เตือนภัยใกล้ตัว ! สื่อแนวเปโด กระตุ้นพฤติกรรมล่วงละเมิดเยาวชน

‘นักกฎหมาย’ ห่วงสื่อแนวผู้ใหญ่ใคร่เด็ก ส่งผลกระทบสร้างฐานความคิด ค่านิยมสังคม เอื้อให้เด็กถูกล่อลวงมากขึ้น ‘นักเขียนออนไลน์’ ย้ำผู้ผลิตสื่อต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดียที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อผลกระทบของ สื่อแนวเปโด ทั้งการ์ตูน นิยาย ภาพยนตร์ ซีรีส์ ส่งผลกระทบต่อผู้รับสื่อ ที่อาจทำพฤติกรรมเลียนแบบ โดยเฉพาะผู้ชมวัยเด็กที่ยังไม่มีวิจารณญาณมากพออาจคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะสื่อแนวเปโดนั้นมักมีเนื้อหาการสร้างความสัมพันธ์กับเด็กที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในเชิงชู้สาว จนคนรุ่นใหม่เริ่มออกมาต่อต้านและผลักดันให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของสื่อแนวนี้

สิรินทิพย์ สมใจ ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิผู้หญิง กล่าวว่า สื่อแนวเปโดซึ่งมีเนื้อหาในลักษณะผู้ใหญ่เกิดความรักใคร่เด็กแบบเชิงชู้สาว ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งการสร้างฐานความคิด และค่านิยม เนื่องจากสื่อเป็นตัวชี้นำทางสังคม ผู้คนที่เสพสื่อมักจะเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อ ทำให้เยาวชนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ เด็กเล็ก ๆ ไม่ควรเห็นภาพการแสดงออกเชิงทางเพศในขณะที่เขายังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือเสี่ยงกับการถูกกระทำในเชิงทางเพศด้วยซ้ำ

“การครอบครองและการเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กในไทย ถูกกำหนดเป็นความผิดอาญาในไทย  สื่อแนวเปโดแม้ว่าจะเป็นสื่อที่ไม่มีเด็กจริง ๆ และใช้การสื่อถึงหรือจิตนาการถึงเด็กแทน  ก็ถือว่าเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ตามนิยามในกฎหมายของไทย เหมือนกัน”

สิรินทิพย์ กล่าวว่า อยากให้ผู้ผลิตสื่อตระหนักว่าสื่อที่เขาผลิตออกมานั้นจะชี้นำสังคมอย่างไร ถ้าผู้ผลิตอ้างว่าสิ่งนั้นคือจิตนาการก็อยากให้เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับผลกระทบและโทษของการกระทำที่ไป Grooming การล่อลวงเด็ก หรือการที่ผู้ใหญ่ไปชื่นชอบเด็กด้วย อาจช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ซึมซับสื่อ เรียนรู้ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร สื่อควรปรับตัวประเด็นนี้ ส่วนเรื่องจิตใจและฮอร์โมนของคนที่เป็น Pedophilia นั้นเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาจะมีความทรมานอย่างไร แต่ถ้าเขารู้ว่าเมื่อไปกระทำการล่วงละเมิดต่อเด็กจะต้องเจอกับความผิดทางกฎหมายอาญา ก็จะทำให้รู้ว่ามีมุมมืดเกี่ยวกับปัญหานี้ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันทั่วโลกมีรูปแบบอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ไม่เพียงแค่การกระทําชําเรา หรือการสัมผัสร่างกาย ทำอนาจารเด็ก แต่ยังมีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น การล่อลวงให้เด็กส่งภาพโป๊เปลือยให้ ซึ่งก็เป็นอาชญากรรมทางเพศรูปแบบหนึ่ง จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและศาลยุติธรรม ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีรูปแบบอาชญากรรมทางเพศในรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการล่อลวงผ่านออนไลน์

รทิมา (นามปากกา) นักเขียนนิยายออนไลน์ กล่าวว่า ถ้าเกิดผู้ผลิตสื่อไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรค Pedophilia หรือ โรคใคร่เด็ก จริง ๆ ก็อาจจะเข้าใจได้เพราะเรื่องนี้ไม่มีสอน ที่ผ่านมาสื่อก็นำเสนอเรื่องนี้ในมุมสวยงาม แล้วผู้ผลิตสื่อก็อาจเคยเสพสื่อเหล่านั้นมา ซึ่งการไม่รู้ไม่เป็นไร ถ้ายอมรับและแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด แต่ก็พบว่ามีผู้ผลิตสื่อบางคนที่ผู้คนตักเตือนแล้วแต่ก็ยังพยายามผลิตสื่อแนวนี้อยู่ อีกทั้งไม่ตระหนักว่าตนเองมีสื่ออยู่ในมือที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ซึ่งคือการขาดความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตสื่อ

“พอเราต้องสื่อสารออกไป เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนรับสารบ้าง ต่อให้จะมีการกำหนดอายุของผู้รับสาร มันไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าคนที่มีอายุเท่านี้จะมีวิจารณญาณอยู่ดี ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าเราจะทำอะไรก็ได้ โดยที่ไม่คำนึงว่าสิ่งที่เราเขียนขึ้นมามันถูกหรือผิด”

ด้าน นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรค Pedophilia ที่ตั้งใจอยากจะกระทำการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เพราะบางรายก็ทุกข์ทรมานกับอาการนี้ กลัวว่าตนเองจะไปทำอันตรายต่อเด็ก จึงต้องการรับการบำบัด สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือถ้ามองเพียงภายนอก เราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครมีอาการ Pedophilia แต่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมบางอย่าง เช่น มีการเข้าหาเด็กอย่างใกล้ชิดจนเกินไป มีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล มีความต้องการสัมผัสร่างกายเด็ก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active