงค์การเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้จัด “เวทีภาคประชาชนเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง” ขึ้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ฯ เพื่อนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อพรรคการเมืองและสาธารณะถึงเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบาย ความไม่มั่นคงในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิด้านที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรป่าไม้และอื่นๆ โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครรับมานำเสนอนโยบาย
ณ วันนี้ ตัวแทนได้มายื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ด้านต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อประกอบการจัดทำนโยบายของรัฐบาล แต่เมื่อได้พิจารณา “คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี” แล้วเราเห็นว่า คำแถลงนโยบายดังกล่าว ยังมีอีกหลายด้านที่ยังไม่ครอบคลุม ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามท้ายคำแถลงนโยบายฯ ที่กล่าวว่า “รัฐบาลจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและยึดประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง รัฐบาลมีความมุ่งมั่น ตั้งใจและทุ่มเทสรรพกำลังในการที่จะดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของผมและรัฐบาลในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทุกคน และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลาน” เราขอเสนอนโยบายเพิ่มเติม ดังนี้
1.ให้ยกระดับการจัดการที่ดินโฉนดชุมชนให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดที่ดิน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ภายใต้มาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562
2.ผลักดันให้มีการทบทวนปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน สู่เกษตรกรรายย่อยและผู้ยากจน รวมทั้งผลักดันให้มีการจัดตั้ง”ธนาคารที่ดิน” ให้เป็นองค์กรที่มั่นคงและจัดสรรงบประมาณอย่างพอเพียง
3. แก้ไขกฎหมายคืนความเป็นธรรมในเรื่องที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม สังคายนากฎหมาย ที่ดิน-ป่าไม้ทั้งระบบ ทบทวนและยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน ได้แก่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯฉบับ พ.ศ. 2562 มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541, มติคณะมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และมติคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอคคล้องกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักการ “คนอยู่กับป่า” อย่างสมดุลและยั่งยืน
4.กรณีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งลงนามรับรอง “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ….” ฉบับประชาชน(ขปส.) เข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยเร่งด่วน เพื่อให้กลไกรัฐสภา หรือสถาบันนิติบัญญัติ ได้ทำหน้านที่พิจารณากฎหมายโดยเร่งด่วนต่อไป
5. เร่งดำเนินการออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. …. โดยระหว่างการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ชะลอการดำเนินคดีและการบังคับคดีทางปกครอง ก่อนการพิสูจน์สิทธิ/เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายเกี่ยวกับคดีที่ดินป่าไม้ให้เป็นธรรม
6.ผลักดันให้มีการจัดระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
7.ผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยให้การจัดตั้งและสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สามารถกำหนดแนวทางการยกร่างได้ในทุกกระบวนการทุกขั้นตอน
8.กรณีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค มีนโยบายในการเปลี่ยนสปก. 4-01 ให้เป็นโฉนด ซึ่ง ขปส. ได้ประกาศจุดยืนไว้แล้วว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งนี้ เนื่องจากการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดินของเกษตรกรในอดีตในนาม “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย” ในปี 2517 (อันเป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2518 ของรัฐบาลในขณะนั้น) มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ภายใต้คำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ กฎหมายต้องเป็นธรรม” คือ เจตนารมณ์ในการที่จะเรียกร้องให้มีการกระจายที่ดิน อันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญยิ่งสู่เกษตรกรรายย่อย และรักษาที่ดินให้อยู่กับเกษตรกรตลอดไป โดยมิให้มีการนำไปเป็นสินค้าในระบบตลาด อันเป็นที่มาของปัญหาที่ดินหลุดมือและไปกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุนที่มิใช่เกษตรกรรายย่อย ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
“ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงขอสงวนสิทธิไม่ให้การสนับสนุนนโยบาย “การแปลงสปก.-401 เป็นโฉนด” อย่างถึงที่สุดและขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ด้วยความรอบรอบคอบรัดกุมไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มนายทุนที่รอจ้องโอกาสและทำให้เกิดวิกฤติความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของที่ดินเพิ่มมากยิ่งขึ้น”
แถลงการณ์ระบุ
9.ประการสุดท้าย กรณีรัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุน ส่งเสริมการฟอกเขียวของภาคอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อน ดังปรากฏคำแถลงว่า “รัฐบาลจะสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ” นั้น ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดนโยบาย “ฟอกเขียว” โดยข้ออ้างเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อน แล้วแย่งยึดที่ดินที่ทำของผู้ยากไร้เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มชาติพันธุ์ ดังปรากฎโครงการปลูกป่าทับที่ทำกินของชุมชนในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้เราเห็นว่า นโยบายการค้าคาร์บอนเครดิต ตามแนวนโยบาย BCG Model นอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาโลกร้อนหรือโลกรวนแล้ว โครงการดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้ทำการฟอกตัวเอง เสมือนผู้รักษ์โลก ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ทำลายโลก