กทม. นำร่องรถรับส่งนักเรียนไฟฟ้า แก้รถติด

ทดลองเดินรถย่านสามเสน แก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน พร้อมชวนโรงเรียนจัดรถบริการรับส่งนักเรียน

25 พ.ค. 2566 ทีมข่าว The Active ติดตามการให้บริการรถรับส่งนักเรียนบนถนนสามเสน เพื่อแก้ปัญหารถติดจากกรณีปิดเส้นทางการจราจรบางส่วนเพื่อดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน และโอกาสของการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ด้วยการสนับสนุนให้โรงเรียนมีรถรับส่งนักเรียนของตัวเอง

วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดให้มีรถรับส่งนักเรียนบนถนนสามเสน วัตถุประสงค์แรก เพราะบนพื้นที่ถนนสามเสนจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง การก่อสร้างรถไฟฟ้าทำให้การจราจรในบริเวณนี้ติดขัดมาก ขณะเดียวกันย่านสามเสนมีโรงเรียนอยู่หลายโรงเรียน ดังนั้น รถของผู้ปกครองที่มาส่งนักเรียนทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็นทำให้การจราจรยิ่งติดขัด กทม. จึงได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะบรรเทาปัญหานี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะการรับส่งนักเรียนหน้าโรงเรียน ประกอบกับการที่ กทม. มีนโยบาย BMA feeder หรือรถบัสไฟฟ้าให้บริการอยู่แล้ว โดยสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ซึ่งได้ให้บริการ 2 เส้นทาง คือ พหลโยธินไปยังดินแดง และเส้นทางเคหะร่มเกล้า เขตลาดกระบัง ไปยังแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จึงคิดว่าถ้าเอามาทดลองกับเส้นทางนี้บ้างจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะย่านสามเสน จุดติดขัดสำคัญคือสะพานซังฮี้ ซึ่งต้องข้ามจากฝั่งธนบุรีขึ้นมา จะเห็นว่าช่วงเช้ารถที่ข้ามมาใช้เวลานานมาก ราว ๆ 1 ชั่วโมง แม้เป็นระยะทางสั้น ๆ ดังนั้น ถ้าลดจำนวนรถของผู้ปกครองได้อย่างน้อย 100 คน รถหายไป 100 คัน ก็น่าจะบรรเทาปัญหา เมื่อผู้ปกครองส่งลูกขึ้นรถรับส่งแล้ว ผู้ปกครองก็ไปทำงานต่อได้เลย เพื่อให้สะดวกต่อการใช้บริการยังสามารถเช็กตำแหน่งรถวิ่งแบบเรียลไทม์ได้ผ่าน แอปพลิเคชัน VIABUS

“เริ่มต้นคาดว่าจะให้บริการ 3 คัน แต่เมื่อพบว่ามีผู้ใช้บริการมากก็เพิ่มเป็น 4 คัน ช่วงเช้ารถจะแน่น เรายังได้ประสานงานกับตำรวจจราจรเพื่อเร่งให้รถรับส่งนักเรียนวิ่งได้เร็วขึ้น โดยช่วงเวลาในการให้บริการ เริ่ม 6.00 – 7.30 น. รับนักเรียนออกจากออฟฟิศเมทที่ถนนสิรินธร เข้ามายังสามเสน จอดที่สามเสน 13 วชิรพยาบาล สมาคมศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล ช่วงเย็นให้บริการตั้งแต่ 15.20 – 19.30 น. คันสุดท้ายจะออกจากบริเวณสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล จอดที่ราชวิถี 19 และไปส่งที่ตั้งฮั่วเซ็งฝั่งธน โดยเราสำรวจมาแล้วว่าเป็นจุดจอดที่นักเรียนจะสะดวกที่สุด วันนี้การตอบรับที่ดี ต้องขอบคุณเอกชนที่ให้ความร่วมมือ ทั้งเอกชนที่ให้พื้นที่จอดรถ สำหรับผู้ปกครองที่รอรับส่งลูก การทดลองนี้ยังจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ถ้ามีการให้บริการที่ดี รถโรงเรียนก็น่าจะมีคนใช้บริการ”

ช่วงแรกเริ่มยังมีคนตั้งคำถามว่าจะมีใครใช้บริการไหม เพราะผู้ปกครองน่าจะเป็นห่วงลูกหลานอยากมารับส่งเองเหมือนเดิม แต่การให้บริการก็เห็นแล้วว่าเป็นที่ต้องการ เรายังมีการหารือกับทางโรงเรียนต่าง ๆ จากผลลัพธ์นี้ถึงโอกาสที่ทางโรงเรียนจะจัดให้มีรถรับส่งนักเรียน เพื่อลดจำนวนรถยนต์ในละแวกโรงเรียน และการที่ กทม. นำร่องก็พิสูจน์ว่ามีความต้องการจริง ๆ ไม่ใช่รถวิ่งเปล่า แล้วก็ไม่มีอะไรเสียหาย เพราะรถ กทม. ก็มีอยู่แล้ว แต่ต่อไปถ้าจะขยายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ เพื่อให้บริการในวงกว้างมากขึ้น ก็อาจจะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในอนาคต ต้องพิจารณาถึงระบบจัดการเดินรถ คำนึงถึงงบประมาน เพราะอย่างรถโรงเรียนให้บริการแค่ช่วงเช้าและช่วงเย็นเท่านั้น ต้องคิดเรื่องความคุ้มค่าของการใช้งบประมานและการบริหารจัดการ มีโอกาสที่จะขยายผลต่อแต่ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร

