ยอมรับโควิด ตัวเร่งกระแสคนกลับบ้าน ชี้คนรุ่นใหม่ ตัดสินใจสมัครร่วม ‘โครงการอาสาคืนถิ่น’ เพิ่มขึ้น ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์ ระบุ คนรุ่นใหม่กลับบ้าน ช่วยปิดช่องโหว่ ลดความเหลื่อมล้ำเชิงภูมิภาค ย้ำชัดเมืองใหญ่ไม่ใช่คำตอบความสำเร็จ
วันนี้ (24 ธ.ค.65) นราธิป ใจเด็จ ผู้ประสานงานโครงการอาสาคืนถิ่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เปิดเผยกับ The Active โดยระบุถึงสถานการณ์ช่วงโควิดที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ปลดพนักงาน บางแห่งถึงขั้นปิดกิจการ ทำให้คนวัยแรงงาน หรือคนที่เข้ามาทำงานในตัวเมือง ตัดสินใจกลับบ้านเพื่อหาทางรอดให้กับชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งหากอ้างอิงจากการทำโครงการอาสาคืนถิ่นที่ผ่านมา 6 รุ่น พบว่า การสมัครเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จาก 10 กว่าคน ตอนนี้ เพิ่มเป็นหลักร้อยคน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง ห้วยตองก๊อ HOPELAND พื้นที่ความหวังการกลับบ้าน
“กระแสการคืนถิ่น หรือการกลับบ้านของคนต่างจังหวัด มีตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดีมากในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ในช่วงโควิด โดยปกติการกลับบ้านจะเห็นตามเทศกาล ต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ แต่โควิดทำให้เห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้ตัดสินใจที่จะกลับบ้านด้วยการถูกบีบบังคับของสถานการณ์”
นราธิป ใจเด็จ
นราธิป บอกอีกว่า กระแสการกลับบ้านในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในบางพื้นที่ แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศด้วย โดยโครงการฯ จึงได้นำอาสาคืนถิ่นของไทยไปแลกเปลี่ยน เรียนรู้ กับเพื่อนต่างถิ่น เช่น ฟิลิปปินส์, จีน เพราะรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทย ซึ่งสวนทางกับอุตสาหกรรมใหญ่ ที่ต้องการป้อนคนเข้าไปแต่ก็มีคนทวนน้ำกลับมาอยู่ดี
ขณะที่ เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยถูกพัฒนามาแบบสร้างแม่เหล็กทางเศรษฐกิจไว้ที่หนึ่ง แล้วดูดคนที่เก่ง และพร้อมที่สุดเข้าไป นั่นหมายความว่า เมืองเล็กจะเสียคนที่พร้อมให้กับเมืองใหญ่ นั่นทำให้เมืองเล็กไม่เติบโต และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงภูมิภาคเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นกระแสการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ คือโอกาสที่ทำให้เห็นว่าเมืองใหญ่ไม่ได้น่าดึงดูดเหมือนเดิมแล้ว เช่นเดียวกับความใหญ่ของเมืองก็ไม่ได้เป็นหลักประกันความสำเร็จอีกต่อไป
“เราอยู่ในโลกที่จะสำเร็จไม่สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราอยู่ที่ไหน หรือเราเป็นใคร เพราะฉะนั้นในเมื่อความสำเร็จไม่ได้ผูกติดอยู่ในพื้นที่ แต่ผูกติดกับความสามารถของตัวเอง มันเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถกลับบ้านได้ ถ้าเขาพร้อม พัฒนาตัวเองได้ เมื่อไปอยู่ที่ไหน ความเจริญจะวิ่ง ย้อนกลับไปสู่พื้นที่ได้ด้วยตัวเขา และเครือข่ายที่เขาสร้างขึ้นเอง”
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ยังเห็นว่า การจะทำให้คนรุ่นใหม่ ที่ตัดสินใจกลับบ้าน ประสบความสำเร็จได้คือความรู้ที่เป็นต้นทุน เงื่อนไขแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้คนเหล่านั้นใช้ทักษะที่มีได้ รวมทั้งการสนับสนุนจากครอบครัว เนื่องจากปัญหาการกลับบ้านมีหลากหลาย แต่อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะเจอแบบไหน