“ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ” จัดลิเกสะท้อนปัญหารถไฟฟ้า

ทำโพลสำรวจความเห็นประชาชน 22 สถานี ระดมการมีส่วนร่วม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึง ระบบขนส่งสาธารณะ กรุงเทพฯ

วันนี้ (12 ก.ค. 2565) สภาองค์กรผู้บริโภคร่วมกับ เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหภาพคนทำงาน กลุมดินสอสี และเครือข่ายคนรุ่นใหม่ จัดกิจกรรมรณรงค์ “ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ” โดยการนำลิเกเข้าไปสะท้อนและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสวัสดิการรถไฟฟ้าเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพ โดยเฉพาะกรณีของรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ซึ่งนอกจากเป้าหมาย ซึ่งนอกจากเป้าหมายเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามสถานีรถไฟต่าง ๆ ในประเด็นขนส่งสาธารณะที่ควรลดความเหลื่อมล้ำทุกคนเข้าถึงได้ ด้วยการทำโพล สอบถามความคิดเห็นของประชาชน

อินทิรา วิทยาสมบูรณ์ เครือข่าย Feel Trip ระบุว่า การเคลื่อนไหวประเด็นรถไฟฟ้าเป็นเรื่องของสาธารณะ  ที่ผ่านมาประชาชนจ่ายค่ารถ บางทีอาจจ่ายจากความเคยชินจนไม่รู้ต้วว่าจริง ๆ แล้วจ่ายแพงมาก ๆ สภาองค์กรผู้บริโภค มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วราคารถไฟฟ้าที่เป็นธรรม มีราคาที่เท่าไหร่ ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอของภาคประชาชน มาจากกระบบวนการหาข้อมูลมากมาย 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ไม่สามารถไหลไปหาประชาชนได้  ประชาชนจำนวนมากอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีข้อมูลชุดนี้อยู่ ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ข้อมูลทุกอย่างมันไหลมาหากัน โพลน่าจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดพื้นที่เล็ก ๆ ที่เอาโพลไปเป็นตัวตั้ง ทำให้คนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ขณะเดียวกันมันก็สามารถสร้างประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าได้  ดังนั้นกระบวนการพวกนี้นำมาสู่ การออกแบบตัวคำถาม  

โดยการทำโพลเกิดจากการจัดทำวงคุย และได้ออกมาเป็น 3 คำถามหลัก ราคา คือโจทย์ข้อแรกที่น่าสนใจ และเป็นกระแสพูดคุยกันในสังคม สอง ค้นพบว่าหลายคนไม่รู้ว่ารถเมล์ หรือรถขนส่งสาธารณะ ควรเป็นของสาธารณะ ที่ผ่านมาเราอยู่กับการรับรู้ว่า ตัว BTS เป็นตัวสัมปทานที่มีการจัดการอยู่  แต่ประชาชนไม่รู้ไหมว่าสิ่งนี้กำลังหมดสัมปทาน แล้วจริง ๆ สิ่งนี้มันควรกลับมาเป็นของ กทม. แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสัญญาอีกคู่หนึ่งที่มีการจัดการทำขึ้นมาซึ่งสัญญาฉบับนี้มันผูกสิทธิทำให้บริษัทเอกชนเข้ามาดูแลจัดการคำถามสำคัญ ก็คือ สังคมรู้หรือไม่ ว่านี่คือบริการสาธารณะ ควรเป็นบริการสาธารณะควรทำให้คนทุกคนเข้าถึงแต่ที่ผ่านมาด้วยราคาที่แพง จึงทำให้เข้าไม่ถึง

สุดท้าย ตอนนี้อยู่ในภาวะของการคลี่สัมปทานสัญญาซึ่งถูกทำการเรียบร้อยแล้ว ประชาชนแทบไม่มีโอกาสได้เคยเห็น เบื้องหลังของสัญญาฉบับนี้คู่นี้ เนื่องจากอยู่ในอำนาจของการห้ามเปิดเผยข้อมูล แต่แท้จริงแล้วนโยบายสาธารณะที่รัฐเองเป็นเป็นคู่สัญญา ควรให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล จึงเป็นที่มาของข้อที่ 3 ว่าเราทุกคนควรมีโอกาสได้ดูหรือเปล่าสัญญาคู่ฉบับนี้ดังนั้นคำถาม 3 คำถามเกิดขึ้นจากกระบวนการมีส่วนร่วม พ่วงกับประสบการณ์ของผู้ใช้บริการ

