“ไฟไหม้บ่อนไก่” สะท้อนปัญหาภัยพิบัติชุมชนเมือง

เปิดข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน “สร้างเมืองปลอดภัย” ช่วยเหลือและลดภัยพิบัติในชุมชนแออัด กทม. หลังพบ ความหนาแน่นของสิ่งปลูกสร้าง ประชากร และความไม่พร้อมทางกายภาพ เป็นอุปสรรคต่อการดับเพลิงชุมชนบ่อนไก่

1 ในข้อเสนอเพื่อสร้าง “เมืองปลอดภัย” ใน “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” คือ “การช่วยเหลือและลดภัยพิบัติในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร

‘เนืองนิช ชิดนอก’ ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เคยร่วมสะท้อนปัญหาภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของ กทม. ในเวที Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ หัวข้อ เมืองปลอดภัย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปัญหาภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของ กทม. เฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนแออัด ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าให้ความช่วยเหลือ และระงับเหตุอย่างทันท่วงที ยกตัวอย่าง กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในชุมชน ที่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้

เธอเสนอว่า กทม. ควรสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นเบื้องต้นในทุกชุมชน เรือดับเพลิงกรณีชุมชนอยู่ติดแม่น้ำ ลำคลอง และให้ครอบคลุมชุมชน ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามระเบียบ เพื่อให้ได้รับงบประมาณการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

แนวทางที่มีการรวบรวมจากเครือข่ายภาคประชาชน สรุปได้เป็น 3 แนวทาง คือ 1) ส่งเสริมโครงสร้างและอุปกรณ์ภายในชุมชน ในการรับมือกับภัยพิบัติให้มีมาตรฐาน 2) จัดทำข้อมูลและเส้นทางในการเข้าถึงพื้นที่ชุมชนแออัดอย่างรวดเร็วได้ ในกรณีภัยพิบัติ และ 3) ส่งเสริมให้ชุมชนแออัดสามารถบริหารจัดการและลดภัยพิบัติในชุมชนแออัดได้

สำหรับเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ ย่านพระราม 4 วันนี้ (21 มิ.ย. 2565) ไทยพีบีเอส รายงานว่า ประธานชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ให้ข้อมูลว่า ไฟไหม้จากบ้านต้นเพลิง ลุกลามไหม้บ้านเช่าที่อยู่ติดกันเกือบ 40 หลังคาเรือน บ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้สองชั้น และปลูกสร้างติดกัน ลักษณะหลังคาเชื่อมต่อซ้อนกัน เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยจุดที่เกิดเพลิงไหม้ อยู่กลางชุมชน เป็นพื้นที่ไข่แดงของชุมชน แต่รถดับเพลิงจะต้องเข้าทางถนนใหญ่ คือ ถนนพระราม 4 ซึ่งต้องเข้าไปอีก 100 เมตร จึงจะถึงซอยกลาง แต่ยังไม่ถึงต้นเพลิง ซึ่งพบว่าลักษณะทางกายภาพ เช่น แคร่ เพิง หลังคา ร้านค้า ที่ยื่นออกมาทำให้รถสัญจรได้เลนเดียว เป็นอุปสรรคที่ทำให้การดับไฟล่าช้า

ขณะที่อีกข้อจำกัด คือ เมื่อเจ้าหน้าที่พยายามสูบน้ำจากท่อระบายน้ำขึ้นมาช่วยดับเพลิง ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “ตัวหนอน” ลงไปสูบน้ำขึ้นมา แต่น้ำแห้ง จึงต้องต่อสายยาง เชื่อมหัวฉีด ถ่ายน้ำ จากรถน้ำที่อยู่ที่ถนนใหญ่เข้ามา เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและหน่วยกู้ภัย ยังสะท้อนว่า ชุมชนเมือง จะไม่มีพื้นที่สำหรับกางขาหยั่งให้รถดับเพลิงหรือกระเช้าดับเพลิงในที่สูง

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวหลังลงพื้นที่ตรวจจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในชุมชนบ่อนไก่ และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบ ณ ศูนย์พักพิงชั่วคราว ว่าได้แจ้ง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้นำเหตุการณ์นี้มาถอดบทเรียนเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น พร้อมระบุว่า ครั้งนี้ยังถือว่าโชคดีที่จุดเกิดเหตุอยู่ห่างสถานีดับเพลิงหลักเพียง 600 เมตร ทำให้รถดับเพลิงเข้าถึงได้เร็ว แต่ถ้าเกิดในชุมชนที่อยู่ห่างออกไป เข้าถึงได้ยาก และไม่มีประปาหัวแดง อาจจะเกิดความสูญเสียมากกว่านี้

ทั้งนี้ ข้อเสนอเมืองปลอดภัย โดยเครือข่ายภาคประชาชน มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับปรับปรุง คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างเมืองปลอดภัยและหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ สอดคล้องกับเป้าประสงค์ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตามเป้าประสงค์ที่ 1.3.1 กรุงเทพมหานครสามารถลดความเสี่ยงและฟื้นคืนจากภัยพิบัติ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active