‘ไทย-บีอาร์เอ็น’ เห็นพ้อง พื้นที่เจรจา-การมีส่วนร่วม เป้าหมายสันติภาพ

ทุกฝ่ายเห็นร่วม การพูดคุยฯ เดินทางมาไกล ยอมรับแม้ยังไม่สำเร็จ แต่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แสวงหาแนวทางยุติรุนแรง สร้างพื้นที่ปรึกษาหารือ ใช้การเมืองหาทางออก ตามวิถีทางสันติวิธี ด้านผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ขอให้เชื่อมั่นตัวแทน 2 ฝ่าย   

วันนี้(28 ก.พ.66) ในช่วงบ่ายของ เวทีสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 4 มีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “10 ปี กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ประชาชนชายแดนใต้ปาตานี บทเรียนและการเรียนรู้ สู่ทิศทางและความหวังในอนาคต”

พลเอก ศ.ตันศรี ดาโต๊ะ ศรี ปังลีมา ทีเอส ซุลกิฟลี บิน ฮัจญี ไซนัล อาบีดีน
ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจากรัฐบาลมาเลเซีย


พลเอก ศ.ตันศรี ดาโต๊ะ ศรี ปังลีมา ทีเอส ซุลกิฟลี บิน ฮัจญี ไซนัล อาบีดีน ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจากรัฐบาลมาเลเซีย ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ เป็นคนแรก ระบุถึง ความคืบหน้าเชิงบวก ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเป้าหมายการเจรจาอย่างเป็นทางการก็คือการให้มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้าง สันติภาพ อย่างสงบ และปลอดภัย เพื่อประโยชน์เกิดขึ้นแก่ประชาชนในภาคใต้ ของไทย ยิ่งไปกว่านั้น การเจรจาเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และความจริงใจของทั้งสองฝ่ายที่กำลังเจรจากันเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขสาหรับความขัดแย้งอันรุนแรงในภาคใต้ของไทย

‘ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย’ ขอให้ยอมรับ เชื่อมั่นตัวแทน 2 ฝ่าย

ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจากมาเลเซีย ยังบอกถึง ความคืบหน้าล่าสุด การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งที่ 6 ของกระบวนการ พูดคุยสันติภาพระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลไทย (PEDP-RTG) กับแนวร่วม ปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ถือเป็นความคืบหน้าเชิงบวก ที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง และความเข้าใจร่วมกันเพื่อสร้างแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์ร่วม (Joint Comprehensive Plan towards Peace, JCPP) ซึ่งเป็นตัวกาหนดทิศทางสาหรับปี 2566-2567 โดยมองว่า JCPP เป็น road map ที่แสดงให้เห็นว่า มีแสงสว่างแห่งความหวังเพื่อสันติภาพสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย และยังมีโอกาสที่จะสามารถทำให้ความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ด้วย


“คณะพูดคุยรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น พยายามเพื่อให้อีกฝ่ายเชื่อมั่นว่า วัตถุประสงค์การสร้างสันติภาพ และการแก้ไขความขัดแย้งจะสามารถเป็นความจริงได้ หากเกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และความจริงใจ ของแต่ละฝ่ายได้รับการ ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความพยายามของตัวแทนรัฐบาลไทย กับบีอาร์เอ็น ควรได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากทุกชนชั้นของสังคม เพราะตัวแทนของทั้งสองฝ่ายได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือในการสร้างสันติภาพในภาคใต้ของไทย”
 

พร้อมอำนวยความสะดวก เพื่อบรรลุเป้าหมายสันติภาพ

ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติสุขจากมาเลเซีย จะมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รัฐบาลไทย และประชาคมปาตานี ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และ ฝ่ายมาเลเซียคาดหวังว่า การเจรจาจะได้บรรลุแนวทางแก้ไขอันยุติธรรม อย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ที่ผ่านมา ได้พยายามช่วยสร้างสันติภาพในภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังมีความหวัง และมั่นใจ ว่า วิธีการตามความเห็นชอบรวมของทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหา ควรเป็นวิธีปฏิบัติของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และส่วนได้ส่วนเสีย ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องการเน้นก็คือ การสร้างสันติภาพมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับมนุษยธรรม ดังนั้น ทุกฝ่ายควรพยายามขยายการมีส่วนร่วม ในสภาพแวดล้อมของแต่ละฝ่าย โดยยึดมั่นใน “big heart and big mind (จิตใจอันยิ่งใหญ่)” เพื่อบรรลุสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายจะสามารถเป็นผู้ชนะได้ (win-win)

ทั้งนี้ สันติภาพ เป็นคำสำคัญ เป็นประเด็นหลักของแต่ละฝ่าย ถึงแม้ว่า ภายหลังอาจจะมีหลักการ agree to disagree (เห็นด้วยที่จะไม่เห็นด้วย) ต้องมีการปฏิบัติการและได้รับความเคารพทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเห็นด้วย และยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งประเภทไหน ก็ตาม ไม่อาจจะสิ้นสุดด้วยการใช้ความรุนแรง อย่างสุภาษิตมลายู บอกว่า Menang jadi arang, kalah jadi abu (ชนะก็เป็นถ่าน ชนะก็เป็นเถ้า) ไม่มีฝ่ายใดที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ความรุนแรง ในทางกลับการ การใช้ความรุนแรงจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง และมีความเสี่ยงที่จะถล่ม ระบบสังคมทั้งหมดในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยซ้ำ


“ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ขอชวนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกัน แลกเปลี่ยนกันบนโต๊ะเจรจา เพื่อยุติการปะทะกัน แสวงหาจุดรวม สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และ ให้เข้าถึงระดับรากหญ้า และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้ง สักวันหนึ่ง ความพยายามจากความบริสุทธิ์ใจ จะประสบความสำเร็จ”



พูดคุยสันติสุข เดินมาไกล เกินจะย้อนกลับ

จากนั้น พลเทพ ธนโกเศศ ผู้ช่วยเลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ เนื้อหาช่วงหนึ่ง ระบุว่า สถานะการพูดคุยสันติสุขตอนนี้ผ่าน “จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ” (the point of no return) มาแล้ว การพูดคุยถูกกำหนดไว้อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ ในนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ต้องดำเนินการตามแผนดังกล่าว จึงทำให้เชื่อมั่นได้ ว่า การพูดคุยจะมีความต่อเนื่องอย่างแน่นอน

พลเทพ ธนโกเศศ ผู้ช่วยเลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข

ขณะที่เป้าหมายการพูดคุย ไม่ได้มีเพื่อจะทดสอบความเป็นไปได้ของการพูดคุยอีกแล้ว แต่คือการมุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ จากการใช้ความรุนแรงมาสู่การต่อสู้ด้วยสันติวิธีผ่านการพูดคุยฯ  มุ่งที่จะหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับได้ของทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่สันติสุขของสังคมต่อไป


“การพูดคุยไม่ใช่ยัดเหยียดทางออกใดทางออกหนึ่ง ให้กับอีกฝ่าย แต่เป็นการร่วมกันหาทางออกซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย”


มองเห็นแสงสว่าง(สันติภาพ)ที่ปลายอุโมงค์

ผู้ช่วยเลขานุการ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ระบุอีกว่า ปัจจุบันการพูดคุยกำลังเข้าสู่ขั้นตอนของการถกแถลงประเด็นสารัตถะ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ประเด็นคือ 1. การลดความรุนแรง 2. การปรึกษาหารือสาธารณะ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ เช่น รูปแบบการบริหารพื้นที่ อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น เศรษฐกิจและการพัฒนา ความยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมาย และการศึกษา ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถูกเห็นชอบ ให้เป็นประเด็นที่ต้องถูกถกแถลงในเอกสารหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยเพื่อสันติสุข (General Principles of the PDP) ล่าสุดคณะพูดคุยฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ โดยต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ใช่แค่คณะพูดคุยฯ อย่างเดียว 