“ประเด็นสำคัญคือ การทำพื้นที่ปลอดภัยพื้นที่ ที่คนทุกคนสามารถที่จะออกความคิดเห็นตัวเองมาคุยกันได้แล้วจะเห็นได้ว่ากระบวนการทำโพลเริ่มต้นจากเครือข่ายตั้งคำถามชวนเขาเข้ามา   ช่วงแรกเขาอาจจะมีความลังเล พอเราได้ลองทำแล้วมันก็ทำให้เราเห็นว่าเขาก็คิดเหมือนกัน นะว่าจริงๆ มันแพง หรือไม่แพงแล้วจริงๆมันควรเป็นสาธารณะหรือไม่ เพราะฉะนั้นกระบวนการคิดนี่แหละที่นำไปสู่การตั้งคำถาม มันจึงมีบทสนทนาเกิดขึ้น เกิดกระบวนการ”

ขณะเดียวกันเราอาจจะได้ยินเสียงบางเสียงที่มันไม่เคยถูกพูด อย่างเช่น มันแพงไป อันนี้มันไม่ควรเป็นของเอกชนนะมันควรเป็นของรัฐสิ หรือจริง ๆ ก็มีคำพูดที่ว่ามันไม่ควรเป็นสัมปทานด้วยซ้ำ เท่ากับว่าเสียงบางเสียงไม่เคยถูกรับฟัง แต่เมื่อเราทำโพลมันทำให้เป็นเครื่องมือ ทำให้เสียงบางเสียงมันถูกรับฟัง

อินทิรา กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือกระบวนการที่จะทำตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม คือทำให้จังหวะของการเคลื่อนไหวอีก 22 สถานีถัดไป และทำให้กิจกรรมตรงนี้ กลายเป็นพื้นที่ของการรวบรวมเสียงด้วยผู้คนที่หลากหลายและ จนเกิดข้อเสนอชุดนึงเพื่อจะไปส่งตรงต่อกลไก บางอย่างเพื่อที่จะทำให้เห็นว่าประชาชนมีการตั้งคำถามและเราเองก็อยากมีส่วนร่วมในการออกแบบ

ตอนที่ได้มีโอกาสคุยกับสภาองค์กรผู้บริโภค เขาเองก็มีทิศทางจะมีการเคลื่อนไหวแบบนี้ในการทำนโยบายเพราะฉะนั้น เราคิดว่าช่วงจังหวะเวลาที่มันเหมาะสมมันก็คือ 1 เดือนหลังจากนี้ เพราะฉะนั้นตลอดเดือนกรกฎาคม เราจะมีการเดินทางไปทำโพลตามจุดต่างๆทั่วกรุงเทพฯทั้งหมด 22 สถานีแต่ระหว่างทางของการทำโพลเราก็จะมีกิจกรรมที่เป็นอีเวนต์ชุมชนหรืออาจจะมีกิจกรรมปิกนิกคนทำงาน ชวนคนทำงานออกมานั่งพื้นที่สวนสาธารณะของเมืองและคุยกันเรื่องรถไฟฟ้า   ขณะเดียวกันเราอยากทำให้ทั้งหมดทั้งมวลมันนำไปสู่พื้นที่กลางบางอย่างในเดือนสิงหาคมเพื่อที่จะบอกว่าข้อมูลที่คุณเคยบอกเรา ที่คุณส่งเสียง มันคือข้อมูลชุดนี้”

ด้าน วรพจน์ โอสถาภิรัตน์ กลุ่มดินสอสี ระบุว่า จากประเด็นทั้งเรื่อง ราคาแพงทั้งการเข้าถึงได้และเข้าถึงไม่ได้  มีเป้าหมายว่าอยากจะทำกับหลายกลุ่มเพราะที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ามีเพียงแค่การแถลงข่าวเราก็เลยคิดแคมเปญนี้ขึ้นมาชื่อ ขนส่ง ขนสุข สาธารณะ กำหนดกลุ่มเป้าหมายอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน 

กลุ่มแรก กลุ่มนักเรียนนักศึกษาคนรุ่นใหม่ ชวนเขามาทำโพลตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ที่สำคัญสำคัญของสารสีเขียวที่มองว่ามันเป็นปัญหาอยู่ตอนนี้

กลุ่มที่ 2  คือกลุ่มคนทำงานออฟฟิศซึ่งก็จะไปจัดคล้ายๆปิกนิก สภากาแฟที่สวนสาธารณะตามรางรถไฟสายสีเขียว ทำเป็นวงเล็ก ๆ 15-20 คนมานั่งปรับทุกข์ เอาอาหารมาแชร์กันน้ำดื่มหรืออาจจะมีดนตรีเล็ก ๆ อันนี้ก็จะคุยเรื่องการเดินทางในคนเมืองมันมีปัญหาอะไรบ้างและรถไฟฟ้ามันควรจะเป็นอย่างไร

