ชาวบ้านกะเบอะดิน จัดงานบวชป่า บูชาธรรมชาติ สู่จิตวิญญาณกะเบอะดิน รำลึก 4 ปีการต่อสู้คัดค้าน โครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ย้ำจุดยืนร่วมกันปกป้อง บ้านเกิด วิถีชีวิต
วันนี้ (14 ก.พ. 2566) ชาวบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จัดงานบวชป่า บูชาธรรมชาติ สู่จิตวิญญาณกะเบอะดิน เพื่อรำลึก 4 ปีการต่อสู้คัดค้าน โครงการเมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ปกป้องพื้นป่า อนุรักษ์สายน้ำ รักษาผืนดินของชาวอมก๋อย พร้อมแสดงจุดยืน พวกเราไม่ต้องเหมืองแร่ถ่านหิน แม้ แห้ แบ กิจกรรมนี้จะถูกจัดขึ้นทุก ๆ วันที่ 14 กุมภาพันธ์
คำประกาศเจตนารมณ์ของชาวบ้านกะเบอะดิน ระบุว่า “ทรัพยากรในโลกมีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก แต่ไม่มีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนที่มีความโลภเพียงอย่างเดียว” คำกล่าวข้างต้นเป็นของมหาตมะ คานธี ผู้ต่อสู้กับการกดขี่อย่างสันติ ท่านคือ สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เป็นแบบอย่างให้พวกเราในการต่อสู้กับการถูกรุกรานจาก บริษัทเอกชนที่จะพยายามเข้ามาขุดเหมืองแรถ่านหินซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตและทรพัยากรที่ พวกเรา ดูแลรักษาตั้งแต่บรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง
ดังคำกล่าวของผู้สูงอายุกะเหรี่ยง กล่าวว่า “โอ้ ทิ้ง แม แซ ทิ้ง เจ ทเคแกล้ กแบแมแซะ ดื่มน้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าเราต้องรักษาป่า” ในรอบเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมาพวกเรากะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันต่อสู้ ด้านการดำเนินการทําเหมืองแร่ ถ่านหิน หลังจากชุมชนได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ขอเพิกถอนรายงานอีไอเอไปเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบันศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้นํารายงานอีไอเอ ไปออกประทานบัตรได้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ในการจัดกิจกรรม “บวชป่า บูชาธรรมชาติ จิตวิญญาณกะเบอะดิน” ในวันนี้ ชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ อยู่กับป่า รักษาป่า รักษาสายน้ำและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตอกย้ำถึงกระบวนการอีไอเอไม่ถูกต้องอย่างชัดเจน นโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ ให้กับบริษัทเอกชน หาใช่ชุมชนท้องถิ่นไม่
พวกเราที่มารวมตัวกัน ณ ป่าจิตวิญญาณแห่งนี้ ขอประกาศเจตนารมณ์ต่อจิตวิญญาณอันทรงเกียรติว่า พวกเราชาวบ้านกะเบอะดินพร้อมภาคีเครือข่ายจะร่วมกันปกป้อง บ้านเกิด วิถีชีวิต ที่ทำกินเลี้ยงชีพ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้คนโลภเพียงคนเดียวแย่งยึด เพื่อไปหาประโยชน์ให้ตนเอง จุดยืนหนึ่งเดียวของพวกเราคือ ไม่เอาโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย
ผ่านมา 4-5 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านกะเบอะดิน และภาคีเครือข่าย ร่วมกันคัดค้านการดำเนินการเหมืองแร่ถ่านหิน ที่พวกเขามองว่า จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งสิทธิในที่ดินทำกิน และพยายามแสดงให้เห็นถึงกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ ซึ่งพวกเขามองว่า อาจมีข้อบกพร่องหลายประเด็น โดยเฉพาะการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ที่อาจไม่โปร่งใสหรือมีส่วนร่วมมากพอกับคนในชุมชน
ในวันที่ 4 เมษายน 2565 จึงได้ ยื่นฟ้องสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณา EIA เหมืองถ่านหิน พร้อมขอศาลมีคำสั่งเพิกถอน EIA – คำขอประทานบัตร และ ให้ศึกษา EIA ใหม่ บนหลักการมีส่วนร่วม รวมถึงยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง ระงับการดำเนินการ ตามรายงาน EIA ที่ได้รับความเห็นชอบไปแล้ว เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
กระทั่ง 23 กันยายน 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีการทำเหมืองแร่อมก๋อยจนกว่าจะมีคำพิพากษา เป็นผลให้ระหว่างนี้ จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทางบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้าน เล่าว่า หลังจากมีคำสั่งศาลออกมา ยังคงมีคนแปลกหน้าเข้าไปเจรจากับผู้นำชุมชนและชาวบ้านบางส่วนกับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านยอมรับว่ามีความกังวล