กสม. แนะปิดช่องโหว่ความหละหลวมคุ้มครองเด็ก กรณี #รถบัสไฟไหม้

วอนสื่อ หยุดเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวเด็ก ครอบครัว ผู้สูญเสีย ขณะที่ สภาผู้บริโภค เสนอเร่งด่วน ทบทวนทัศนศึกษา ระเบียบจัดจ้างรถโดยสารไม่ประจำทาง เข้มงวดกับการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย

จากเหตุการณ์อุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะนำนักเรียนไปทัศนศึกษา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและครู รวมถึงมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความสะเทือนใจแก่สังคมเป็นวงกว้าง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยเน้นย้ำว่าการคุ้มครองสิทธิในชีวิต และร่างกายของเด็กเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่รับรองสิทธิของเด็กในการมีชีวิตรอดและได้รับการคุ้มครอง

นอกจากนี้ กสม. ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพ และข้อมูลส่วนตัวของเด็กและครอบครัวผู้เสียชีวิต ที่อาจทำลายสิทธิในความเป็นส่วนตัวของพวกเขา โดยเรียกร้องให้สื่อมวลชนและผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์คำนึงถึงมาตรฐานทางจริยธรรมและวิชาชีพในการนำเสนอข่าว ไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ซ้ำเติมความโศกเศร้าของครอบครัวผู้สูญเสีย ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 และมุ่งนำเสนอสาเหตุและการป้องกันแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์แทน

เหตุสลดดังกล่าว แม้ไม่มีผู้ใดต้องการให้เกิดขึ้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมในการปกป้องและคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งยังมิอาจปกป้องตนเองจากภัยอันตรายได้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ท้ายที่สุด กสม. ยังขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเร่งสอบสวนหาสาเหตุที่แน่ชัดของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ และเร่งเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม เป็นธรรม และทั่วถึง ซึ่งการเยียวยานั้นต้องรวมไปถึงการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้รอดชีวิตและครอบครัวผู้สูญเสีย รวมทั้งหามาตรการป้องกันภัยเพื่อมิให้เกิดเหตุสลดเช่นนี้อีก

สภาผู้บริโภค เสนอเร่งด่วน ทบทวนการว่างจ้างรถโดยสารไม่ประจำทาง

ขณะที่ คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ระบุว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค โดยสภาผู้บริโภค พบว่า ปี 2565-2567 มีอุบัติเหตุทางถนน และความไม่ปลอดภัยกับรถรับส่งนักเรียนถึง 30 ครั้ง ขณะที่ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ปี 2567 เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนถึง 15 ครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 153 คน โดยสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ หรือผู้ขับรถ สภาพรถที่ไม่ปลอดภัย และขาดการจัดการที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากกรณีเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม ที่เกิดขึ้น เป็นรถโดยสารเช่าแบบไม่ประจำทาง ที่อาจเกิดการว่าจ้างโดยขาดขั้นตอนการจัดทำสัญญาที่มีมาตรฐานความปลอดภัย

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค

“ทุกโรงเรียนก่อนจะมีการว่าจ้างรถโดยสารเพื่อนำพานักเรียนไปนอกสถานที่ โรงเรียนควรจัดทำสัญญาจ้างเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางที่มีมาตรฐาน มีเงื่อนไขความปลอดภัยให้กับผู้ให้บริการต้องจัดให้มี เช่น ข้อมูลการตรวจสภาพรถ การประกันภัย ข้อมูลรถ-คนขับรถ ตลอดจนความรับผิดชอบของผู้ให้บริการนอกจากนี้ต้องมีการประเมินจำนวนนักเรียน และครูผู้ควบคุมรถว่าต้องใช้ครูจำนวนครูเท่าไหร่ถึงจะดูแลเด็กนักเรียนได้อย่างเหมาะสมทั่วถึง ครูจะต้องผ่านการฝึกกรณีเกิดเหตุฝึกฝน ในสถานการณ์ที่เด็กในสภาวะวิกฤตก็ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้”

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ

สภาผู้บริโภค จึงมีข้อเสนออย่างเร่งด่วน ดังนี้

  1. ทบทวนมาตรการการพาเด็กออกนอกพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีไปทัศนศึกษา ควรกำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมตามช่วงวัย

  2. ทบทวนการจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญาว่าจ้างรถโดยไม่ประจำทาง หากเกิดกรณีจำเป็น ต้องมีสัญญามาตรฐานที่มีองค์ประกอบความปลอดภัยและความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ รวมถึงมาตรการตรวจรถก่อนใช้ล่วงหน้าโดยโรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการคัดกรองผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งขอให้อุบัติเหตุอันตรายที่เกิดกับรถโดยสารนักเรียนเป็นครั้งสุดท้าย

คงศักดิ์ ยังระบุว่า ที่ผ่านมามูลนิธิผู้บริโภค ในฐานะหน่วยงานประจำกรุงเทพมหานคร สภาผู้บริโภค ได้จัดทำร่าง “หนังสือสัญญาจ้างรับขนคนโดยสาร” โดยมีเนื้อหาระบุถึง ข้อกำหนดมาตรฐานรถ ดังนี้

  • ผู้รับขนส่งต้องจัดหารถโดยสาร ที่มีอายุการใช้งานตามที่กำหนด นับแต่วันจดทะเบียนตามคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ มีอุปกรณ์ และส่วนควบที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัยครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง มีประตูฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ครบถ้วนสมบูรณ์

  • รถโดยสารผ่านการตรวจสภาพรถจากกรมการขนส่งทางบก

  • มีระบบกำหนดตำแหน่ง GPS เพื่อให้ผู้รับขนส่งตรวจสอบการเดินทาง และการใช้ความเร็วของพนักงานขับรถโดยสารได้ โดยผู้รับขนส่งต้องจัดหาพนักงานขับรถที่มีใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้องตรงตามประเภทของรถโดยสาร ที่ได้รับอนุญาตมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ใบอนุญาตไม่สิ้นอายุ พนักงานขับรถมีความสุภาพเรียบร้อย เคารพกฎจราจร ไม่ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ดื่มสุรา สูบบุหรี่ และไม่มีการใช้สารเสพติดใด ๆ มีความชำนาญเส้นทางตามแผนการเดินทาง

  • หากเดินทางในระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร ผู้รับขนส่งต้องจัดหาพนักงานขับรถ 2 คน เพื่อสลับเปลี่ยนพนักงานขับรถตามกฎหมาย และห้ามพนักงานขับรถคนเดียวติดต่อกันนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active