“มีคนถามเยอะว่าเมื่อไรจะคุยแล้วจบ? ซึ่งปัญหาจังหวัดชายแดนใต้แก้ได้ มันอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่เมื่อเทียบกับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก แล้วถือว่าเรายังสามารถพอที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้ หากลองพิจารณากลไกของรัฐในปัจจุบัน เรามีทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง นโยบาย และยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งความสำเร็จที่เรามีจากการบรรลุเอกสารหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยฯ จะพบว่าเราค่อนข้างมีความพร้อมอย่างมาก เหลือแต่เพียงเราจะนำทุกอย่างเหล่านี้ที่เรามีมาปฏิบัติใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างสอดคล้องกันได้อย่างไร ในอดีตเราบอกว่าการพูดคุยต้องใช้เวลา ต้องใช้ความอดทน โดยยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่วันนี้เราคิดถึงการกำหนดกรอบเวลาเพื่อเป็นเข็มมุ่ง ให้สังคมเห็นภาพว่า สันติสุขจะเกิดในพื้นที่ได้เมื่อใด”

พลเทพ ทิ้งท้ายว่า แม้กระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังปรากฏปัญหาการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ ทั้งหมดเป็นบทเรียนสำคัญ ให้เรารู้ว่าเราจะทำอย่างไรให้อนาคตของกระบวนการสันติภาพเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ในฐานะตัวแทนคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ยืนยัน ที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และมุ่งหน้าใช้การพูดคุยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดถกแถลงถึงแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนต่อไป


‘บีอาร์เอ็น’ เชื่อ ความร่วมมือ นำพาสู่สันติสุข


ทางฝั่งของ อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยบีอาร์เอ็น ปาฐกถาพิเศษ ผ่านคลิปวิดีโอสั้น โดยเนื้อหาช่วงแรก ได้กล่าวขอบคุณคณะผู้จัดงาน ที่ทำงานหนักเพื่อให้การประชุมสมัชชาสันติภาพปาตานีครั้งที่ 4 เกิดขึ้น ถือเป็นอีกวันที่มีความสุข ที่ได้มีส่วนร่วมและเชื่อมสัมพันธ์กับทุกคน โดยกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นเครื่องยืนยันว่ากระบวนการเจรจาสันติสุขได้รับการสนับสนุน ได้รับความสนใจ และความร่วมมืออย่างดีเสมอจากทุกกลุ่มในสังคม ในความพยายามสร้างสันติสุขที่เป็นความฝันมาอย่างยาวนาน

อุสตาซอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยบีอาร์เอ็น


“กระบวนการเจรจาสันติสุขในปาตานี ดำเนินมาถึง 1 ทศวรรษแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน  ผู้คนหลายหมื่นคนได้รับบาดเจ็บสาหัส แม่หลายพันคนกลายเป็นหม้าย เด็กกำพร้าหลายพันคน ทรัพย์สินเสียหายต่าง ๆ นานาที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลกระทบโดยตรงจากสงครามที่ยาวนานและไม่สิ้นสุด เราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์หรือโลกที่พัฒนา ซึ่งผู้คนเต็มไปด้วยอารยธรรม อาจจะไม่มีคนโง่  ถูกทำให้โง่ และยอมถูกหลอก อยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยอารยธรรมพร้อมกับการพัฒนาและความก้าวหน้าของยุคสมัย ทุกเชื้อชาติที่มีอยู่บนหน้าแผ่นดินต้องการที่จะอยู่อย่างเท่าเทียมกันกับเชื้อชาติอื่น ๆ ในสภาวะแห่งความสงบสุข สันติ และปลอดภัย บนพื้นฐานและคุณค่าความเป็นมนุษยชาติที่มีอารยะและการเคารพซึ่งกันและกัน ดังนั้นการกดขี่ในทุกรูปแบบ ความโหดร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชนใด ๆ และการล่าอาณานิคมในทุกรูปแบบ จะต้องถูกกำจัดให้หมดไปในโลกนี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม และความยุติธรรมอีกต่อไป”  