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคนจนเมืองกลุ่มคนชายขอบซึ่งมันถูกละเลย จริง ๆก็อาจจะไม่ได้ขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้มีปัญหาเรื่องราคาแพงเพราะจริง ๆ เขาอาจไม่มีแม้กระทั่งเงินที่จะขึ้นรถไฟฟ้า

เรามีความตั้งใจอยู่แล้วว่าเราอยากจะทำอะไรที่มันให้ความสุข ให้ความบันเทิงมาถึงหน้าบ้านของคนในชุมชน จึงมีการจัดกิจรรมลิเกเร่เข้าไปในชุมชน โดยมองว่าควรที่จะมีการเข้าหาชุมชนและพยายามสร้างแนวทางที่ว่า  เวลาที่เราคิดจะทำเทศกาลดนตรีหรือเทศกาลอะไรก็แล้วแต่ควรจะเข้าถึงทุกระดับที่อาศัยอยู่ในเมืองเพราะจริง ๆ แล้วคนที่อยู่ชานเมืองหรือที่เราเรียกกันว่าเป็นคนจนเมืองคนชายขอบทุกวันเขาต้องเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองเขาเป็นตัวหล่อเลี้ยงเมือง แต่ว่ายังไม่มีกิจกรรม ที่เข้าถึงเขาเพื่อมอบความบันเทิงความสุขในชุมชน จนได้มาเป็นลิเกเรื่อง “มนต์รักรถไข่วคว้า” เพื่อที่จะเชื่อมโยงปัญหาให้ชุมชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน แล้วก็เอาเสียงของพวกเขาออกไปด้วยเพราะว่าเอาจริงๆเสียงของพวกเขา ที่เป็นคนจนเลยแนวเรื่องของรถไฟฟ้า ก็ จะมีเพียงเสียงของคนที่อยู่ใจกลางเมืองมันก็เลยเป็น 2 อย่างผสมกันว่าถ้าอย่างนั้นเราอยากจะพูดเรื่องรถไฟฟ้าเราอยากฟังเสียงของคนจนเมืองชุมชนชายขอบขณะเดียวกันเราก็อยากให้เขามีเทศกาลของตัวเองอยากให้เขามีความสุขในแบบของเขาเองได้

วรพจน์ กล่าวว่า ถ้าเกิดกิจกรรมแบบนี้ต่อเนื่องก็จะทำให้รู้สึกว่าคนที่อยู่ในเมืองใจกลางเมืองเขาก็ได้มีพื้นที่สาธารณะเป็นของตัวเอง คนที่อยู่ในชุมชนก็มีพื้นที่ของตัวเอง เพราะฉะนั้นความเหลื่อมล้ำก็จะน้อยลงด้วยตัวมันเอง เมื่อทุกคนเข้าถึงความสุขเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้

ส่วนที่ สอง การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ที่ทำเรื่องรถไฟฟ้าคาดก็หวังว่าจะถูกพูดคุย ยิ่งมีโพลบันทึกความคิดเห็นแล้วเอาเสียงจากคนชายขอบหรือคนจนเมืองเข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของความคิดเห็นที่จะเสนอกับผู้ว่าฯ กทม. อีกทีว่าพวกเขาเหล่านี้มีความรู้สึกอย่างไร

“เวลาจะทำรถไฟฟ้าพวกเขาจะเป็นบุคคลที่ถูกไล่รื้อก่อนเพราะเป็นพื้นที่ที่เขาจะมาสร้างตอม่อผ่านพอสร้างเสร็จปุ๊บพวกเขาก็ไม่ได้ใช้แถมยังโดนไล่ไปที่อื่นหรือถ้าอยู่ที่นี่ราคาก็จะแพงจนเกินไปที่พวกเขาจะใช้ได้ มันมีวิธีการที่จะทำให้คนเราเข้าถึงการเดินทางได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมไม่อย่างนั้นคุณใช้งานเขาแต่คุณไม่สนับสนุนเขาในการเดินทางชีวิตมันก็เป็นทุกคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ไปทำงานโรงแรมสุขุมวิทมันก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจโดย กทม. อยู่แล้วแต่พวกเขาเองกลับเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะเพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราแก้ปัญหานี้ได้มันก็จะเป็นการลดความไม่เป็นธรรมลงได้ด้วยตัวมันเอง” 

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมอย่างนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องรถไฟฟ้าแต่ต้องมีเวทีแบบนี้ในทางเชิง ศิลปะวัฒนธรรมมีการเข้ามารับฟังเสียงของประชาชนให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วก็ส่งต่อเข้าไปในเวทีกรุงเทพฯ เส้นเลือดฝอย ก็จะได้มีความหมายจริง ๆ อย่างที่ผู้ว่าฯ กทม. พูดว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่คนที่มีโอกาส

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