5 เดือนสูญเสียหมอกระต่าย ‘ชัชชาติ’ ดัน กทม.เมืองปลอดภัย

คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ผู้ว่าฯ กทม. เดินหน้า เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย

วันนี้ (21 มิถุนายน 2565) คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสภากาชาดไทย สำนักงานเขตเขตพระนคร สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ครั้งที่ 5 พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “Smart City : เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย” และมอบสื่อประชาสัมพันธ์ ใช้รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ใน กทม. พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยสูงถึงปีละ 800-900 ราย ข้อมูลของ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า ช่วง 4 เดือนของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2565) มีคนเดินถนนใน กทม. เสียชีวิต 28 ราย เรื่องการทำทางข้ามให้ปลอดภัยจึงยังต้องร่วมกันทำงานต่อให้เป็นระบบ ส่วนด้านของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อความเสี่ยง สำหรับคนเดิน/หรือข้ามถนนใน กทม. พบว่า รถใช้ความเร็ว ไม่ชะลอหรือหยุดให้คนข้าม ถนนมีหลายช่องจราจร ทำให้มีจุดบดบังสายตา จุดข้ามไม่ชัดเจนหรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีสัญญาณให้คนขับรถทราบก่อน

“กรุงเทพมหานครมีนโยบายเป็นเมืองน่าอยู่-ปลอดภัย กอปรกับรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง ให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน ในปี 2570 โดยใช้แนวคิดการจัดการเชิงระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) ที่มองว่าคนมีข้อจำกัดและผิดพลาดได้เสมอ ระบบที่ปลอดภัยจะช่วยป้องกันและลดความสูญเสีย คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา มีเป้าหมายร่วมในเรื่องความปลอดภัยของคนเดินถนน ตระหนักว่า กทม. มีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมและบรรลุผลในการจัดการเรื่องนี้ให้เป็นแบบอย่างกับเมืองใหญ่ทั่วประเทศ จึงมีข้อพิจารณาเสนอแนะสำคัญ 3 ด้าน คือ 1. ด้านการบริหารจัดการ : โครงสร้าง กฎหมาย งบประมาณ และ KPI กำกับติดตาม 2. ด้านมาตรการด้านถนนและ “ทางม้าลายมาตรฐาน-ปลอดภัย” 3. ด้านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความรับผิดชอบร่วมกัน”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะทางม้าลาย เป็นเรื่องที่ กทม. ต้องทำงานเชิงรุก เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชนทุกคน หนึ่งในกลุ่มคนสำคัญที่ทำให้ กทม. ต้องทำเรื่องนี้ คือ เด็กและเยาวชน เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องใช้รถ ใช้ถนนระหว่างเดินทาง และไปโรงเรียนเป็นประจำทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยความปลอดภัยบนท้องถนน คือหนึ่งในนโยบายหลักของ กทม. ที่ต้องการมุ่งพัฒนาทางเท้า ฟุตพาท ทางม้าลายให้ปลอดภัยกับทุกคน รวมถึงปลุกจิตสำนึกผู้ขับขี่รถทุกชนิด เพื่อลดอุบัติเหตุ หยุดความสูญเสีย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี สู่ เมือง Smart City เมืองปลอดภัย คนปลอดภัย

“กิจกรรมหยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ของวุฒิสภา – สสส. – ภาคีเครือข่าย เป็นการรณรงค์แบบ Soft Power ต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนสร้างความสำเร็จ ในการปลุกจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยบนทางม้าลายและท้องถนน สู่การสร้างเมือง Smart City ได้ หลังจากนี้ กทม. ขอรับนโยบายเพื่อสร้างเมืองปลอดภัยให้เด็ก-เยาวชนต่อไป”

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ ได้ติดตามสถานการณ์และสำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย 12 จุดในกทม. และสำรวจพฤติกรรมการใช้ความเร็วบริเวณทางม้าลาย พบว่ามีถึง 79% ที่ใช้ความเร็วเกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนถึงทางม้าลาย เป็นรถจักรยานยนต์ถึง 90% รองลงมาคือรถยนต์และรถโดยสาร รวมถึงได้สำรวจพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มผู้ขับขี่ไรเดอร์ในเขต กทม. พบว่า 38% ผ่าไฟแดง 11% ขับรถด้วยมือข้างเดียว ในขณะที่มืออีกข้างถือโทรศัพท์ หรือถือถุงอาหาร 1 ใน 3 หยุดรถบนเส้นทางม้าลาย 56% จอดล้ำทางม้าลาย-เส้นแนวหยุด กิจกรรมในวันนี้ได้ขยายความร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อเน้นย้ำและสานต่อความตั้งใจสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งนี้จะพัฒนาโมเดลต้นแบบใน 8 พื้นที่ชุมชนกทม.และโรงเรียนนำร่องสร้างกลไกความร่วมมือ และขับเคลื่อนวัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัย หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายอย่างต่อเนื่อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้