‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ อาสาช่วยผู้เสียหาย #รถบัสไฟไหม้ ดำเนินคดีถึงที่สุด

พร้อมเปิดข้อเสนอปฏิรูปรถโดยสารสาธารณะ ชี้ยกเลิกทัศนศึกษาไม่ใช่ทางออกแต่ต้องสร้างมาตรฐานความปลอดภัย รื้อระบบตรวจสอบคุณภาพรถทั้งระบบ

จากกรณีอุบัติเหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ จนทำให้ครู และนักเรียน เสียชีวิตรวม 23 คน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา

ล่าสุด วันนี้ (2 ต.ค. 67) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดแถลงข่าว “จากรถบัสไฟไหม้ ถึงเวลาทบทวนแนวทางการไปทัศนศึกษาที่ปลอดภัย” โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ชัดว่า

“ประเทศไทยไม่ควรยอมรับการตาย
ในสิ่งที่เราป้องกันได้”

สารี อ๋องสมหวัง
สารี อ๋องสมหวัง
เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

พร้อมทั้งยังได้เปิด 4 ข้อเสนอสำคัญ ประกอบด้วย

  1. ขอให้ผู้เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบอย่างชัดเจน และ สภาองค์กรของผู้บริโภคพร้อมสนับสนุนร่วมมือกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค

  2. ขอให้ยกเลิกการใช้รถบัส 2 ชั้น ในการรับจ้างแบบไม่ประจำทาง เนื่องจากไม่ปลอดภัย

  3. เรียกร้องให้บริษัทรถ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องขยายวงเงินประกันเป็น 30 ล้านบาท เพื่อคุ้มครองหน้างานทันที เนื่องจากรถบัสคันนี้มีวงเงินประกันเพียง 10 ล้านบาท แต่จำนวนผู้เสียชีวิตมีจำนวนมากทำให้เหลือจำนวนเงินน้อยมากในการเยียวยาในแต่ละหัว ซึ่งแม้กระทั่งในระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการก็ระบุเพียงแค่ว่าต้องมีการประกันภัยรถบัส แต่ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน

  4. รื้อระบบการตรวจสอบสภาพรถยนต์ทั้งระบบ โดยเฉพาะรถสาธารณะอย่างน้อย 2ครั้ง/ปี และดูที่การใช้งานเป็นหลักโดยต้องไม่มีรถไม่ปลอดภัยวิ่งบนถนน

นอกจากนี้ สารี ยังเสริมอีกว่า โรงเรียนมักจัดการทัศนศึกษาพร้อม ๆ กันในช่วงปิดเทอม ทำให้อาจไม่ได้รถที่มีมาตรฐานเพราะมีความต้องการมาก แต่ละโรงเรียนควรร่วมกันวางแผนออกแบบ

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค เห็นว่า เหตุการณ์นี้ต้องไม่ใช่แค่การ “ปฏิรูป” แต่ต้อง “ปฏิวัติ” การเดินทางบนท้องถนน ต้องมีการสืบสวนอย่างละเอียดเพื่อถอดบทเรียน เพราะหนึ่งในวิธีของไทยตอนนี้คือการสร้างมาตรฐานของรถยนต์ในอนาคตแบบไปข้างหน้า แต่กลับไม่ย้อนไปถึงการตรวจสอบรถที่มีอยู่แล้วบนท้องถนน กรมการขนส่งทางบกจึงควรชี้แจงเรื่องนี้

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร
ประธานอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค

สอดคล้องกับ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เสริมว่า จากการตรวจสอบรถคันที่เกิดเหตุ พบว่า มีโครงสร้างรถที่ใช้มาแล้ว 50 ปี และนำโครงเก่านี้มาประกอบตัวถัง เปลี่ยนเครื่องยนต์ โดยที่ผ่านมา อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ยังระบุว่า ตอนนี้รถโดยสารประจำทางไม่มีกำหนดระยะเวลาของโครงว่าควรจะใช้ที่กี่ปี ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบข้อกำหนดนี้