ค้นหาจุดร่วม เข้าใจ คลี่ปมขัดแย้ง

อุสตาซอานัส ยังเห็นว่า การเจรจาสันติสุขเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง และดีที่สุดเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ข้อพิพาท ค้นหาจุดร่วม สร้างความเข้าใจ คลี่คลายปมความขัดแย้ง และหลีกเลี่ยงจุดที่ตึงเครียดเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยุติธรรม มีศักดิ์ศรีและยั่งยืน นอกจากนี้ยังมองว่า

1 ทศวรรษของการเจรจาสันติสุข เจอกับการขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเส้นทาง แต่ถึงอย่างไร การเจรจานี้ก็ดำเนินไปทีละขั้น ก้าวไปข้างหน้าจนกว่าทั้งสองฝ่าย จะมีจุดร่วมกัน และสามารถจัดทำข้อตกลงบางอย่างเป็นขั้นตอนเริ่มต้นในกระบวนการเจรจานี้ เพื่อมุ่งสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งและสามารถสร้างสันติภาพที่แท้จริง


“พี่น้องครับ ในบรรดาข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายหลัก คือ บีอาร์เอ็น และ รัฐบาลไทย ในช่วงทศวรรษนี้ เราสามารถเริ่มต้นด้วยการลงนามในฉันทามติทั่วไปในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพปาตานี โดยเฉพาะกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยรัฐบาลไทยตกลงที่จะแก้ไขความขัดแย้ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งนองเลือดในปาตานีด้วยสันติวิธี หรือด้วยการแก้ปัญหาทางการเมือง นี่คือจุดเริ่มต้นในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ ซึ่งรัฐบาลไทยเห็นพ้องและยอมรับว่าขบวนการปลดปล่อยปาตานี เป็นศัตรูทางการเมือง ไม่ใช่ในฐานะขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือผู้ก่อการร้าย หรือผู้ก่อกวนสันติภาพอย่างที่เรียกกันก่อนหน้านี้ ภายหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปในปี 2556 ทั้งสองฝ่ายยังสามารถจัดทำกรอบการเจรจาสันติภาพในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 จากนั้น ในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงในประเด็นหลักของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมติทางการเมืองเกี่ยวกับการปรึกษาหารือสาธารณะ และการลดปฏิบัติการทางทหาร หรือลดความรุนแรง”



JCPP ความก้าวหน้า เจรจาสู่สันติสุข

หัวหน้าคณะพูดคุยฯ บีอาร์เอ็น ยังระบุถึง JCPP แผนที่นำทางของกระบวนการสันติภาพ (road map) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสาธารณะ การหยุดยิง และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมติทางการเมืองตามที่มีอยู่ในหลักการทั่วไปที่ตกลงกันไว้ ทั้งหมดนี้คือกระบวนการความก้าวหน้า ที่ยังคงมีลักษณะเป็นนามธรรม ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นจริงและพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมหรือเป็นจริงในภาคสนาม นี่คือขั้นตอนเริ่มต้น ในกระบวนการเจรจา ที่เพิ่งเริ่มเป็นก้าวแรกในรอบทศวรรษ แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นในกระบวนการเจรจา สามารถสร้างเครื่องมือการรื้อฟื้นที่สามารถดำเนินการอย่างสมดุลกับการสร้างเอกลักษณ์ และเพิ่มพูนเกียรติยศของชาติ นั่นเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดของการเจรจาต่อรอง

“ข้าพเจ้าหวัง และเป็นความหวังของพวกเราทุกคนถึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายโดยทั่วถึง ในความพยายามที่จะแก้ไขชะตากรรมของประเทศนี้ เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของเรา เพื่ออนาคตที่ปลอดภัย สงบสุข มั่งคั่ง และยั่งยืนของปาตานี”

   

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active