ครั้งแรก ประกวด TikTok วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ชวนสื่อมวลชนประกวดคลิปสั้น – ภาพถ่าย พร้อมแถลงการณ์ถึงพรรคการเมือง ไม่เอา “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” 5 พรรคการเมืองร่วมถก ชี้ กฎหมายคุกคามเสรีภาพสื่อต้อง แก้ไข – ยกเลิก

3 พ.ค. 2566 เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) ประจำปี 2566 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ UNESCO จัดการประกวดสื่อวิดีโอสั้นในแพลตฟอร์ม TikTok หัวข้อ “#ชีวิตคนทำงานสื่อ” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการประกวดสื่อประเภทนี้ โดยผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องเป็นผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำงานในสำนักข่าว เช่น นักข่าวภาคสนาม ช่างภาพ นักข่าวประจำโต๊ะข่าวต่าง ๆ ฯลฯ โดยสำนักข่าวนั้นต้องรายงานข่าวสารเป็นกิจลักษณะ, มีช่องทางเผยแพร่ข่าวสารเป็นของตนเอง เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือเว็บไซต์ และมีกองบรรณาธิการหรือผู้รับผิดชอบโดยชัดเจนโดยมีการเปิดรับสมัครผลงานตั้งแต่ วันที่ 11 เมษายน 2566

วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
ภาพ : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

โดยการมอบรางวัลจัดขึ้นวานนี้ (2 พ.ค. 66) มีรายชื่อผู้ได้รับรางวัลคลิปสั้น บนแพลตฟอร์ม TikTok ในหัวข้อ #ชีวิตคนทำงานสื่อ ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ

  • อัญชัญ อัญชัยศรี (The Active ThaiPBS)

รางวัลรองชนะเลิศ

  • นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

รางวัลชมเชย

  • คณพศ เข็มทองวงศ์, วรรณพร หุตะโกวิท, ธัญญารัตน์ ถาม่อย, ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ, พิชญาภา สูตะบุตร, สุคนธ์เพชร ผลประดิษฐานนท์, ณัฐพร สร้อยจำปา และขวัญเรียม​ แก้ว​สุวรรณ​

นอกจากนี้มีการประกวดภาพถ่าย เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2566 ในหัวข้อ #เสรีภาพสื่อเสรีภาพประชาชน ซึ่งรายชื่อผู้ได้รับรางวัล มีดังนี้

ชนะเลิศ

  • เมธิชัย เตียวนะ

รองชนะเลิศ 3 รางวัล

  • กันต์ แสงทอง ,ชนากานต์ เหล่าสารคาม และเมธิชัย เตียวนะ

รางวัลชมเชย

  • จุมพล นพทิพย์, วัชรชัย คล้ายพงษ์, วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์, วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์, ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช, ชญานิศ อิทธิพงศ์เมธี, ฉัฐพัชร์ สุวรรณยุหะ, เมธิชัย เตียวนะ และเจมส์ วิลสัน

รางวัล Popular Vote

  • เจมส์ วิลสัน

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ถึงพรรคการเมืองที่จะเข้าทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรในอนาคต โดยเน้นย้ำถึงการเคารพเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง รวมถึงจุดยืนต่อ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน มีสาระสำคัญดังนี้

  1. คุ้มครองและพิทักษ์ไว้ซึ่งเสรีภาพการแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพสื่อ เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองที่สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  2. ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และแก้ไขปัญหาการใช้กฎหมายปิดปากสื่อและประชาชน หรือที่เรียกว่า SLAPP (สแลป)
  3. สร้างกลไกตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่คุกคามสื่อหรือใช้ความรุนแรงต่อคนทำงานสื่อได้อย่างแท้จริง เพื่อขจัดวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล (culture of impunity)
  4. ไม่นำเอา “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ฉบับที่ตกไปแล้วในรัฐสภาชุดก่อน ขึ้นมาพิจารณาอีกในอนาคต
  5. สนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองในวงการสื่อมวลชน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นอิสระ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และส่งเสริมจริยธรรมสื่อควบคู่ไปกับเสรีภาพสื่อพร้อม ๆ กัน

ผ่านมากว่า 32 ปี ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อมวลชน โดยปีนี้ ยูเนสโกกำหนดหัวข้อการรณรงค์ไว้ว่า “Freedom of expression as a driver for all other human rights” หมายถึง “เสรีภาพในการแสดงออก คือบ่อเกิดแห่งสิทธิมนุษยชนทั้งปวง” เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือประชาชน ล้วนเป็นสิทธิพื้นฐานที่สมควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะ “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”

นอกจากนี้ ภายหลังการอ่านแถลงการณ์ มีเสวนา “สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ในมุมมองพรรคการเมืองไทย” โดยมีตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง คือ รวมไทยสร้างชาติ, ประชาธิปัตย์, เพื่อไทย, ก้าวไกล และไทยสร้างไทย ร่วมเสวนา แต่ละพรรคให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนและการใช้กฎหมายปิดปากประชาชน ที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน โดยเกือบทุกพรรคไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังให้ความเห็นต่อ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่นับเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ต้องมีการแก้ไข โดย รังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล ระบุว่า หากพรรคได้เป็นรัฐบาล จะเข้าไปแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ และยกเลิกศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ขณะที่ ว่าที่ ร้อยตำรวจเอก หญิง อัยรดา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า ยังมีความจำเป็นต้องมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมอยู่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่อง Fake News ยังมีอยู่จริง

ดูผลงานที่ส่งเข้าประกวดได้ที่


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active