“ถ้าเป็นแบบนี้ แปลว่าเราปล่อยให้มีการขายซากรถเก่านำมาแต่งสี ใส่เครื่องยนต์ใหม่ รวมถึงคุณสมบัติรถที่ไม่ตรงกับที่แจ้ง ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบกตรวจเช็คสภาพรถอย่างเป็นระบบด้วย”

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา

ขณะที่ คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค บอกว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันถึงมาตรฐานของรถที่เกิดเหตุมีความบกพร่องหลายอย่าง เช่น ประตูฉุกเฉินที่เปิดไม่ได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือ ข้อถกเถียงในสังคมว่า ควรยกเลิกการทัศนศึกษาหรือไม่ ?

“หากย้อนดูระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2562 ว่าด้วยการพานักเรียน นักศึกษาไปทัศนศึกษานั้น พบว่าค่อนข้างกำหนดอย่างกว้าง แต่ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ตามช่วงวัยของเด็ก หากดูกรณีนี้ พบว่ามีตั้งแต่เด็กอนุบาล-มัธยมศึกษา ซึ่งมีความสามารถในการเรียนรู้ต่างกัน แต่กลับพอไปในสถานที่เดียวกันด้วยระยะทางไกลกว่า 270 กิโลเมตร ด้วยการออกจาก จ.อุทัยธานี ตีห้า แล้วกลับถึงบ้าน 2 ทุ่ม สิ่งเหล่านี้มันจำเป็นมากน้อยเพียงใด ?”

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ

คงศักดิ์ ยังได้ยื่นข้อเสนอสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  1. ทบทวนเรื่องกฎระเบียบการพาเด็กไปทัศนศึกษา เนื่องจากตอนนี้ระเบียบเป็นการเขียนกว้าง ๆ ไม่เจาะจงว่าเด็กแต่ละระดับชั้นควรเรียนรู้แบบใด หรือระยะทางที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร

  2. มีมาตรการซักซ้อมครู-นักเรียนเพื่อรับมือในภาวะวิกฤตและการเอาตัวรอด เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือการติดอยู่ในรถ

  3. เสนอเครื่องมือ คือ “สัญญาจ้างขนส่งผู้โดยสาร” ที่จัดทำโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อรองรับการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและโรงเรียนนำไปปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม เพื่อการคัดกรองผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ และเป็นขั้นตอนแรกในการป้องกันก่อนเกิดเหตุ เนื่องจากตอนนี้ระเบียบหละหลวม บางครั้งบริษัทรถก็จัดหารถไม่ตรงตามที่ตกลงไว้กลายเป็นภาระของโรงเรียน

เช่นเดียวกับ เชษฐา มั่นคง คณะทำงานด้านการศึกษา ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มองว่า การเรียนรู้ของเด็กนอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม สิ่งที่เป็นปัญหาคือเรื่อง “คุณภาพ” ของการทัศนศึกษาต่างหาก และเห็นว่าโรงเรียนควรเสริมสร้างทักษะการเอาตัวรอดในสภาวะฉุกเฉินให้เด็กในทุกระดับชั้น

เชษฐา มั่นคง
คณะทำงานด้านการศึกษา ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

“ประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้น้อย พิพิธภัณฑ์ก็กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ไม่ใช่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้ง่าย การทัศนศึกษาจึงยังจำเป็นอยู่สำหรับบางครอบครัวที่มีรายได้น้อย ญี่ปุ่นฝึกประชาชนให้รับมือกับแผ่นดินไหวตั้งแต่เด็ก วิชาลูกเสือ-เนตรนารีของไทยก็ควรต้องปรับตัวตามยุคสมัย ไม่ใช่แค่การเดินป่า แต่ต้องฝึกเอาตัวรอดเมื่อจมน้ำ น้ำท่วม หรืออุบัติเหตุบนท้องถนนด้วย ฉะนั้นแล้วการถกเถียงกันเรื่องว่าควรมีทัศนศึกษาหรือไม่นั้นอาจเป็นปลายเหตุ สิ่งที่เราควรแก้ไขคือเรื่องมาตรฐานและการป้องกันมากกว่า”

เชษฐา มั่นคง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active