“ประการแรกพิจารณาเรื่องของพื้นที่ก่อน พื้นที่ไหนเป็นย่านที่มีโรงเรียนอยู่ร่วมกันเยอะ ๆ การจราจรติดขัด มีจังหวะที่สามารถลดจำนวนรถเข้าพื้นที่ได้ เช่น พื้นที่ข้ามฝั่งธน-กรุงเทพฯ น่าสนใจเพราะเรามีปัญหาว่าสะพานข้ามเจ้าพระยามีไม่มาก ทำให้รถติดทุกสะพาน ดังนั้น โรงเรียนใกล้แม่น้ำ ถ้าทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องข้ามฝั่งมาก็จะช่วยบรรเทาปัญหา เช่น เส้นทางทดลองสามเสน มีคนใช้ช่วงเช้า 170 คน ประหยัดพื้นที่ไป 170 คัน”

รองผู้ว่าฯ กทม. ยังบอกอีกว่า การจราจรเป็นจุดที่ท้าทายของคนกรุงเทพฯ แต่ กทม. ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการจราจร เช่น บนถนน การอำนาจหน้าที่ของตำรวจจราจร เรื่องรถขนส่งสาธารณะ หรือรถเมล์ เป็นของกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม หาก กทม. จะเดินรถแล้วเก็บเงิน ทำไม่ได้ ต้องขออนุญาตเดินเส้นทางของกรมการขนส่งทางบก แล้วถ้าเราเดินรถฟรีตลอดก็จะเป็นภาระเรื่องงบประมานของ กทม. ดังนั้น ต้องพิาจารณาว่าถ้าลงงบประมานแล้วต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ต้องมีคนขึ้นจริง แก้ปัญหาจุดรถติดได้

“แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานมีบทบาทในการบริหารจัดการบนถนน แต่ กทม. ก็เป็นส่วนสนับสนุน เช่น เรื่องการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจจราจร เราก็เอาเครื่องมือมาช่วย เช่น นำกล้องมาจับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย เรื่องการมีสัญญาณไฟ เราพยายามสนับสนุน โดยต้องสร้างความร่วมมือใกล้ชิดกัน หากตำรวจออกใบสั่งแล้วคนไม่มาเสียค่าปรับ กรมการขนส่งทางบกก็ต้องช่วยเรื่องของการไม่ต่อใบบอนุญาตหรือทะเบียนรถ ต้องบูรณาการ่วมกัน เป็นโจทย์ที่ท้าทาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย”

สำหรับโจทย์อื่น ๆ ที่เป็นปัญหาใหญ่ของ กทม. เราพยายามแก้ปัญหาโดยเริ่มจากโครงการนำร่อง พื้นที่ทดลองโครงการต่าง ๆ เช่น รถโรงเรียน เราไม่ได้รับจากบ้านมาที่โรงเรียน แต่รับจากพื้นที่ ซึ่งเราต้องมีที่จอดและรับตามจุดที่เหมาะสม เราน่าจะสามารถเอาบทเรียนตรงนี้ไปขยายต่อได้ เพราะเป็นการใช้งบประมานคุ้มค่าจริง ๆ

วาสนา อิ่มอ้น ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียล เล่าว่า ปกติต้องนำรถมารับส่งลูกทั้งเช้าเย็น โดยพบว่าช่วงนี้การจราจรติดขัดอย่างมาก เนื่องจากมีการก่อสร้างและมีการปิดถนนบางเส้นทาง พอมีรถจาก กทม. ให้บริการได้รับความสะดวกอย่างมาก และไม่เป็นปัญหาเพราะลูกเริ่มโตแล้ว สามารถจัดการเวลาได้ เพียงแต่ต้องตื่นเช้าขึ้นออกจากบ้านเร็วขึ้นสักหน่อย รถมารับส่งถึงหน้าโรงเรียน ช่วยทุ่นแรงผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี

“น้องต้นน้ำ” เขมทัต วีณิน นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล บอกว่าบ้านของเขาอยู่ถนนพระราม 5 ปกติเดินทางโดยรถส่วนตัว เมื่อมีรถ กทม. ให้บริการ ผู้ปกครองก็บอกให้เปลี่ยนมาเดินทางกับรถรับส่งแทน เพราะสะดวก มีที่นั่งให้เด็กนั่ง ประหยัดเวลาในการเดินทาง รวดเร็วกว่ารถส่วนตัว และไม่มีค่าใช้จ่าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active